นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดเผยผลงานล่าสุด “ศิลปะบนฝาท่อสาธารณูปโภค” เพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ด้วยแนวคิดในการใช้กิจกรรมและงานสร้างสรรค์ทางศิลปะเป็นสื่อเผยแพร่อัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงส่งเสริมทัศนะสุนทรีย์เมืองเก่าย่านเยาวราช-เจริญกรุง
รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม ศิลปะกราฟิตี้ รั้วกั้นทางเดินริมน้ำ และฝาท่อระบายน้ำ โดยกองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยดังกล่าวไปใช้ และเป็นแนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง และโครงการศิลปะชุมชนกิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ ปี 2561 นั้น
แผนที่แสดงแนวทางการวางตำแหน่งฝาท่อ
ล่าสุดนักวิจัยได้ร่วมกันออกแบบฝาท่อสาธารณูปโภคภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยเริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะใช้งานศิลปะและการออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในย่านชุมชนที่นำไปสู่การสร้างหมุดหมายบนแผนที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งผลลัพธ์ของการสำรวจพื้นที่และการทำงานร่วมกับนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ข้อสรุปเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะพัฒนาให้เกิดฝาท่อที่มีความเป็นศิลปะ โดยการออกแบบสื่อถึงโบราณสถาน อาคาร ร้านค้า สถานที่อันเป็นที่มาของชื่อย่าน และสาธารณูปโภคที่มีขึ้นครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอัตลักษณ์ด้านการค้าของย่านเยาวราช
“ในการออกแบบเราได้สร้างภาพที่มีลักษณะกราฟิก เพื่อให้ผู้ชมจดจำได้ง่าย โดยคำนึงว่าต้องสื่อถึงที่มาได้โดยตรง และเชื่อมโยงไปสู่ความหมายและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ฝาท่อที่ออกแบบมาชุดนี้ ตัวอย่างเช่น วัดมังกรกมลาวาส ห้างทองเยาวราช การประปา และรถรางสายแรกบนถนนเจริญกรุง เป็นต้น การวางตำแหน่งฝาท่อครั้งนี้กำหนด 19 จุดสำคัญในย่านเยาวราช-เจริญกรุง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจุดต่าง ๆ โดยโครงการวิจัยได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ไว้ นอกจากนี้ยังเพิ่มตัวอักษรระบุตำแหน่งฝาท่อ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ ส่วนด้านการผลิตโครงการวิจัยได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงงานหล่อเหล็กมาร่วมพัฒนาฝาท่อให้ได้คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ต่ำกว่าการดำเนินการครั้งก่อน”
นับเป็นการพัฒนาเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์โดยนำศิลปะเข้ามาจรรโลงพื้นที่เก่าแก่ ปลุกให้เมืองตื่นได้อีกครั้ง ภายใต้แนวคิด Creative Cultural City จากฉันทามติของชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับแก่นแท้ ไม่ใช่แค่สร้างสีสัน ผลคือได้ฝาท่อประปาที่สวยงาม ช่วยให้ทัศนียภาพในเมืองน่ามอง และยังประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ทางวัฒนธรรมที่ช่วยแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น
นักวิจัยกับผู้ประกอบการไทยผู้ผลิตฝาท่อ
รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร