วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Entrepreneurship > SMEs > ขบวนการมนุษย์ 5 สี Err-or design

ขบวนการมนุษย์ 5 สี Err-or design

 

จากเด็กนักศึกษาขายเสื้อยืดแบกะดินแถวถนนข้าวสารเมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้ “ERR-OR DESIGN” แปลงร่างกลายเป็นแบรนด์เสื้อยืดแนวกราฟกดีไซน์ที่ฮอตฮิตที่สุดในกลุ่มเด็กวัยรุ่น มีชอปในตลาดนัดจตุจักร ในย่านแฟชั่นสตรีทอย่างสยามสแควร์ ศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ เทอร์มินอล 21 และเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 รวมทั้งกำลังบุกหนักขยายตลาดในต่างจังหวัดและตลาดออนไลน์

ขบวนการมนุษย์ 5 สีที่หุ้นส่วนทั้ง 5 คนมักบอกกับใครๆ เริ่มจากหัวเรือใหญ่ วุฒิพณ สุขเจริญนุกูล หรือ “จิ๊ง” ซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดไอเดียชวนเพื่อนคู่หู พัชรดนัย ศรีธนะขัณฑ์ หรือ “เป้า” และวิชญะ วิเศษสรรโชค หรือ “แนท” ลงขันทำเสื้อยืดขาย เริ่มจากการขายแบกะดินแถวถนนข้าวสาร ตลาดนัดจตุจักร เสื้อส่วนใหญ่ตอนนั้นใช้ลายกราฟิกที่ค้นจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ลายของนักออกแบบบ้าง

จนกระทั่งเรียนจบ จิ๊งไปฝึกงานที่บริษัท Drugstore the design guru ซึ่งเป็นบริษัทกราฟิกดีไซเนอร์ที่รวมกลุ่มพี่ๆ ที่จิ๊งชื่นชอบผลงานอย่างมาก

เขาเกิดความคิดว่าทำไมเมืองไทยไม่มีใครทำอย่างเมืองนอกที่นำเอากราฟิกดีไซน์มาต่อยอดบนเสื้อผ้าและให้เครดิตชื่อ เจ้าของผลงานเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ใช้สินค้ารู้ ให้แฟนๆ ติดตาม ซึ่งนั่นกลายเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ “ERR-OR DESIGN” โดยดึงเพื่อนอีก 2 คนเข้ามาร่วมทีมคือ ชาติเชื้อ เชื้อชาติ หรือ “เดียร์” และ สิทธวัชร์ นิลศรี หรือ “นนท์”

“จิ๊ง แนท เป้า เป็นเพื่อนเรียนอัส-สัมชัญด้วยกัน ส่วนผม จิ๊ง แนท เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยกัน ผมเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป้าเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร พอเรียนจบผมไปทำงานประจำเป็นเอ็นจิเนียร์ซัพพอร์ตเซลส์ ที่บริษัทเชลล์ ส่วนเป้าทำงานที่ดั๊บเบิ้ลเอ ผมขายน้ำมันอยู่พักหนึ่ง จิ๊งชวนมาทำเสื้อยืดอย่างจริงจัง คิดอยู่นานเหมือนกัน แต่สุดท้ายตัดสินใจออกมาทำกัน” สิทธวัชร์กล่าวกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ

สำหรับชื่อ “ERR-OR DESIGN” เป็นไอเดียของวุฒิพณที่อยากได้คำที่อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ “ERROR” อ่านเป็นภาษาไทยคือ “เออออร์” ซึ่งหมายถึงการชักชวนดีไซเนอร์มาเออออห่อหมก หรือ ถ้าอ่านเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ หมายถึงการลองผิดลองถูก ความป่วนของมนุษย์ 5 สี หุ้นส่วนทั้ง 5 คน

คอนเซ็ปต์และคอลเลกชั่นแรกๆ จึงมาจากกราฟิกดีไซเนอร์กลุ่มดรักสโตร์ฯ ซึ่งบางคนมีโปรเจ็กต์พิเศษ ทำทีเชิ้ตแนวอินดี้แบบครั้งเดียวจบ ไม่มีใครหยิบขึ้นมาทำเป็นโปรดักส์ให้คนติดตาม ซึ่งสิทธวัชร์บอกว่า เมื่อสี่ห้าปีก่อนงานดีไซเนอร์ที่ทำอยู่มักเป็นลักษณะงานสวย แต่คุณภาพเนื้อผ้าไม่ได้หรือเสื้อผ้าคุณภาพดีแต่ลายไม่สวย

“เออออร์” มองเห็นและเกิดความทะเยอทะยาน อยากทำ โปรเจ็กต์เสื้อผ้าคุณภาพโอเค ลายสวย ราคาไม่แพงเกินไป จับต้องได้ แม้ถ้าเทียบกับตลาดเสื้อยืดในเวลานั้น ราคาเสื้อผ้าแบรนด์ ERR-OR DESIGN แพงกว่าเจ้าอื่น ในตลาด โดยราคาเปิดที่ตัวละ 390 และ 490 บาท ซึ่งเป็นค่าดีไซเนอร์และคุณภาพเนื้อผ้า ขณะที่เทียบกับเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ ตัวละพันสอง ซักแล้วหด หรือจับแล้วต้องคิดว่า ทำไมพันสอง นั่นคือช่องว่างทางการตลาดที่เปิดให้เข้าไปยืนอยู่ได้

อย่างไรก็ตามนอกจากกราฟิกดีไซเนอร์ที่ร่วมงานกันในยุคแรกๆ เช่น Drugstore the design guru, B.O.R.E.D.Design หรือ Huebucket ซึ่งถือเป็นมือหนึ่งมือเก๋าใน ตลาด มีงานนำเสนอสาธารณะมากมาย ทั้งงานด้านโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ออกแบบกราฟิกให้สินค้าแบรนด์ดังๆ โดยเฉพาะดรักสโตร์ฯ เพิ่งคว้างานทำสื่อกราฟิกของธนาคารทหารไทย มีลิสต์ รายชื่อลูกค้ามากกว่า 30 ราย เช่น เชฟ โรเลต เดอะมอลล์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สมอลล์รูม ทรูมูฟ อาร์เอส แสนสิริ ฮ่องกงนูดเดิ้ล

ERR-OR DESIGN ยังสร้างเว็บไซต์ www.err-ordesign.com และ  Facebook เปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ส่งผลงานที่เหมาะจะทำสกรีนลงบนตัวเสื้อ โดยแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายและให้ค่าดีไซน์เป็นรายชิ้น เพื่อเป็น คอมมูนิตี้ของกลุ่มดีไซเนอร์ จนปัจจุบันมีดีไซเนอร์ทำงานร่วมกันมากกว่า 50 คน ซึ่งแต่ละคนมีสไตล์งานที่แตกต่างกัน ทั้งลายกราฟิก ลายฮิพฮอพ ลายออกไปทางสตรีทแวร์ หรือเป็นการ์ตูนเสียดสีสังคมของ “หมู” ไตรภัค สุภวัฒนา นักเขียนการ์ตูนและ กราฟิกดีไซเนอร์ หรือแนวโหดๆ ของ “ตั้ม” สแปงค์กี้เอาหัวกะโหลกมาเรียงเป็นสัญลักษณ์ สันติภาพ เพื่อสื่อถึงสันติภาพที่ต้องแลกด้วยชีวิตคน สงคราม และการสูญเสีย

“แรกๆ ไม่มีเจ้าไหนทำเสื้อแบบเรา เราไปติดต่อขอลายจากกลุ่มดีไซเนอร์ เขายัง งงว่าจะเอาไปทำอะไร เอาไปก๊อบปี้หรือเปล่า จนกระทั่งเราผลิตเสื้อออกมาและให้เครดิตชื่อเจ้าของผลงานทุกตัว ทั้งกลุ่มดีไซเนอร์และ กลุ่มลูกค้าเริ่มรับรู้ความแตกต่าง จุดขายที่เสื้อแบรนด์อื่นไม่มีทำให้มีคนติดตามเสื้อคอลเลกชั่นต่างๆ มากขึ้น มีเสื้อแบรนด์ใหม่หันมาทำแบบเรามากขึ้นด้วย” สิทธวัชร์บอก

ช่วง 5 ปีของ “เออออร์” จึงถือเป็น การเกิดของธุรกิจเสื้อยืดแนวใหม่ ซึ่งในเวลานั้นทั้ง 5 คน จับมือกันลงขันเงินกว่า 400,000 บาท เปิดหน้าร้านแห่งแรกที่ตลาดนัดจตุจักร  ประเดิมเสื้อยืดสไตล์กราฟิกดีไซน์ราคาตัวละ 390 บาท แพงกว่าเสื้อยืดคู่แข่งค่อนข้างมาก

ในวันแรกของการเปิดร้านทั้ง 5 คน ตั้งเป้ายอดขายวันละ 10-20 ตัวก็หรูแล้ว แต่ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาดอย่างมาก เพราะขายได้ถึงวันละ 50-60 ตัว และเคยขายได้สูงสุดแตะวันละ 100 กว่าตัว

“กลุ่มลูกค้าจริงๆ ตอนแรกเราไม่รู้ เราไม่ได้ตั้ง คิดว่าใครก็ได้ คือการที่คุณซื้อ คุณรู้ว่างานนี้เป็นงานดีไซเนอร์ ซึ่งช่วงแรกเรามีแท็ก เมื่อซื้อเสื้อลายดีไซเนอร์ของใคร เราจะมีบัตรดีไซเนอร์ของลายนั้นให้ ด้วย ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของคน ที่ใส่ ลายไม่ค่อยซ้ำ อย่างเสื้อยืดใน ตลาดจตุจักรส่วนใหญ่เป็นลายในอินเทอร์เน็ต หรือวาดด้วยคนคนเดียว เป็นสไตล์เดียว แต่ของเรามีดีไซ-เนอร์หลากหลาย วันนี้อยากใส่ลายการ์ตูน ลายพิมพ์เรียบๆ หรือกราฟิกล้อเลียน มีหลายแนว เราเลยคิดว่าใครก็ได้ที่ชอบงาน ของดีไซเนอร์ ใครที่ชอบกราฟิกก็ซื้อใส่ได้ แต่มาช่วงหลังจะเห็นลูกค้าหลักมีตั้งแต่นักเรียน มัธยมต้น มัธยมปลายกับมหาวิทยาลัยเกินครึ่ง หลุดมาวัยทำงานและเป็น ช่วงยุคดีไซเนอร์วงการกราฟิกเริ่มไหลจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ช่วงนั้นเป็น กราฟิกสีสันจัดจ้านลายใหญ่ๆ”

เปิดร้านในตลาดจตุจักรได้ปีกว่าๆ ERR-OR DESIGN ขยายสาขา 2 ที่สยาม สแควร์ ซอย 4 เพื่อเจาะให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและสามารถเปิดขายได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่เสาร์อาทิตย์ แต่ค่าเช่าโหดมาก ต้นทุน พุ่งขึ้นทันทีหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับค่าเช่า ที่ตลาดจตุจักรจากเดือนละ 20,000-30,000 บาท เป็นเดือนละ 80,000 บาท ขณะที่ราคาเสื้อยังคงอยู่ที่ 390 และ 490 บาท  เพื่อสนองกระเป๋าของกลุ่มวัยรุ่นทำให้ธุรกิจอยู่ในช่วงอาการหนักนานหลายเดือน

ในเวลาเดียวกันตลาดนัดจตุจักรเริ่มลดความคึกคัก เนื่องจากมีศูนย์การค้าขนาดเล็กประเภทคอมมูนิตี้มอลล์และไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ผุดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ กลุ่มลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนถือเป็นโลว์ซีซั่นของจตุจักร บรรยากาศจับจ่ายซบเซาและจำนวนลูกค้า ลดไปมากกว่าครึ่ง ทำให้ ERR-OR DESIGN ต้องขยายสาขาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ทั้งในแง่การเปิดตัวแบรนด์และการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

สาขา 2 ที่สยามสแควร์ ซอย 4 จึงถือเป็นการเปิดแนวรุกครั้งแรกของขบวนการมนุษย์ 5 สี ถือว่า “คุ้ม” เพราะสามารถสร้างแบรนด์ให้กลุ่มลูกค้ารู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ยอดขายดีขึ้นต่อเนื่องจนแซงหน้าสาขาแรก ที่ตลาดนัดจตุจักร จากนั้นอีก 2 ปี ERR-OR DESIGN ขยายสาขา 3 และ 4 ที่ศูนย์การค้า เทอร์มินอล 21 และเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9

แผนขั้นต่อไปคือการขยายไปตลาด ต่างจังหวัด โดยเริ่มรับตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเป้าหมายที่อยากทำตั้งแต่ปีแรกแต่ต้อง หยุดไว้ก่อนเพื่อควบคุมด้านการผลิต ทั้งคุณภาพเนื้อผ้าและพิมพ์สกรีนให้อยู่ตัวก่อน

ปัจจุบันแบรนด์ ERR-OR DESIGN มีตัวแทนจำหน่ายในทุกภูมิภาค ภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ภาคอีสานที่นครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น ส่วนภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช และตั้งเป้าหมายขยายอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขไม่รับตัวแทนจำหน่ายซ้ำซ้อนในแต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันปัญหาการตัดราคากัน

ในแง่ตลาด สิทธวัชร์เชื่อมั่นว่าธุรกิจเสื้อยืดไม่มีวันตาย เพราะคนไทยยังนิยมใส่เสื้อยืดและคนกำลังชอบงานกราฟิก ดีไซน์ ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งและเป็นความชอบ ซึ่งเป็นจุดขาย ทำไมใส่เสื้อยืดแล้วต้องใส่แค่เรียบๆเหมือนกินข้าวไข่เจียว ทุกวัน วันนี้อยากกินเผ็ดบ้าง อยากใส่เสื้อลายฟอนต์ สีสดๆ และกราฟิกไทยกำลังโต เด็กรุ่นใหม่เก่งมาก สู้นักออกแบบ ชาวต่างชาติได้แน่นอน

สัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนมาจากการแข่งขัน Digital Design ระดับโลก Cut & Paste  ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก เริ่มมาจัดที่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ผู้คนสามารถคลิกชมได้ ทั่วโลก การแข่งขันรายการนี้ ตั้ม สแปงค์กี้ เคยคว้าตำแหน่งแชมป์ สองปีซ้อนมาแล้ว

ล่าสุดการแข่งขัน Cut & Paste Global Tournament 2011-2012 เพิ่งจัดในไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ ลานอินฟินิตี้ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบไทยในประเภท 2, 3D และ Motion Graphic จำนวน 3 คนไปชิง สุดยอดแชมป์ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ERR-OR DESIGN ตั้งความฝันอยากไปดังในต่างประเทศเช่นกัน ก่อนหน้า นี้เคยมีตัวแทนจำหน่ายสั่งซื้อเสื้อไปทำตลาดในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่เจอวิกฤติเศรษฐกิจโลกหลายรอบ ทั้งวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ทำให้ตลาดต่างประเทศหายไปเกือบทั้งหมด ซึ่งต้องรอการฟื้นฟูอีกระยะหนึ่ง

แม้กระทั่งภาวะเศรษฐกิจในไทยแม้ยอดขายดีขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากเช่นกัน รายได้รวมเฉลี่ยเดือนละ 200,000-300,000 บาท หักค่าเช่า 4 สาขา เกือบ 1 แสนบาท และค่าดีไซเนอร์ ถ้าเน้นกำไรเสื้อยืดคุณภาพดีคงไม่ใช่ราคานี้

สิทธวัชร์บอกว่าทำธุรกิจแบบนี้ภาษา ชาวบ้านเรียกว่า “โง่” แต่ที่ทำแบบรายได้พอเลี้ยงตัว เพราะอยากให้ความรู้สึกว่าทุกคนสามารถซื้อเสื้อยืดคุณภาพใส่ได้  ดีไซน์สวยและเท่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งทั้งหมดคือจุดขายที่ทำให้ ERR-OR DESIGN เกิด มีลูกค้าเหนียวแน่นและโต รอดวิกฤติได้ทุกครั้ง