บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 1/65 มีกำไร 1.2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 23% หลังธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
“บีเจซี” เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1,246 ล้านบาท แสดงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่กลับมาเติบโตอย่างชัดเจนในไตรมาสนี้
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 39,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,808 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดขายรวมและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 36,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,712 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของยอดขายในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่นอยู่ที่ 3,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ มียอดขายอยู่ที่ 5,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,260 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง รวมถึงราคาขายของบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค ยอดขายกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 5,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเกิดจากยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจอุปโภค ซึ่งสามารถชดเชยยอดขายที่ลดลงจากธุรกิจโลจิสติกส์ หลังการย้ายการจัดการด้านโลจิสติกส์ของบิ๊กซีออกจากธุรกิจโลจิสติกส์กลับสู่กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นปี
กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 2,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์ฝ่ายเวชภัณฑ์และการแพทย์ และกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิคฝ่ายเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมและวิศวกรรม
กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ มีรายได้รวมอยู่ที่ 26,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,590 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 23,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,458 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการเปิดร้านค้าใหม่และการกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของยอดขายต่อสาขาเดิมในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ยอดขายต่อสาขาเดิม เมื่อไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี สาหรับไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 2.8) จากยอดขายของอาหารสดและอาหารแห้งที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันรายได้อื่นอยู่ที่ 3,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่าที่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราการเช่าอยู่ที่ร้อยละ 87.5 สำหรับไตรมาส 1/65 ยังคงต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนอกจากนี้ กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่าง ต่อเนื่องในไตรมาส 1/65 โดยได้เปิดบิ๊กซี มินิ 41 สาขา และปิดบิ๊กซี มินิ 3
สาขา ในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา ที่ประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต 38 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต 10 สาขา บิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขา และร้านค้าส่งเอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 2 สาขา) บิ๊กซี มินิ 1,391 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 56 สาขา ในประเทศไทย และบิ๊กซี มินิ 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา) และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา