อุตสาหกรรมกระดาษยุคใหม่ฝ่าคลื่นดิจิทัล ชี้การปรับตัวเห็นผล สร้างการเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงานใหญ่ระดับภูมิภาค ASEAN Paper Bangkok 2023 ดึงผู้ประกอบการทั่วโลกร่วมงาน โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมกระดาษไทย
หลังจากได้รับแรงสั่นสะเทือนจากกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นมาร่วม 2 ทศวรรษ ทำให้ความต้องการใช้กระดาษลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิ่งพิมพ์ที่หายหน้าหายตาไปจากตลาดไปจำนวนไม่น้อย อุตสาหกรรมกระดาษไทยจึงมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จนกระทั่งล่าสุดสัญญาณธุรกิจเป็นไปในทางบวก มีความต้องการใช้กระดาษเพิ่มขึ้นและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาคการผลิตที่มีกระดาษเป็นส่วนประกอบ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการขนส่งและบรรจุภัณฑ์
ล่าสุดองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระดาษทั้งไทยและนานาชาติร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จัดงานใหญ่ระดับภูมิภาค ASEAN Paper Bangkok 2023 ดึงผู้ประกอบการทั่วโลกแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เจรจาการค้า พร้อมโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมกระดาษไทย ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีการผลิตกระดาษเพื่อความยั่งยืนและโซลูชั่นสำหรับธุรกิจในอนาคต
นายวัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษของไทยและต่างประเทศในปีนี้ว่า ยังเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เห็นได้จากปริมาณการใช้กระดาษของไทยในไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่แล้ว (2565) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ มีการเติบโตขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
โดยกลุ่มกระดาษที่นำมาทำบรรจุภัณฑ์ หรือ กระดาษคราฟท์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของการผลิต กว่า 80% มาจากวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลกระดาษปีละหลายล้านตัน ซึ่งผู้ผลิตกระดาษไทยหลายรายมีการใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลสูงกว่า 90% แต่ยังไม่เพียงพอจนต้องนำเข้าเศษกระดาษเพื่อรีไซเคิลสูงถึง 40%
ขณะที่กระดาษใช้แล้วของไทยได้รับคัดแยกเข้าระบบเพียง 60% ถ้ามีการปลูกฝังให้มีการแยกขยะได้ดียิ่งขึ้น ก็จะช่วยลดปริมาณขยะและนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมกระดาษควรได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ส่วนการใช้งานกระดาษนั้น ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจะใช้มากกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประเทศที่เจริญแล้วจะมีการใช้กระดาษมากกว่า 100 กิโลกรัม / คน / ปี ส่วนในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียมีการใช้กระดาษเกือบ 100 กิโลกรัม / คน / ปี แต่ในไทยมีการใช้งานกระดาษอยู่เพียง 75 กิโลกรัม / คน / ปี จึงยังมีช่องว่างในการพัฒนาตลาดอีกมาก และถือเป็นโชคดีที่ไทยมีการผลิตกระดาษที่ครบวงจร เพียงพอต่อการใช้งาน และการแข่งขันไม่สูง ทำให้ราคากระดาษภายในประเทศไม่สูงจนเกินไป
สำหรับงาน ASEAN Paper Bangkok 2023 ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นงานสำคัญของอุตสาหกรรมกระดาษโลก มีผู้ประกอบการบริษัทชั้นนำและผู้มีบทบาทสำคัญมาร่วมงานจำนวนมาก เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่จะได้พบกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เจรจาธุรกิจ และนำเสนอความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ และบริการแก่ลูกค้าที่มาร่วมงานด้วย
ซึ่งสมาคมฯ ได้สนับสนุนการจัดงานโดยเชิญสมาชิกสมาคมซึ่งมีกำลังการผลิตรวมแล้วกว่า 90% ของกำลังการผลิตกระดาษทั้งประเทศให้เข้าร่วมงาน รวมถึงทางสมาคมยังได้ร่วมออกบูทจัดแสดงงาน นำเสนอศักยภาพ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทยอีกด้วย
ด้านนายปณิธาน มีสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายส่วนภูมิภาค บริษัท วอยท์ เปเปอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมกระดาษระดับโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมกระดาษว่า วันนี้กระดาษเป็นคำตอบและทางออกของโลกในความต้องการลดการใช้พลาสติกลง เป็นอีกเหตุผลที่เสริมให้อุตสาหกรรมกระดาษมีการเติบโต สำหรับประเทศไทยแม้ตลาดจะมีความอิ่มตัว แต่ผู้ประกอบการไทยได้รุกอีกก้าวในการเข้าไปขยายธุรกิจและขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพสูงอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งนอกจากจะมีจำนวนประชากรมากแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าของประเทศที่เข้าไปลงทุนได้อีกด้วย
ดังนั้น งาน ASEAN Paper Bangkok 2023 จึงไม่ใช่แค่งานสำคัญของไทยหรือภูมิภาค แต่เป็นงานสำคัญระดับโลกที่คนในอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ เพราะอาเซียนเป็นแหล่งผลิตกระดาษอันดับต้นของโลก โดยมีไทยเป็นฮับ (Hub) หรือ ศูนย์กลางของภูมิภาคและอุตสาหกรรม ส่วนอีกกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน คือ การบรรยายในหัวข้อ “New standards in dewatering with FloWing disc filter” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตกระดาษ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ รวมถึงการลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
สำหรับการจัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2023 นั้น นายธัชพล วงษ์รักษา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า งานนี้เป็นการพัฒนาและขยายการจัดงาน Tissue & Paper Bangkok ที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา (2565) และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ในปีนี้มีการขยายพื้นที่การจัดงานให้ใหญ่ขึ้นอีก 30% เพื่อรองรับผู้ต้องการเข้าร่วมจัดแสดงงานและเยี่ยมชมงานที่มากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนชื่อการจัดงานเป็น ASEAN Paper Bangkok เพื่อให้ครอบคลุมทุกส่วนของอุตสาหกรรมกระดาษ พร้อมยกระดับการจัดงานให้เป็นงานสำคัญระดับภูมิภาค
โดยสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ คือ พื้นที่จัดแสดงงานในกลุ่มกระดาษลูกฟูกและกระดาษรีไซเคิล (Corrugated and Paper Recycling) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมและทิศทางการเติบโตของความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ จะมีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 200 ราย ซึ่งเป็นต่างชาติกว่า 80% และมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 3,000 ราย จาก 38 ประเทศทั่วโลก
สำหรับแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ คือ “เทคโนโลยีการผลิตกระดาษเพื่อความยั่งยืนและโซลูชั่นสำหรับธุรกิจของอนาคต” (Sustainable Paper Production Technology & Solution for Future Business) เนื่องจากอุตสาหกรรมกระดาษเป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก แม้สองทศวรรษที่ผ่านมามีความกังวลว่ากระดาษจะถูกลดความสำคัญลงจากกระแสดิจิทัล แต่จากการเติบโตและความต้องการกระดาษเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์และชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องเป็นข้อพิสูจน์ว่ากระดาษยังมีความสำคัญ โดยได้พัฒนาปรับตัวไปในหลายรูปแบบสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตใหม่ เทคโนโลยี และสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวคิดของการผลิตและการใช้งานของกระดาษยุคใหม่ นอกจากจะต้องตอบสนองในเชิญพาณิชย์แล้ว ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับงาน ASEAN Paper Bangkok 2023 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 ณ ฮอลล์ 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.aseanpaperbangkok.com