วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > New&Trend > เจาะเบื้องหลังการขยายธุรกิจไฟฟ้าของ “BPP” ในต่างแดน กุญแจสำคัญเพื่อเร่งสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง

เจาะเบื้องหลังการขยายธุรกิจไฟฟ้าของ “BPP” ในต่างแดน กุญแจสำคัญเพื่อเร่งสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง

การมีความมั่นคงด้านพลังงานคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล มีความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียน ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งการขยายธุรกิจในต่างแดนนี้เอง คือจุดสำคัญที่ทำให้ BPP เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามกลยุทธ์ Greener & Smarter พร้อมสู่การขยายกำลังผลิตให้ได้ 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

“ความพร้อมของ BPP ทั้งในด้านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และการมีระบบนิเวศของ BPP (BPP Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง เป็นแต้มต่อที่ช่วยให้การขยายตลาดในต่างประเทศเป็นไปได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ปัจจัยในด้านแนวโน้มด้านพลังงาน ความพร้อมของตลาด นโยบาย และกฎเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ BPP นำมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน” กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BPP เล่าแนวคิดการขยายธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศที่เป็นกำลังการผลิตส่วนใหญ่ของ BPP ในปัจจุบัน

กว่า 30 ปีที่ BPP ขยายการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง อย่างในประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คนสำคัญที่ทำให้การจับคู่กันระหว่างเป้าหมายของ BPP ในการเติบโตด้านกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพ และความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าในแต่ละประเทศนั้น ๆ สามารถมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว ก็คือเหล่าคีย์แมนผู้เป็นนักพัฒนาธุรกิจของ BPP ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน จนสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ BPP เติบโตได้อย่างสม่ำเสมอและมั่นคง

สหรัฐอเมริกา…ดินแดนศักยภาพของธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนเป็นธุรกิจสำคัญที่ทำให้ BPP เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และมีกระแสเงินสดที่มั่นคง ทั้งยังสามารถส่งมอบพลังงานไฟฟ้าให้ผู้ใช้ได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวการณ์ใด พัฒนาศักดิ์ นักสอน ผู้เสาะแสวงหาโอกาสการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา มองว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีศักยภาพสูงมากสำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ HELE (High-Efficiency, Low-Emissions) ทั้งด้วยความใหญ่ของตลาดและขนาดพื้นที่ ภูมิประเทศที่เหมาะสม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างแหล่งก๊าซธรรมชาติ

และที่สำคัญ สหรัฐฯ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี HELE ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP ยกตัวอย่างเช่นการค้นพบเทคโนโลยี horizontal drilling หรือการเจาะในแนวนอน ที่ทำให้การเจาะผิวดินสามารถผลิตก๊าซได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติเข้ามามีบทบาทเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศและเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานที่มีความยั่งยืน เพราะการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่มีประสิทธิภาพและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส หนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่สำคัญของ BPP ก็ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ผสมผสานกระบวนการทำงานของ Gas Turbine (กังหันก๊าซ) กับ Steam Turbine (กังหันไอน้ำ) ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Temple I CCGT Power Plant, US

“จุดเด่นในด้านการลงทุนของ BPP คือ เราเน้นการลงทุนในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่การต่อยอดการมีแหล่งพลังงานในสหรัฐฯ ของบ้านปู จนมาเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส และตอนนี้ ด้วยการที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดไฟฟ้าเสรี (Merchant Market) เราจึงได้ขยายไปยังธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลางและธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Energy Trading and Retail Electricity) เพื่อเสริมแกร่งทั้งความเชี่ยวชาญของ BPP และสร้างมูลค่าสูงสุดจากการลงทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการดำเนินธุรกิจ” พัฒนาศักดิ์กล่าวเสริม

เวียดนาม – สหรัฐอเมริกา…ดาวรุ่งแห่งพลังงานหมุนเวียน

ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่จะช่วยเสริมให้พอร์ตของ BPP มีความ Greener & Smarter มากขึ้น ธีรกุล ดักขุนทด ผู้ดูแลการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งปันข้อมูลจากประสบการณ์การพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในตลาดเวียดนามและสหรัฐฯ

“BPP เริ่มเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2562 โดยเป็นโรงไฟฟ้าจากทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม คือ เป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวเรื่อย ๆ ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงมากขึ้นตาม ประกอบกับสภาพทางภูมิศาสตร์ในแทบทุกภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์” ธีรกุลเผย

นอกจากนี้ เวียดนามยังประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 ทำให้ต้องปรับโครงสร้างแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้สอดรับกับแผนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy จึงเป็นทิศทางพลังงานที่เปิดโอกาสให้ BPP ซึ่งหมายรวมถึงทีมงานนักพัฒนาธุรกิจอย่างธีรกุล ยังคงเสาะแสวงหาการลงทุนที่เหมาะสมต่อไปในเวียดนาม เพื่อการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมายของบริษัทฯ ภายในปี 2568

โรงไฟฟ้าในเวียดนาม

สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ซึ่งด้วยศักยภาพของสหรัฐฯ นับว่ามีอย่างมากมายจากความเหมาะสมของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความพร้อมของผู้ใช้ไฟ ธีรกุลเล่าต่อว่า การลงทุนของ BPP จะไม่ได้พิจารณาแค่ตัวสินทรัพย์ในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังพิจารณาถึงการผสานพลังภายในระบบนิเวศของ BPP (Synergy in BPP Ecosystem) ด้วย เช่น การมองไกลถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะนำเอาแบตเตอรี่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้า เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือไปจากการต่อยอด Value Chain ไปยังธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าและธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า

ญี่ปุ่น…ดินแดนแห่งโอกาสของพลังงานสะอาด

“ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าบรรลุ Net Zero และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2593 รัฐบาลจึงกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากราว 20% ในปัจจุบัน เป็น 36-38% ภายในปี 2573 หมายความว่า BPP จะมีโอกาสอีกมากในการขยายการเติบโตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก” นิติ พิทักษ์ธีระธรรม ผู้ดูแลการขยายธุรกิจในญี่ปุ่นที่เน้นพลังงานหมุนเวียน และเป็นคีย์แมนที่คลุกคลีในตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเริ่ม แสดงความมั่นใจถึงเส้นทางในอนาคตที่สดใสของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในประเทศนี้

ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 20 โครงการในญี่ปุ่น โดยมีกำลังผลิตรวม 244 เมกะวัตต์ คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของกำลังผลิตไฟฟ้าของ BPP ในญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าแบบระยะยาว (feed-in tariff :FiT) ทำให้สามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีเป็นระยะเวลานานจนกว่าจะหมดสัญญา

การขยายตัวของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นเกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่มีมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้า การกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทั้งส่วนลดภาษีนิติบุคคล การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุสัญญา และการอนุญาตให้ซื้อขายที่ดินทางการเกษตรเพื่อมาแปลงเป็นโซลาร์ฟาร์ม กอปรกับความต้องการของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องการพลังงานที่สะอาดขึ้น

Shirakawa Power Plant, Japan

สำหรับจุดเด่นของ BPP ในญี่ปุ่น นิติมองว่า BPP เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่เสาะหาโครงการ เริ่มต้นการก่อสร้าง รวมถึงขายไฟฟ้า (Energy trading) และมีพอร์ตพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ BPP จึงมีความสามารถในการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้มากมาย โดยทีมงานของ BPP จะคำนึงถึงการวางแผนและควบคุมปัจจัยความสำเร็จของการทำโครงการ (Time, Cost, Quality) อยู่ตลอดเวลา เพื่อยับยั้งอุปสรรคให้เกิดน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ สร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ นอกจากนี้ BPP ยังมีโอกาสจากตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากการที่เป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดที่ได้รับหนังสือรับรอง (green certificate) และได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย

“BPP ยังคงเน้นการสร้างความเติบโตในพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม สปป.ลาว ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา ที่เรามีธุรกิจอยู่ ผมมั่นใจว่า ด้วยทีมงานที่มากประสบการณ์และมีทัศนคติแบบสากล (Global Mindset) พร้อมรับมือกับความท้าทายรอบด้าน จะช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจและเสริมพอร์ตของ BPP ให้แข็งแกร่ง และในที่สุด จะทำให้ BPP สามารถสร้างคุณค่าและผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม พร้อมขยายเมกะวัตต์คุณภาพอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายที่วางไว้” กิรณ หัวเรือใหญ่แห่ง BPP กล่าวสรุป