“IMH” เสิร์ฟข่าวดีรับศักราชใหม่ จ่อปั้นรายได้ปี 65 แตะ 1.2 พันลบ. สบช่องนวัตกรรมทางการแพทย์ ส่งชุดตรวจโควิด “Flowflex” ATK สู้ศึก “โอมิครอน”
บมจ. โรงพยาบาล อินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ หรือ IMH ส่งข่าวดีรับศักราชใหม่ จ่อนำนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยในการตรวจเชื้อกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ภายใต้ชุดตรวจโควิด “Flowflex” ATK เปิดให้บริการ เริ่มดีเดย์ตั้งแต่ ม.ค. 65 นี้ ทั้งตรวจและรักษาแบบครบวงจร พร้อมรอลุ้นดีลเทคโอเวอร์ธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่ม คาดปิดดีล Q1/65 มั่นใจปี 65 ปั้นรายได้รวมแตะ 1,200 ล้านบาท
ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH เปิดเผยว่า ทาง IMH มีความพร้อม 100% ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด เชื้อกลายพันธุ์ใหม่ “โคมิครอน” ทั้งการตรวจโควิด และการรักษาคนไข้โควิดแบบครบวงจร ทั้งนี้ การระบาดในวงกว้างของ “โอมิครอน” ในรอบนี้ จะส่งผลให้คนไข้โควิด ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเพิ่มขึ้น กว่า 10,000 – 30,000 คนต่อวัน พร้อมทั้งอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายแรงต่อคนไข้ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง อาทิ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น ส่งผลให้จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข หากไม่มีการจัดการที่ดีอาจส่งผลให้เตียงคนไข้มีไม่เพียงพอ
และจากประเด็นในขั้นต้น IMH จึงมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระลอกนี้ โดยล่าสุด IMH ได้เข้าเจรจากับ supplier เพื่อนำเข้าชุดตรวจโควิดแบบใหม่ “Flowflex” ATK ซึ่งมีความ ไว (Sensitivity) ในการตรวจจับไวรัสโควิด 6 สายพันธุ์ คือ B.1.160 (สายพันธุ์ดั้งเดิมในสหราชอาณาจักร) และสายพันธุ์น่ากังวล (VOC) ทั้ง 5 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และ “โอมิครอน” ซึ่งสามารถตรวจจับ “โอมิครอน” ได้อย่างรวดเร็ว โดยจะตรวจพบ “โอมิครอน” ได้แม้เชื้อมีความเข้มข้นเพียง 270 PFU/ml (2.43 log10 PFU/ml) ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยในการตรวจเชื้อกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ได้อย่างรวดเร็ว และ จะสามารถสกัดการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ ม.ค. 65 เป็นต้นไป IMH จะเริ่มเปิดให้บริการตรวจโควิดแบบใหม่ “Flowflex” ATK และออกใบรับรองผลโควิด ได้ทั้ง ลูกค้า Walk in และให้บริการตรวจนอกสถานที่ ถึง บริษัท/โรงงาน เพื่อให้ความเชื่อมั่นกับลูกค้าที่กลับเข้าทำงาน และ เพื่อการเดินทาง ซึ่งจะเป็นวิธีทำให้การดำเนินชีวิตตามปกติ ได้อย่างปลอดภัยและ เกิดมั่นใจแก่ตนเองและคนที่ติดต่อรอบข้าง
ขณะที่โรงพยาบาลประชาพัฒน์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีความพร้อมที่จะรับมือกับปริมาณคนไข้ ที่จะเข้ามารักษาโควิด ทั้งทางติดต่อโดยตรงกับทางโรงพยาบาลประชาพัฒน์ และ ผ่านการตรวจ “Flowflex” ATK โดยหน่วยบุคลากรการแพทย์ ของโรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยที่ผ่านมา โรงพยาบาลประชาพัฒน์มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการคนไข้โควิด ในปี 2564 ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนได้เตรียมศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะฯ จำนวน 200 เตียงสนาม และ 9 เตียงความดันลบเพื่อเปิดรับคนไข้
ดร. สิทธิวัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับภาพรวมในปี 65 ทางกลุ่ม IMH คาดว่ารายได้รวมจะทำนิวไฮ เกินระดับ 1,200 ล้านบาท และจะสามารถบริหารต้นทุนรวมได้ต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาจากการ synergy ระหว่าง โรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ และโรงพยาบาลประขาพัฒน์ ทั้งนี้ยังไม่รวมดีลขยายธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นใน ช่วงไตรมาส 1/65 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าจะให้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ที่ผ่านมา IMH ได้รับอานิสงส์ จากการตรวจและรักษาโควิด รวมถึงผลจากการควบรวมกิจการ (M&A) ส่งผลให้กำไรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จึงแนะนำซื้อ โดยให้ราคาเหมาะสม 19.20 บาท