Column: Women in Wonderland
ประเทศไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) เป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศนั้นประกอบไปด้วย อังกฤษ (England) สกอตแลนด์ (Scotland) และเวลส์ (Wales) เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือคือ เมืองเบลฟัสต์ (Belfast) และประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
การปกครองในไอร์แลนด์เหนือนั้นได้รับการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองและการบริหารในกิจการภายในของประเทศให้อยู่ในความรับผิดชอบของสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือจะได้รับการถ่ายโอนอำนาจมาจากรัฐบาลส่วนกลาง แต่รัฐบาลส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจเหนือสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ในการออกและผ่านกฎหมายต่างๆ สำหรับการปกครองภายในประเทศนั้น สภาแห่งไอร์แลนด์เหนือมีอำนาจเต็มที่ในการกำหนดและผลักดันนโยบายต่างๆ ในการบริหารประเทศไอร์แลนด์เหนือ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กฎหมายที่บังคับใช้ใน 4 ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรมีความแตกต่างกัน
กฎหมายที่จะพูดถึงในวันนี้คือ กฎหมายการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือ ในปัจจุบันไอร์แลนด์เหนือยังคงเป็นประเทศเดียวในสหราชอาณาจักรที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ นอกจากการตั้งครรภ์นั้นอาจจะทำให้ผู้ตั้งครรภ์เสียชีวิตลงได้ หรือในกรณีที่การตั้งครรภ์นี้จะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ตั้งครรภ์ในระยะยาวหรือตลอดไป ซึ่งในกรณีนี้ไม่รวมถึงการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน ในขณะที่อีกสามประเทศภายใต้สหราชอาณาจักรได้ผ่านกฎหมายให้มีการทำแท้งอย่างเสรีได้
The Abortion Act 1967 หรือกฎหมายการทำแท้งอย่างเสรี ได้มีการประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2511 แต่กฎหมายนี้ยกเว้นการบังคับใช้ในไอร์แลนด์เหนือ
The Abortion Act 1967 อนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองให้ทำแท้งได้ และจะทำแท้งให้ได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ต้องการทำแท้งตั้งครรภ์ไม่เกิน 28 สัปดาห์ ถ้าหากการตั้งครรภ์เกินระยะเวลานี้ไปแล้ว โรงพยาบาลไม่สามารถทำแท้งให้ได้
ต่อมาในปี 2533 ได้มีการแก้ไขให้สามารถทำแท้งได้เมื่อมีการตั้งครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์เท่านั้น หากมีการตั้งครรภ์เกินระยะเวลานี้ จะทำแท้งได้ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นี้จะส่งผลให้ผู้ตั้งครรภ์เสียชีวิตลงได้ และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รัฐสภาของสหราชอาณาจักรได้มีการถกเถียงกันว่าจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ถ้ามีการตั้งครรภ์ไม่เกิน 22 หรือ 20 สัปดาห์ แต่รัฐสภาก็ยังไม่ตัดสินใจที่จะแก้ไขกฎหมายการทำแท้งนี้
กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเหมือนกับกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่ใช้มาในอดีต ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ The Abortion Act 1986 ในปี 2511 ซึ่งประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือรู้สึกว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ล้าหลังไปแล้ว และควรมีการปรับปรุงแก้ไข อย่างน้อยที่สุดกฎหมายก็ควรอนุญาตให้ทำแท้งได้ ถ้าหากการตั้งครรภ์นี้เกิดจากการถูกข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และการที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไอร์แลนด์เหนือได้เข้าฟังคำตัดสินจากศาลสูงสุดที่เมืองเบลฟัสต์ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งให้อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายใน 3 กรณีคือ การตั้งครรภ์ที่เกิดจาก (1) การข่มขืน (2) การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่มีสายเลือดเดียวกัน และ (3) การที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางร่างกาย
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไอร์แลนด์เหนือได้พูดถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้ว่า เรื่องการอนุญาตให้ทำแท้งได้ใน 3 กรณีนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทุกประเทศในทวีปยุโรปอนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นใน 3 กรณีนี้ ถึงแม้ว่าไอร์แลนด์ ซานมาริโน (San Marino) มอลตา (Malta) และอันดอร์รา (Andorra) จะไม่มีการอนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างเสรีภายในประเทศ แต่ทั้ง 4 ประเทศนี้ก็อนุญาตให้มีการทำแท้งได้หากการตั้งครรภ์เกิดขึ้นใน 3 กรณีที่กล่าวไว้ข้างต้น
นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไอร์แลนด์เหนือยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือนั้นขัดต่อข้อ 3 ของ The European Convention of Human Rights ที่ระบุว่า รัฐจะต้องไม่ทำการใดๆ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกทรมานและทารุณในการทำการรักษาต่างๆ หรือในเวลาที่ถูกลงโทษ การที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ใน 3 กรณีข้างต้นนั้น ทำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์รู้สึกเหมือนถูกทรมาน
หลังจากที่ศาลสูงสุดได้พิจารณาคำฟ้องร้องในครั้งนี้แล้วก็ได้มีการตกลงที่จะเสนอแนะให้สภาแห่งไอร์แลนด์เหนืออนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้องในกรณีเดียวจาก 3 กรณีคือ การที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ
และเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้หญิงชาวไอร์แลนด์เหนือมากกว่า 200 คน ได้ลงชื่อและเรียกร้องให้จับพวกเธอทั้ง 200 คนที่ใช้ยาในการทำแท้งหรือจัดหายาสำหรับการทำแท้งเพื่อคนอื่น ซึ่งยานี้ถือว่าเป็นยาที่ผิดกฎหมายในไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากมีคุณแม่คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่เมืองเบลฟัสต์ถูกดำเนินคดีจากการที่เธอได้นำยาสำหรับทำแท้งไปให้ลูกสาวของเธอใช้
ผู้หญิงชาวไอร์แลนด์เหนือจำนวนมากมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า พวกเธอเข้าใจดีว่าการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในประเทศนี้ แต่พวกเธอไม่เห็นด้วยที่รัฐสภาทำเหมือนกับว่าร่างกายของผู้หญิงในประเทศนี้เป็นของเล่นของผู้บริหารประเทศที่ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ชาย และไม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงต้องตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน
นอกจากนี้องค์กร Amnesty International ยังได้รายงานเกี่ยวกับการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือว่า กฎหมายการทำแท้งในประเทศนี้เข้มงวดจนเกินไป จนทำให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเรือเลี้ยงเด็ก หรือเครื่องฟักไข่ ที่มีหน้าที่เพียงแค่ตั้งครรภ์เท่านั้น โดยที่พวกเธอไม่สามารถเลือกได้ว่าพวกเธอต้องการตั้งครรภ์หรือไม่
ด้านองค์การสหประชาชาติก็ได้มีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติมีความเห็นว่า กฎหมายการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือนั้นถือว่าเป็นกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก และการที่กฎหมายมีความเข้มงวดมากนี้ ทำให้มีผู้หญิงจำนวนมากตัดสินใจเดินทางไปทำแท้งที่อังกฤษ เพราะสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย
แต่ข้อเสียของการไปทำแท้งที่อังกฤษคือ มีค่าใช้จ่ายสูง ถึงแม้ว่าไอร์แลนด์เหนือและอังกฤษจะอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร แต่ชาวไอร์แลนด์เหนือนั้นไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพในอังกฤษสำหรับการทำแท้งได้ นอกจากนี้การที่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องเดินทางไกลก็อาจจะเป็นอันตรายได้ จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า มีผู้หญิงมากกว่า 2,000 คนต่อปี ที่เดินทางจากไอร์แลนด์เหนือไปอังกฤษเพื่อทำแท้ง
ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อไปทำแท้งที่ประเทศอังกฤษได้นั้นจะหาซื้อยาทำแท้งจากอินเทอร์เน็ต เพื่อทำแท้งด้วยตัวเอง ซึ่งยาเหล่านี้ถือเป็นยาที่ผิดกฎหมาย ผู้ที่มียานี้ในครอบครองหรือจัดหายามาให้ผู้อื่น จะต้องรับโทษตามกฎหมาย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ที่ไอร์แลนด์เหนือยังคงมีผู้หญิงหลายคนถูกดำเนินคดีเพราะไปทำแท้งที่อังกฤษ
องค์การสหประชาชาติมองเรื่องการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือนั้น แทบไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขให้กฎหมายทันสมัยยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเมื่อเดือนมิถุนายน ศาลสูงสุดจะมีการตัดสินว่าจะนำเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถทำแท้งได้หากทารกในครรภ์มีความผิดปกติ แต่ศาลสูงสุดกลับยืนยันไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ ถ้าหากการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจากการถูกข่มขืน ซึ่งองค์การสหประชาชาติมองว่า การทำแท้งเพราะถูกข่มขืนนั้นเป็นเรื่องปกติที่ประเทศส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ทำได้ เพราะผู้หญิงที่ถูกข่มขืนก็มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว หากต้องมาตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ และไม่สามารถทำแท้งได้ คงเป็นเหมือนฝันร้ายของผู้หญิงคนนั้นไปตลอดชีวิต ที่ต้องเลี้ยงลูกที่เกิดจากการถูกข่มขืน จึงเป็นเหมือนการเดินถอยหลังของประเทศนี้
เรื่องการทำแท้งในไอร์แลนด์เหนือต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ หลังจากที่ถูกกดดันทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้มีการแก้ไขกฎหมายการทำแท้งให้สามารถทำแท้งได้ในกรณีที่ถูกข่มขืน และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่มีสายเลือดเดียวกัน