วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > New&Trend > “อยุธยาเมืองท่าแห่งอุษาคเนย์” ฟื้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

“อยุธยาเมืองท่าแห่งอุษาคเนย์” ฟื้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดกิจกรรม “The Legendary Food Culture of Ayutthaya” วัฒนธรรมอาหารในตำนานศรีอโยธยาเมืองท่าแห่งอุษาคเนย์ แผ่นดินทองแห่งความรุ่งเรืองบนรากฐานพหุวัฒนธรรมต้นตำรับสยาม “วิเทศศาสตร์ โภชนศิลป์” ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการวิจัย “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออก” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โครงการวิจัยมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเที่ยวด้านวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นที่รู้จัก และรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องอาหารการกิน โดยนำอาหารไทยโบราณหาทานยากมาเป็นจุดขาย ผสมผสานกับการเรียนรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านการดำเนินโครงการ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ โครงการการค้นหาต้นแบบวัฒนธรรมอาหารและพัฒนาสำรับอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออกที่มีตนเป็นหัวหน้าโครงการ โดยลงพื้นที่ศึกษาภูมิวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอาหารอยุธยา ถอดรหัสภูมิปัญญาสำรับอาหารอยุธยา และพัฒนาสำรับอาหารกรรมวิธีโบราณดั้งเดิม 5 ชนิด คือ ต้มยำน้ำข้น ทอดมันกุ้ง มัสมั่น ข้าวบุหรี่ (ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ) และมีไฮไลท์สำคัญที่จะต่อยอดส่งออกขายและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากชนิดใหม่ของพระนครศรีอยุธยา คือ “ขนมหินฝนทอง” ซึ่งเป็นขนมหวานหาทานยาก หน้าตาคล้ายกับหินฝนทองที่คนโบราณใช้ทดสอบทองคำว่าเป็นทองแท้หรือไม่ มีรสหวาน หอม ละมุนลิ้น คนโบราณนิยมพกติดตัวไปเวลาเดินทางไกลหรือเวลาออกรบ เพราะเก็บไว้รับประทานได้นาน 1-2 เดือน

รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ทั้งนี้ตัวแทนบริษัทนำเที่ยว อาทิ บริษัท เดสทิเนชั่น เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อยุธยา โบ๊ท แอนด์ ทราเวล จำกัด บริษัท Green Wood Travel Blogger Page หมีเป็ดและนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้ร่วมกิจกรรมการทำขนมหินฝนทอง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออก และนำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเสนอขายเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และสามารถนำไปสู่การสร้างกิจกรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศได้

“ผลงานวิจัยนี้นับเป็นองค์ความรู้ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตทางด้านวัฒนธรรมอาหาร และนำมาใช้ประโยชน์ถ่ายทอดสู่ชุมชน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ การสร้างงาน สร้างอาชีพของคนในชุมชน และรองรับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในยุควิถีชีวิตปกติใหม่ รวมถึงนำไปสู่การขยายผลและเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมาอาหารไทยสู่การเป็น ASEAN Gastronomy Region” รศ. ดร.พรรณีระบุ

ขณะที่โครงการ “การถอดรหัสภูมิปัญญาวัฒนธรรมและออกแบบพื้นที่เกี่ยวเนื่องวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออกเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” นำทีมโดย อ.อภิรดี อานมณี จากสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาร่องรอยลักษณะทางกาย ภูมิสังคม วิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับการกิน นำมาสู่การอนุรักษ์รูปแบบครัวโบราณ และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมอาหาร รวมถึงส่งเสริมบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจถึงคุณค่าและกิจกรรมสร้างสรรค์ ขณะที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยายสามารถนำองค์ความรู้ด้านงานออกแบบไปประยุกต์ใช้ในการตกแต่งบรรยากาศโรงแรม ร้านอาหาร เพื่อสะท้อนความเป็นความเป็นไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาได้อีกด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นการสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารให้กับนักท่องเที่ยว และการสร้างคุณค่าโดยผนวกกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากอดีต

คณะวิจัยได้จัดการทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหาร โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา นำทีมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและตัวแทนบริษัทนำเที่ยวชั้น 10 แห่งร่วมลงพื้นที่ เพื่อจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติบนรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยคัดเลือกกิจกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นเชื่อมโยงกับเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมอาหาร อาทิ กิจกรรมเดินจ่ายตลาด ณ ตลาดหัวรอ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเยี่ยมชมครัวโบราณบ้านเกาะเรียนและเลือกซื้อขนมตระกูลทองบ้านป้ามะลิ การรับประทานอาหารโบราณกรุงศรีอยุธยาที่ร้านครัวท่าหลวง การทำขนมหินฝนทอง และปิดท้ายด้วยการล่องเรือชมความงามรอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา

ขนมหินฝนทอง

ใส่ความเห็น