วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > Bioplastic Hub เข็มมุ่งธุรกิจสีเขียวของ PTTGC

Bioplastic Hub เข็มมุ่งธุรกิจสีเขียวของ PTTGC

 
นอกเหนือจากการวางแผนลงทุนเพื่อขยายฐานทางธุรกิจไปยังต่างแดนแล้ว เข็มมุ่งและเป้าหมายของ PTTGC ในระยะถัดไปจากนี้ ยังอุดมด้วยวิสัยทัศน์ที่ท้าทายในการก้าวสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ Bioplastic Hub ในภูมิภาคอาเซียน
 
เข็มมุ่งทางธุรกิจที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงและข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน และมีสถานะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมไปโดยปริยาย 
 
ขณะเดียวกัน หากประเมินจากความได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยก็มีศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณการผลิต มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งพืชเกษตรทั้งสองถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ความมุ่งหมายของ PTTGC ที่จะเป็น Bioplastic Hub ของอาเซียน จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยจากความเป็นจริงนัก 
 
ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพมีการพัฒนาอย่างมากในประเทศที่มีบทบาทในเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความต้องการพลาสติกชีวภาพก็เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 ล้านตันต่อปี เป็น 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งผลจากความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจขยายธุรกิจมาสู่ธุรกิจสีเขียว (green business) มากขึ้น 
 
ซึ่งในจำนวนนี้มีองค์กรธุรกิจด้านพลังงานอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย โดย ปตท. ให้ความสนใจและกำหนดแผนการพัฒนาธุรกิจพลาสติกชีวภาพ ไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนกลยุทธ์ของบริษัทตั้งแต่ปี 2551เป็นต้นมา ด้วยความร่วมมือกับ สนช. และภาคเอกชน ในการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ เพื่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
 
จังหวะก้าวในการพัฒนาธุรกิจพลาสติกชีวภาพของกลุ่ม ปตท. มีความน่าสนใจไม่น้อย และเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดย ปตท. ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเคมีและมีเทคโนโลยีการผลิต PBS ในระดับเวิลด์คลาส จัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTTMCC) โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อพัฒนาโครงการผลิตสารตั้งต้น Bio-Succinic Acid (BSA) และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ คือน้ำตาล 
 
ทั้งนี้ บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม เริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2555 และสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (AIE) จังหวัดระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ถือว่าเป็นพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากพืชรายแรกของโลก และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตสารตั้งต้น เม็ดพลาสติก จนถึงพลาสติกสำเร็จรูป ซึ่งโครงการพลาสติกชีวภาพชนิด PBS มีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี                 
 
พลาสติกประเภท PBS เป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ซึ่งข้อดีคือมีคุณสมบัติที่สามารถขึ้นรูปได้ดี จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และด้วยคุณสมบัติของ PBS ที่คล้ายคลึงกับพลาสติกทั่วไป จึงทำให้ความต้องการใช้ PBS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในปี 2563 ความต้องการใช้พลาสติกประเภทนี้จะอยู่ที่ 268,000 ตัน
 
ในขณะเดียวกัน บริษัทในเครือ ปตท. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ก็มีแผนที่จะตั้ง  bio hub ในไทย ทั้งนี้ดึงพันธมิตรบริษัทผู้ผลิตน้ำตาล 3 รายใหญ่ของไทย ประกอบด้วย บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) KTIS กลุ่มน้ำตาลมิตรผล  กลุ่มธุรกิจน้ำตาล เอทานอล และไบโอเอ็นเนอร์ยี่ บริษัท คริสตอลลา จำกัด ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง bio hub
 
บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจกลุ่มผลิตภัณท์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสีเขียว ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจของ PTTGC ในการก้าวสู่ระดับโลก โดยพัฒนาจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจระยะยาว ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุดิบซึ่งกันและกัน สร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ  ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง และลดต้นทุนพลังงาน โดยใช้แหล่งพลังงานจากแก๊สชีวมวล และก๊าซชีวภาพ จากการบำบัดน้ำเสีย โดยมีวัตถุดิบหลักที่ได้จากธรรมชาติ คือ
 
1. กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบจากปาล์ม น้ำมันในเมล็ด (Vegetable Oil Base) PTTGC มุ่งเป็น hub โดยการ integrate หรือรวบรวมวัตถุดิบจากที่ต่างๆ โดยมุ่งพัฒนาปาล์มให้มีประโยชน์ โดยไม่ลงทุนปลูกปาล์มเอง สามารถผลิตเป็นไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอนามัยส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมอาหารและยา เป็นต้น
 
2.  กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำตาล ซึ่งจะได้น้ำอ้อยมาผ่านกรรมวิธี ซึ่งกลุ่มนี้นำมาผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้กับวัตถุดิบด้านการเกษตร โดยสามารถผลิตเป็น  Bio Plastics, Bio Chemical  เช่น ขวดน้ำ แก้วน้ำ  ฯลฯ, Biofuels, และ Bio Power              
 
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2554  PTTGC ได้ดำเนินการซื้อหุ้นและลงทุนร้อยละ 50 ในบริษัท NatureWorks บริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตไบโอพลาสติกประเภท PLA (Poly Lactic Acid) ในสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงิน  150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,572 ล้านบาท ปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 140,000 ตันต่อปี  ทั้งนี้ ไบโอพลาสติกประเภท PLA เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
 
ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการลงทุนจากทางภาครัฐ โดยคาดว่าจะผลักดันให้เกิดประมาณปลายปี 2559 หรือไม่เกินต้นปี 2560 คาดว่าใช้งบลงทุนประมาณ 200-300 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000-9,000 ล้านบาท
 
PTTGC คาดว่าเทคโนโลยีที่นำมาจากประเทศอเมริกาจะสามารถสร้างโรงงาน  ซึ่งไทยมีปริมาณของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เช่นมันสำปะหลัง, ข้าวโพด และอ้อย ในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและการส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งในการพัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ
 
“การดำเนินธุรกิจไม่ได้มุ่งหวังทางธุรกิจอย่างเดียว แต่มุ่งสร้างความสมดุลควบคู่กับสิ่งแวดล้อม  และตอบแทนสังคม” สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  PTTGC กล่าว  
และจากนโยบายนี้เองที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10  บริษัทชั้นนำของโลกด้านการพัฒนายั่งยืน  ability Dow Jones Sustainabilty Indices (DJSI) ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ติดต่อกัน 2 ปี และเป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับใน DJSI 
 
อนาคตพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมนับวันจะหมดลงและจะค่อยๆ ถูกทดแทนด้วยพลาสติกชีวภาพ เมื่อวัตถุดิบพร้อม ความรู้เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อม บางทีเข็มมุ่งของ PTTGC อาจไม่ได้มีนัยความหมายจำกัดเฉพาะกับองค์กรแห่งนี้เท่านั้น
 
หากแต่อาจเป็นเข็มมุ่งที่นำพาประเทศไทยไปสู่บริบทใหม่ ที่ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนา มากกว่าความคิดความเชื่อเรื่องไทยเป็นศูนย์กลางแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด