วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > PR News > ยูนิโคล่ จับมือหน่วยงานกรุงเทพมหานคร เนรมิตพื้นที่กว่า 65 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าในเมือง

ยูนิโคล่ จับมือหน่วยงานกรุงเทพมหานคร เนรมิตพื้นที่กว่า 65 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าในเมือง

ยูนิโคล่ ประเทศไทย สนับสนุนโครงการสวนป่าในเมือง จับมือหน่วยงานกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เนรมิตพื้นที่กว่า 65 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าในเมือง ภายใต้โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นของผู้ว่าฯ กทม.

ยูนิโคล่ ประเทศไทย แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลก ตอกย้ำพันธกิจด้านความยั่งยืนของแบรนด์เสื้อผ้า พร้อมมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย ร่วมมือกับหน่วยงานกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ สนับสนุนโครงการสวนป่าในเมือง บนพื้นที่กว่า 65 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าในเมือง โดยเป็นหนึ่งในแผนงานของโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ตั้งเป้าไว้ด้วย โดยยูนิโคล่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเงินจำนวน 131,000 บาท ในการปลูกต้นไม้จำนวน 1,000 ต้น ทั้งนี้พนักงานยูนิโคล่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้ในโครงการสวนป่าในเมือง ณ วัดทองสุทธาราม เขตบางซื่อ ด้วยเช่นกัน

กิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ นอกจากที่พนักงานของยูนิโคล่จะได้ลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองแล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปสร้างความเข้าใจในกระบวนการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่า พร้อมติดแท็กชื่อที่กล้าไม้ที่ปลูก เพื่อการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะตัดกระดาษลังมาคลุมโคนกล้าไม้ที่ปลูก เพื่อเก็บความชื้นหน้าดิน และป้องกันไม่ให้หญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุมกล้าไม้ที่ปลูกด้วย เป็นการดูแลอย่างยั่งยืนเพื่อต้นไม้ใหญ่ในอนาคต

ยูนิโคล่ ยึดถือพันธกิจด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยมีนโยบายการใช้ซ้ำ (Reuse) และ การลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) ยูนิโคล่จึงสนับสนุนการนำถุงผ้าที่มีอยู่มาใช้ซ้ำที่ร้านยูนิโคล่แทนการซื้อถุงกระดาษใหม่ และยังได้จำหน่ายถุงกระดาษยูนิโคล่ ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลที่ผ่านการรับรองจาก FSC (Forest Stewardship Council) ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการจำหน่ายแบบไม่แสวงหาผลกำไร และรายได้ส่วนหนึ่งของการจำหน่ายถุงกระดาษ ยูนิโคล่ได้บริจาคให้กับองค์กรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยยูนิโคล่ ประเทศไทย ได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาทจากรายได้การจำหน่ายถุงกระดาษให้กับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และเพิ่มจำนวนต้นไม้ได้ถึง 5,960 ต้น ภายในปี 2566 – 2567