วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > New&Trend > สถาบันเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ดเผยเทรนด์การท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566

สถาบันเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ดเผยเทรนด์การท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566

สถาบันเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ดเผยเทรนด์การท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566 ชี้จีนเปิดประเทศ หนุนการท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง ดันการเดินทางเชิงธุรกิจกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รายงานล่าสุดโดยสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2566 ผู้บริโภคจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเดินทางพักผ่อนและมองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั่วโลก จากรายงาน Travel Industry Trends 2023 ยังเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์การเดินทางทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภค และการเปิดพรมแดนของประเทศจีน

เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาด เทรนด์การท่องเที่ยวก็เปลี่ยนแปลงไป พบว่านักท่องเที่ยวเลือกใช้จ่ายเงินไปกับการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนมากกว่าการซื้อสินค้า ในขณะเดียวกัน การเดินทางเชิงธุรกิจก็เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยเฉพาะในองค์กรที่จำเป็นต้องให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ จากรายงานยังชี้อีกว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบในหลายประเทศ ดังนั้นกลับมาเปิดประเทศของจีน จึงคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อมูลสำคัญจากรายงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

0 การท่องเที่ยวพักผ่อนและการเดินทางเชิงธุรกิจมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกัน หลังจากถูกระงับการเดินทางมาเป็นเวลายาวนานจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศในเอเชีย ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวพักผ่อนทั่วโลกจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีอัตราการจองเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้นราว 31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 นอกจากนี้ ยังพบว่าครึ่งหลังของปี 2565 ไปจนถึงช่วงต้นปี 2566 อัตราการจองเที่ยวบินขององค์กรมีการเติบโตเทียบเท่ากับการจองเที่ยวบินเพื่อการพักผ่อนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พนักงานกลับเข้ามาทำงานกันตามปกติมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวและการเดินทางเชิงธุรกิจทั่วโลกเริ่มมีอัตราการเติบโตเท่า ๆ กัน รายงานยังแสดงให้เห็นว่า ความต้องการในการจัดประชุมแบบพบหน้ากัน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเชิงพาณิชย์และความบันเทิงเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นำโดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่มสูงขึ้น 64% ตามมาด้วยยุโรปที่ 42% ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปี 2566

0 การเปิดประเทศของจีนส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวโลกและเอเชียแปซิฟิก การที่จีนเปิดพรมแดนอีกครั้งหลังจากการตรึงมาตรการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดที่เข้มงวดตลอดช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่ถูกระงับมาเป็นเวลานาน โดยในเดือนมีนาคมปี 2566 ยอดการใช้จ่ายการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึง 93% เมื่อเทียบกับปี 2562 ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเดินทางน้อยที่สุดในปีที่ผ่านมาก็ตาม ดังนั้น เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเปิดประเทศของจีน เพราะเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์กับประเทศอื่น ๆ ของโลก รายงานของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด ยังประมาณการณ์ว่า ประเทศที่จะได้ประโยชน์จากปัจจัยนี้มีทั้งโซนยุโรปเหนืออย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงบราซิล ซึ่งเห็นได้จากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

0 นักท่องเที่ยวออกท่องโลกไปยังสถานที่ใหม่ๆ ผู้บริโภคกำลังเพลิดเพลินไปกับรายได้ที่สูงขึ้นและการได้วิถีชีวิตแบบเดิมเหมือนก่อนการแพร่ระบาดกลับคืนมา ทำให้พวกเขาสามารถออกผจญภัยไปยังสถานที่ใหม่ ๆได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจากเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน นอกจากนี้เสน่ห์ที่โดดเด่นและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ซึ่งจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยตั้งแต่ปลายปี 2565 ฮ่องกงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยว โดยติดอันดับ 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมและสามารถทะยานขึ้นสู่อันดับ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

0 นักท่องเที่ยวยังต้องการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ นักท่องเที่ยวแสดงให้เห็นถึงความต้องการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์และความแปลกใหม่ และด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดียและสื่อบันเทิงทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพื่อดื่มด่ำประสบการณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 65% ในขณะที่การใช้จ่ายในสิ่งของเพิ่มขึ้นเพียง 12% เมื่อเทียบกับปี 2562 การใช้จ่ายเพื่อสัมผัสประสบการณ์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในจุดหมายบางแห่งที่ยกเลิกการล็อกดาวน์แล้ว อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ใช้จ่ายในสินค้าลักชัวรี่มีจำนวนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าเพิ่มขึ้นในตลาดทั่วโลก รายงานแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ต้องการกลับมาสัมผัสกับเสน่ห์ของประเทศไทยที่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายด้านประสบการณ์การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 40.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของเพิ่มขึ้น 24%

“ในปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวในเอเชียกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง จากการที่ประเทศจีนเปิดพรมแดน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีการผ่อนปรนมาตรการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ” นายเดวิด แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายกิจการเอเชีย สถาบันเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด กล่าว “ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญและเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น เพื่อสัมผัสประสบการณ์ อาจพุ่งทะยานสูงกว่าช่วง Revenge Travel หรือการเที่ยวเพื่อแก้แค้นหลังจากที่ไม่ได้ออกไปไหนมานานหลังจากการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงแรก และเมื่อเรามองไปถึงฤดูร้อนหรือฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ สิ่งหนึ่งที่เราควรจับตามองคืออุปทานเที่ยวบินและที่พักจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้หรือไม่”

การสนับสนุนที่ครบวงจรสำหรับนักเดินทางและอุตสาหกรรมการท่องที่ยว

นักเดินทางต่างต้องการประสบการณ์ที่น่าประทับใจตั้งแต่ขั้นตอนการจองเที่ยวบินไปจนถึงก้าวแรกยังจุดหมายปลายทาง บริษัทที่ตระหนักถึงเรื่องนี้จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่ารายอื่นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมอบคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค จุดเปลี่ยนที่สำคัญนี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงแนวทางการให้บริการแก่ลูกค้าของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังสร้างประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ให้แก่เราทุกคน และแม้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจก็ตาม หากมีการนำเสนอทางเลือกในการชำระเงินที่หลากหลายมากขึ้น (เช่น การนำคะแนนสะสมมาแลกเป็นการจองที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน) และการออกแบบการเดินทางและประสบการณ์จากข้อเสนอพิเศษ ก็ยังถือเป็นสองกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญในการกำหนดให้นักเดินทางเป็นศูนย์กลางของธุรกิจการท่องเที่ยว

มาสเตอร์การ์ดมุ่งมั่นฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมนำนักท่องที่ยวไปสัมผัสกับประสบการณ์และบริการที่น่าประทับใจมากมาย ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ทางการตลาดและข้อมูลเชิงลึกความถี่สูง ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดสามารถปรับตัวและออกแบบบริการให้สอดคล้องตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน ซึ่งจะนำมาสู่ความภักดีต่อแบรนด์สินค้าและบริการตลอดจนยอดขายที่เพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด

ดูข้อมูลรายงาน Travel Industry Trends 2023 ฉบับเต็มได้ ที่นี่ รวมถึงข้อมูลรายงานและข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ จากสถาบันเศรษฐศษสตร์มาสเตอร์การ์ด ที่นี่