ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสภาพอากาศทั้งไทยและทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานภายในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
ด้วยวิกฤตด้านพลังงานที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้หลายหน่วยงานออกมาตรการหรือกิจกรรมเพื่อรณรงค์การประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางที่จะนำพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานจากขยะ มาใช้
หรืออีกหนึ่งทางเลือกคือการมองแหล่งพลังงานตามแนวตะเข็บชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพิ่งจรดปากกาลงนามความร่วมมือลงทุนด้านพลังงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา
แม้หลักใหญ่ใจความของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะมีเนื้อหาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศ เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และสร้างความเข็มแข็งในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศร่วมกัน
ดูเหมือนบันทึกความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่สองบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน มากกว่าจะเป็นดั่งสโลแกนที่ได้ยินจนคุ้นหูว่า “พลังไทย เพื่อไทย”
แน่นอนว่าความร่วมมือของทั้งสองบริษัทจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอย่าง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่นอกจากจะเป็นประธานในงานและพยานคนสำคัญแล้ว ยังให้ความเห็นที่เสมือนเป็นแรงสนับสนุนแก่บริษัทพลังงานและบริษัทไฟฟ้าของไทยที่เป็นไปเพื่อรองรับอนาคตของประเทศ การศึกษาเพื่อดำเนินโครงการด้านพลังงานที่สำคัญและเป็นทิศทางพลังงานในอนาคตที่จำเป็นของไทย ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหิน
“พลังความร่วมมือของแต่ละบริษัทจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่อยู่ในไทยและในต่างประเทศได้ทั้งในวันนี้และอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือเป็นการแสดงถึงศักยภาพของบริษัทพลังงานและบริษัทไฟฟ้าของไทย ที่สามารถสร้างโครงข่ายพลังงานในระดับชาติ ด้วยความมุ่งมั่นในบทบาทหน้าที่สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านพลังงานของสังคมไทย” แนวความคิดดังกล่าวดูเหมือนจะตรงกับสโลแกนของ คสช. ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
การขยับของสองบริษัทที่มีธงนำด้านพลังงาน จะให้เป็นเรื่องเล็กๆ และธรรมดาคงจะเป็นไปได้ยาก เมื่อมีการลงนามความร่วมมือการลงทุนด้านพลังงานถึง 3 ฉบับ โดย ฉบับที่ 1 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมถึงโอกาสในการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ
ฉบับที่ 2 บันทึกความเข้าใจระหว่าง บริษัท PTT Energy Resources จำกัด และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ฉบับที่ 3 บันทึกความเข้าใจระหว่าง บริษัท Global Power Synergy จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และโครงการโรงไฟฟ้าและสาธารณูปการในตอนกลางของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
พงษ์ดิษฐ์ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ราชบุรีโฮลดิ้ง ให้รายละเอียดเบื้องต้นว่า โครงการที่จะสามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดคือ การร่วมลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal ที่ประเทศเมียนมา ที่มีมูลค่าการลงทุน 400 ล้านเหรียญ พร้อมกำลังการผลิต 3 ล้านตัน โดย RATCH จะถือหุ้นในสัดส่วน 25-30% และสัดส่วนที่เหลือกลุ่ม ปตท. เป็นผู้จัดสรร ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี ภายหลังจากได้รับการอนุมัติการก่อสร้างจากรัฐบาลเมียนมา
ในส่วนของโครงการที่ 2 คือการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเชียงตุง ที่เมียนมา ที่มีกำลังการผลิตไฟ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะขายให้เมียนมาประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่เหลือจะขายให้แก่ไทย ซึ่งโครงการนี้ใช้งบลงทุนประมาณ 1,300 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ RATCH จะถือหุ้น 50% กลุ่ม ปตท. 40% ที่เหลือเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมทุนท้องถิ่น
ขณะที่แผนการร่วมมือในโรงไฟฟ้าที่เวียดนามที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 800-1,000 ล้านเหรียญ โดยคาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นของโครงการนี้ 30% จะเป็นของ RATCH ซึ่งในเบื้องต้นยังต้องรอการพิจารณาการใช้ก๊าซหรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
ดูเหมือนว่าการลงทุนในครั้งนี้จะเน้นหนักไปด้านความถนัดของราชบุรีโฮลดิ้งมากกว่า แต่อีกนัยหนึ่งคือความพยายามของกลุ่ม ปตท. ที่หมายมั่นจะผลักดัน GPSC (Global Power Synergy จำกัด) ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 10 มกราคม 2556 เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้า โดยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม และ กฟผ. โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,038 เมกะวัตต์
GPSC นับว่าเป็นอีกหนึ่งหมากสำคัญของ ปตท. ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่นอกจากจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการขยายแผนการลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่พร้อมทั้งช่องทางใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการสร้างมูลค่าและความมั่นคงในสายโซ่ธุรกิจพลังงานได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือไปจาก MOU ทั้ง 3 ฉบับของทั้งสองบริษัท พงษ์ดิษฐ์ยังบอกเล่าถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริดของ RATCH ที่เตรียมเซ็นสัญญาพัฒนา (MOA) กับรัฐบาลเมียนมาภายใน 1-2 เดือนจากนี้ โดยมีกำลังการผลิต 2,640 เมกะวัตต์ โดยเงินลงทุนรวม 4,800 ล้านเหรียญ และเดือนกรกฎาคมที่จะได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนกับนักลงทุนไต้หวัน ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 70-100 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเกิดขึ้นมีมูลค่ารวมหลายพันล้านเหรียญ เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทที่มีธงนำด้านพลังงานเบนเข็มไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าที่จะดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย นั่นอาจเป็นเพราะมีกลุ่มต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกลุ่มต่อต้านมีเหตุผลในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในด้านผลกระทบที่ส่งถึงสุขภาพของผู้คนในชุมชนที่ย่ำแย่ลง สิ่งแวดล้อม พืชผลการเกษตร รวมไปถึงความแตกแยกของคนในสังคมนั้นๆ ซึ่งผลพวงดังกล่าวปรากฏเด่นชัดจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
แม้ว่ากลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการใหม่ๆ แต่ก็ยังคงต้องต่อสู้ด้วยบริบทของตัวเองต่อไปกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
จริงอยู่ที่ปัจจุบันพลังงานที่เหลืออยู่นั้นกำลังเข้าขั้นวิกฤตซึ่งทำให้หลายคนพยายามหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฟฟ้าจากขยะ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม ซึ่งหากรัฐบาลและภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหันมาให้ความสนใจและพัฒนาอย่างจริงจังที่จะนำพลังงานทางเลือกเหล่านี้มาใช้ เราคงก้าวขึ้นไปยืนบนแถวหน้าของโลกได้อย่างภูมิใจในฐานะที่เป็นประเทศแห่งพลังงานสะอาด