วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > สกสว. พร้อมส่งมอบบันทึกถึงรัฐบาล ร่วมแก้วิกฤตภัยแล้ง-รับมือเอลนีโญ

สกสว. พร้อมส่งมอบบันทึกถึงรัฐบาล ร่วมแก้วิกฤตภัยแล้ง-รับมือเอลนีโญ

สกสว.พร้อมส่งมอบบันทึกข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและหน่วยงาน ร่วมกันหาทางออกในการแก้วิกฤตภัยแล้งเพื่อรับมือเอลนีโญอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมาย ‘ลดความเสี่ยง ลดความเสียหาย ยั่งยืนแบบยืดหยุ่น’

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างต้องเผชิญกับความท้าทายของภาวะโลกรวน อันเนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและต้นทุนการผลิต จึงนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

สกสว.ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงให้การสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะวิจัยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำความรู้มาทำงานร่วมกับหน่วยงานและพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปรับการทำงานของหน่วยงานควบคู่กับการยอมรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น

“เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมสู่การเสริมศักยภาพของหน่วยงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สกสว.จึงได้จัดทำบันทึกข้อเสนอแนะเรื่อง “การบริหารจัดการภัยแล้งเพื่อรับมือเอลนีโญ” ส่งมอบแก่รัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม เพื่อนำเสนอบทบาทของภาควิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤตภัยแล้งดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาระบบการจัดการน้ำที่ทันสมัยและยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สกสว.กล่าว

ด้าน รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ ระบุว่า การรับมือภัยแล้งตามภารกิจของหน่วยงานที่มีอยู่ยังมีช่องว่างในการดำเนินงาน การนำแนวคิด องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้สนับสนุนการวางแผนเพิ่มทางเลือกของทางออก พัฒนากำลังคนในระดับต่าง ๆ บูรณาการแผน และการดำเนินการด้วยแพลตฟอร์มของข้อมูลและความรู้ที่ต้องการแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องการการทดลองดำเนินงานทั้งลักษณะห้องปฏิบัติการ กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม และแซนด์บ็อกซ์ในโลกปัจจุบัน การดำเนินการในลักษณะนี้ไม่สามารถทำได้ตามภารกิจปกติ จำต้องสนับสนุนให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ด้านแนวคิด ทางเลือก แนวทางปฏิบัติ เพื่อการพัฒนา อนุรักษ์ และลดภัยพิบัติ ทดลองด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือใหม่ ๆ ที่พึงมี เพื่อใช้แก้ไข ปรับปรุงนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากนี้ไป
นอกจากมาตรการที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่แล้ว คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าควรปรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการจัดการความเสี่ยงเชิงระบบแทน โดยใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว ยกระดับแบบเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุน และควรมีมาตราการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานด้านเทคนิค

สำหรับทางออกของการบริหารจัดการภัยแล้งเพื่อรับมือเอลนีโญนั้น จะต้องปรับแนวคิดทั้งการทำแผนบูรณาการและการจัดการแบบบูรณาการ โดยตั้งเป้าหมาย ‘ลดความเสี่ยง ลดความเสียหาย ยั่งยืนแบบยืดหยุ่น’ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และจะต้องหาทางออกแบบบูรณาการทั้งมาตรการด้านโครงสร้าง มาตรการไม่ใช้โครงสร้าง และมาตรการการจัดการไปพร้อมกัน โดยงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำจะต้องรวมการวางแผนบนฐานของความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://anyflip.com/ntuxp/gcll/