เจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจนตั้งแต่เปิดตัวบิ๊กโปรเจ็กต์ “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์” ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายใน 10 ปี โดยเร่งสร้างและขยายแบรนด์ค้าปลีกในอาณาจักร เพื่อผุดสาขาทั้งในไทยและบุกทุกประเทศของภูมิภาค แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เจริญต้องปรับกระบวนทัพหลายรอบและดูเหมือนว่า ปี 2558 จะเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปิดศึกค้าปลีกระลอกใหม่อย่างเต็มรูปแบบ
จากเดิม “ทีซีซีแลนด์” ที่มีวัลลภา และโสมพัฒน์ ไตรโสรัส เป็นผู้กุมบังเหียนหลักและแบ่งแยกทีมดูแลแบรนด์ค้าปลีกแต่ละแบรนด์ เจริญสั่งปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มรีเทล โดยจัดตั้งบริษัทลูก ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิลด์ รวมการบริหารงานกลุ่มค้าปลีกทุกแบรนด์และอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารของทีซีซีแลนด์
ประกอบด้วย 1. เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ 2. เกตเวย์ เอกมัย 3. เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ 4. พันธุ์ทิพย์ ซึ่งล่าสุดมี 3 สาขาที่ประตูน้ำ งามวงศ์วาน และบางกะปิ 5. บ็อกซ์สเปซ แหล่งแฮงก์เอาต์กลางคืน และ 6.โอพีเพลส ศูนย์การค้าที่เน้นประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของพื้นที่ ปัจจุบันมี 2 แห่งที่ จ. เชียงใหม่และย่านถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ เจริญเตรียมหยิบที่ดินกว่า 16 ไร่ บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเคยเป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ปรับโฉมเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้แบรนด์ “เดอะ สตรีท” โดยตั้งบริษัทลูก “วาไรตี้ แอสเซ็ท 5” และดึง วรวรรต ศรีสอ้าน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้บริหารโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท
สำหรับเดอะ สตรีท มีแม็กเน็ตหลัก ได้แก่ ฟู้ดแลนด์ ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเปิด 24 ชั่วโมง ร้านอาหาร ร้านกาแฟและร้านค้าต่างๆ เพื่อรับกับวิถีชีวิตของผู้คนบนถนนรัชดาภิเษก
ขณะเดียวกัน เร่งขยายกลุ่มรีเทลเซกเมนต์อื่น โดยจัดตั้งบริษัท ทีซีซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด (TCCLW) เปิดให้บริการร้านค้าปลีกและค้าส่งภายใต้ชื่อ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต (MM Mega Market) เริ่มสาขาแรกในศูนย์การค้าอัศวรรณ ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ จ.หนองคาย และตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 15 แห่ง ภายใน 5 ปี เน้นหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดแนวชายแดนและกรุงเทพฯ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น จังหวัดใกล้เคียงและลูกค้าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า
ต้องบอกว่า เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต เป็นการผสมผสานแนวคิดระหว่างการชำระเงินสดและบริการตัวเอง (Cash & Carry) และบริการแบบวันสต็อปช้อปปิ้งของร้านค้าปลีกและมอลล์ (Retails & Mall) พื้นที่ 17,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย แผนกอาหารสด แผนกเบเกอรี่ แผนกของแห้ง เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และแผนกขายส่ง ซึ่งถือเป็นจุดขายและแตกต่างจากคู่แข่ง
ขณะที่ร้านสินค้าสุขภาพและความงาม ”โอเกนกิ” ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ลูกเขยอีกคนของเจริญ แม้ยังอยู่ในขั้นทดลองตลาด เพื่อสรุปจุดเหมาะสมที่สุด แต่อัศวินตั้งเป้าจะผุดร้านโอเกนกิในทำเลใจกลางเมือง ย่านธุรกิจ และศูนย์การค้า ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรีเทลของทีซีซีแลนด์ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่เจริญหมายมั่นปั้นให้เป็นแกนหลักของอาณาจักรและมีการปรับกลยุทธ์ แก้จุดอ่อน เปลี่ยนโพสิชั่นนิ่ง อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวางแผนงานลงทุน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 เม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท มีทั้งการลงทุนโครงการรีเทลและโครงการมิกซ์ยูส มีทั้งรีเทลและโรงแรม
แผนดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 บริษัทรีโนเวตและปรับคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้า “ดิจิตอลเกตเวย์” เป็น “เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์” เปลี่ยนจากศูนย์การค้าด้านเทคโนโลยีเป็นศูนย์การค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ตามกระแสและกลุ่มเป้าหมายย่านสยามสแควร์ โดยเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ตามด้วยการปรับโฉม “เกตเวย์ เอกมัย” ซึ่งเดิมวางรูปแบบสไตล์ห้างญี่ปุ่น 100% แต่ช่วงกว่า 2 ปี เกตเวย์เอกมัยไม่สามารถดึงลูกค้าชาวญี่ปุ่นหรือสร้างกระแส Japanese เหนือ “Japanese Town” ย่านสุขุมวิท 33 และทองหล่อ ซึ่งถือเป็นแหล่งพำนักที่ใหญ่ที่สุดของชาวญี่ปุ่น จนต้องเพิ่มคอนเซ็ปต์ “คอมมูนิตี้ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์” สไตล์เออร์เบิ้น จับกลุ่มคนเมืองหลากหลายมากขึ้น โดยเสริมแม็กเน็ตใหม่ ทั้งเมืองหิมะ Snow Town Bangkok จากผู้ร่วมทุนประเทศญี่ปุ่นและ “Flight Experience” ศูนย์จำลองการบิน เพื่อผลักดันยอดผู้ใช้บริการ
หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี ทีซีซีแลนด์จะเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์สไตล์แฮงก์เอาต์ ดื่ม กิน เที่ยว “บ็อกซ์ สเปซ รัชโยธิน” ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นตัวสื่อคอนเซ็ปต์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนปี 2559 เตรียมปรับปรุงพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า สาขาบางกะปิและสาขางามวงศ์วาน ซึ่งเป็นแผนรีโนเวตต่อเนื่องจาก “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” จากศูนย์การค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถือเป็นศูนย์เทคโนโลยีระดับสูง
ในปีเดียวกัน เริ่มก่อสร้างโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เฟส 2 และโครงการเอเชีย ทีค ไพร์ม พัทยา รวมทั้งขยายโครงการค้าปลีกแบรนด์ “เกตเวย์” อีก 1 แห่ง ในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ติดแนวเส้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งยังไม่มียักษ์ค้าปลีกเข้าไปจับจองพื้นที่
ปี 2560 ผุดโครงการเอเชีย ทีค ไพร์ม หัวหิน บนที่ดินติดกับโรงแรมแมริออท หัวหิน จำนวน 15 ไร่ และโครงการบ็อกซ์ สเปซ สาขา 2 ย่านสรรพาวุธ ขณะที่ปี 2561 ก่อสร้างโครงการเอเชีย ทีค เชียงใหม่ เนื้อที่ 20 ไร่ โดยแบรนด์ “เอเชียทีค” จะมีโรงแรมควบคู่กันทุกแห่ง
ล่าสุด วัลลภา ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีซีซีแลนด์ เร่งเดินหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์ย่านเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ ซึ่งเป็นมาสเตอร์แพลนที่วางไว้นานหลายปีแต่ต้องชะลอไว้ก่อน เพราะเจอมรสุมเศรษฐกิจและเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยต้องการสร้าง “ครีเอทีฟฮับ” ระดับภูมิภาค แบ่งเป็น 3 โซนหลัก คือ โซนเอ็นเตอร์เทนเมนท์ โซนดีไซน์ และโซนอาร์ต รวมทั้งมีรีเทลเป็นแม็กเน็ตหลัก
5 ปี ตามแผนโรดแมพกับการเปิดศึกระลอกใหม่ เป้าหมายการเป็นผู้นำของ “เจริญ” ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน ที่สำคัญ คู่แข่งล้วนยักษ์ค้าปลีกทั้งสิ้น