Column: AYUBOWAN
หาก Arthur C.Clarke ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่ แห่งโลกวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ (science fiction) ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ภาพและแผนของโครงการลงทุนและพัฒนาที่ Trincomalee อาจบันดาลใจหรือกระตุ้นให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่ที่น่าติดตามไม่น้อยเลย
เพราะพลันที่รัฐบาลของ Mahinda Rajapaksa ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) อย่างรุนแรง จนได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพร้อมกับประกาศสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ทศวรรษ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็พร้อมจะหลั่งไหลเข้าสู่ Trincomalee ยิ่งกว่ากระแสคลื่นลมเหนือเวิ้งอ่าวแห่งนี้เสียอีก
ด้วยความได้เปรียบในทำเลที่ตั้งซึ่งทำให้ Trincomalee เป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยผลของสงครามและความขัดแย้งที่ทำให้แม้ท่าเรือ Trincomalee จะไม่ได้ถูกทิ้งร้าง แต่ก็ไม่ได้พัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มานานกว่า 4 ทศวรรษ ภายใต้เหตุผลทางการเมืองและความมั่นคงภายใน
ความพยายามที่จะพัฒนาหรือขยายฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศซึ่งเป็นมรดกจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่อังกฤษได้ส่งผ่านมาให้ และกระทรวงกลาโหมของศรีลังกายังคงใช้เป็นฐานทัพเรือหลักและฐานทัพอากาศอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติและท่าเรือน้ำลึกสำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อมุ่งหน้าสู่อินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะจากอินเดีย ที่กำลังรักษาบทบาทและสถานะการนำในภูมิภาค
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือท่าเรือที่ Trincomalee มีขนาดและอาณาบริเวณกว้างใหญ่ถึงกว่า 2,000 เฮกตาร์ ในขณะที่ท่าเรือ Colombo มีขนาดประมาณ 200 เฮกตาร์ หรือต่างกันประมาณ 10 เท่า แต่ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกากลับให้ความสนใจพัฒนาท่าเรือโคลัมโบ และท่าเรือ Hambantota และท่าอากาศยาน Mattala ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และเป็นฐานเสียงของรัฐบาลแทน
แต่การพัฒนา Trincomalee ครั้งใหม่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนาท่าเรือเท่านั้น หากแต่ยังผูกพันกับข้อเท็จจริงทางยุทธศาสตร์และเส้นทางคมนาคมของการขนส่งสินค้า (logistics) ที่กำลังเป็นประเด็นในระดับนานาชาติอีกด้วย
ประเด็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษอยู่ที่อินเดียพยายามแสวงหาแหล่งพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติในรูปของ LNG (Liquefied Natural Gas) จากอิหร่าน ซึ่งต้องขนส่งทางท่อผ่านปากีสถาน ซึ่งย่อมไม่น่าจะอภิรมย์นักสำหรับประเทศผู้รับอย่างอินเดีย ด้วยเหตุผลหลักที่ว่าประเด็นว่าด้วยอิหร่านอาจถูกแทรกแซงให้ต้องระงับการส่งออกเมื่อใดก็ได้ ขณะที่ปัจจัยว่าด้วยปากีสถานก็ไม่ได้ทำให้อินเดียสบายใจได้มากนัก ส่วนการขนส่ง LNG ทางท่อจากแหล่งก๊าซในเมียนมาผ่านบังกลาเทศด้วยระยะทางรวมกว่า 900 กิโลเมตรก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
ศรีลังกาพยายามเบียดแทรกช่องว่างดังกล่าวด้วยแนวความคิดที่จะสร้างคลัง LNG ที่ Trincomalee ก่อนที่จะขนส่งต่อทางท่อด้วยระยะทางไม่ถึง 250 กิโลเมตรเข้าสู่อินเดีย นอกจากจะเป็นการช่วยอินเดียตอบโจทย์ด้านพลังงานแล้ว LNG terminal ที่ Trincomalee ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานให้กับศรีลังกา ซึ่งติดตามมาด้วยโรงไฟฟ้าจาก LNG แทนที่จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีภาพลักษณ์ด้านลบกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศรีลังกาจะร่วมลงนามในความร่วมมือกับรัฐบาลอินเดียในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในโครงการ Sampur Power Station ขนาด 500 เมกะวัตต์ที่ Trincomalee ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของศรีลังกา ก็ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใน Trincomalee มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยเช่นกัน
การแข่งขันและช่วงชิงบทบาทนำในการลงทุนที่ Trincomalee ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกรณีของอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดและจีนซึ่งกำลังขยายอิทธิพลครอบงำศรีลังกาเท่านั้น หากแต่ยังมีญี่ปุ่นซึ่งพยายามกลับเข้ามามีบทบาทในศรีลังกาอีกครั้ง ซุ่มรอคอยจังหวะและรักษาดุลยอำนาจในภูมิภาคอยู่ไม่ห่าง
โดยในการเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของ Shinzo Abe ผู้นำญี่ปุ่น เมื่อต้นปี 2014 ที่ผ่านมา มีรายงานระบุถึงความร่วมมืออินเดีย-ญี่ปุ่น ในการร่วมพัฒนาและลงทุนในโครงการด้านพลังงานที่ Trincomalee และพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่าง Trincomalee มายังอินเดียด้วย
นอกจากนี้ Shinzo Abe ยังเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกในรอบ 24 ปีที่เดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกันยายน 2014 พร้อมกับออกแถลงการณ์ร่วมกับ Mahinda Rajapaksa ผู้นำศรีลังกาในขณะนั้นถึงความร่วมมือในการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมอื่นๆ จากญี่ปุ่นใน Trincomalee ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อีกทางหนึ่ง
กรณีว่าด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน Sampur นับเป็นประเด็นที่มีความแหลมคมทางการเมืองของศรีลังกาอยู่ไม่น้อย เพราะโครงการดังกล่าวเกี่ยวพันกับโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษ ที่จะดำเนินการโดยอินเดียและต่อเนื่องไปถึงชาวทมิฬพลัดถิ่น (internally displaced persons’: IDPs) ในช่วงสงครามกลางเมือง รวมทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงนักการเมืองอินเดียในรัฐทมิฬนาฑู (Tamilnadu) ที่มีปมประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับ Trincomalee อย่างยากจะลบเลือน
ความคาดหวังของเจ้าหน้าที่รัฐศรีลังกาบางส่วน ในการได้ญี่ปุ่นเข้ามาเสริมหรือแม้กระทั่งแทนที่อินเดียในอภิมหาโครงการดังกล่าวอาจทำให้ความร้อนแรงทางการเมืองในประเด็นที่ว่านี้ลดทอนลงได้ และดูเหมือนว่าญี่ปุ่นก็พร้อมจะแทรกตัวเข้ามาในบริบทนี้ไม่น้อย
ความพยายามพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจใน Trincomalee อย่างรอบด้าน ยังทำให้คลังเก็บน้ำมันซึ่งเป็นอีกมรดกหนึ่งจากการตั้งฐานทัพอังกฤษใน Trincomalee กำลังจะถูกปัดฝุ่นให้ได้กลับมาใช้ประโยชน์ โดยปัจจุบันคลังน้ำมันบางส่วนมี IOC หรือ Indian Oil Corporation วิสาหกิจของรัฐบาลอินเดีย ผู้ให้บริการด้านพลังงาน 1 ใน 2 รายของศรีลังกาเช่าใช้ประโยชน์อยู่แล้ว (อีกรายหนึ่งคือ CEYPETCO: Ceylon Petroleum Corporation ซึ่งมีสถานะเป็นวิสาหกิจของรัฐศรีลังกา)
แต่สิ่งที่รัฐบาลศรีลังกาประเมินกว้างไกลเกินไปกว่านั้น เพราะประเด็นว่าด้วยพลังงานมีความอ่อนไหวและแหลมคมอย่างยิ่ง นอกจากศรีลังกาต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานอย่างหนักแล้ว ความพยายามที่จะสร้างหลักประกันในระยะยาวก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ศรีลังกาให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ความอ่อนไหวของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้ทั้งประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าน้ำมันจำนวนไม่น้อยพยายามแสวงหาพื้นที่เพื่อสร้างคลังเก็บสำรองน้ำมัน ซึ่งในแผนพัฒนา Trincomalee ได้บรรจุโครงการสร้างโรงกลั่นและเก็บสำรองน้ำมันไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วยหวังว่าจะสามารถเก็บเกี่ยว petro-dollars และกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ไปพร้อมกัน
แม้ Arthur C.Clarke จะรังสรรค์ 2001: A Space Odyssey (1968) ก่อนจะติดตามมาด้วย 2010: Odyssey Two (1982) 2061: Odyssey Three (1987) และปิดฉากการเดินทางด้วย 3001: The Final Odyssey (1997) แต่ความเป็นไปที่กำลังดำเนินอยู่ใน Trincomalee อาจเป็นวัตถุดิบชิ้นใหม่ที่ทำให้เขาได้เดินทางล่องลอยไปในที่ว่างแห่งความจำเริญที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า
หรือบางทีอาจเขาอาจจะถ่ายทอดประสบการณ์จากการเฝ้ามองปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงใน Trincomalee ออกมาเป็นภาคต่อเนื่องในลักษณะของ The View from Serendip (1977) ที่คงเป็นการประเมินอนาคตของศรีลังกาและ Trincomalee ที่เป็นประหนึ่ง Profile of the Future ได้อย่างแยบคายและคงมีคุณค่าไม่น้อยนะคะ
เครดิตภาพ
http://wiki-turizm.ru/