จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาวและส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ จนเกิดกระแสในโลกโซเชียลติดอันดับ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงการมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกับในต่างประเทศนั้น
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวมีหลายรูปแบบ บางแบบจะไม่สามารถเตือนภัยได้ แต่บางรูปแบบอาจจะเตือนภัยได้แต่ก็เพียงไม่กี่สิบวินาทีก่อนเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง ในกรณีภาคเหนือของประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งส่งผลรุนแรงในระยะใกล้จุดศูนย์กลาง จึงเป็นแผ่นดินไหวในรูปแบบที่ไม่สามารถเตือนภัยได้
ส่วนกรณีของกรุงเทพมหานคร การสั่นสะเทือนจะเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางห่างไกลออกไปนับร้อยกิโลเมตร ในกรณีเช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ซี่งอาจจะเตือนได้เพียง 10-20 วินาทีก่อนที่คลื่นแผ่นดินไหวจะวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ ระยะเวลาเตือนภัยสั้น ๆ นี้จึงอาจไม่เพียงพอที่จะอพยพผู้คนออกจากอาคาร แต่อาจช่วยให้หลบเข้าที่ปลอดภัยได้ หรืออาจนำมาใช้ในการชะลอความเร็วของรถไฟความเร็วสูงที่จะมีในอนาคต เพื่อให้รถวิ่งช้าลงและไม่ตกรางจนเกิดอันตราย
สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองโกเบเมื่อหลายสิบปีก่อน และแผ่นดินไหวที่จังหวัดคุมาโมโตะ เป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางใกล้ตัวเมืองมาก จึงไม่สามารถเตือนภัยได้ เพราะคลื่นแผ่นดินไหววิ่งเร็วมากด้วยความเร็วประมาณ 3-6 กิโลเมตร/วินาที ทำให้คลื่นแผ่นดินไหววิ่งมาถึงตัวเมืองในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ๆ ในทะเลที่อยู่ห่างจากชายฝั่งหลายร้อยกิโลเมตร กรณีเช่นนี้คลื่นแผ่นดินไหวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายสิบวินาที หรืออาจมากกว่า 1 นาที จึงจะวิ่งมาถึงเมืองต่าง ๆ จะสามารถเตือนภัยได้ก่อนที่คลื่นจะมาเขย่าเมืองเหล่านั้น
“วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ประชาชนจะต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ และโครงสร้างอาคารต้องมีความมั่นคงแข็งแรงจึงจะสามารถป้องกันความเสียหายจากแรงแผ่นดินไหวได้ ทั้งบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงานที่มีคนอยู่จำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลที่คณะวิจัยเน้นเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมศาสตร์มาตลอด โดยล่าสุดได้ปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้กับอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป อย่างไรก็ตามคณะวิจัยจะพยายามปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมอาคารทุกหลังในประเทศ อาคารเก่าจะต้องถูกทดแทนด้วยอาคารใหม่ที่ต้านทานแผ่นดินไหวได้”
นอกจากนี้ในโอกาสครบรอบ 17 ปีของการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น ศ. ดร.เป็นหนึ่งระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิอีกครั้งในช่วงชีวิตของคนเรา เพราะแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันบางส่วนมีการสะสมพลังงานมาหลายร้อยปี และยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวและสึนามิ ดังนั้นเรายังจำเป็นต้องมีระบบเตือนภัยสึนามิที่เชื่อถือได้ และต้องเตรียมพร้อมที่จะอพยพหนีภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ปัญหาที่เรามีในขณะนี้ คือ ผู้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยเริ่มที่จะลืมภัยพิบัตินี้แล้ว ขาดความสนใจและตื่นตัว ป้ายเตือนภัยและป้ายชี้เส้นทางอพยพในหลายพื้นที่หมดสภาพ จำนวนอาคารบ้านเรือนและโรงแรมในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้น ในบางพื้นที่เพิ่มถึง 2-3 ตัวเท่าตัว อีกทั้งหากจำเป็นต้องอพยพจริงก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอพยพได้อย่างรวดเร็วทันเวลาหรือไม่ เพราะผู้คนยังมีความคิดหลากหลาย มีวิธีการอพยพแตกต่างกัน บางคนอาจพร้อมอพยพทันที แต่บางคนอาจจะรีบบกลับบ้านก่อนเพื่อไปหาครอบครัวหรือนำของสำคัญออกมา พ่อแม่อาจจะไปหาลูกที่โรงเรียนก่อน หรืออาจรออพยพพร้อมกับคนที่ตนรัก ดังนั้นกระบวนการอพยพจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีพออาจจะมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากเพราะอพยพไม่ทัน
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่าเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ทำให้ได้รับบทเรียนว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่สร้างความเสียหายอย่างมาก คือ การขาดการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือเหตุการณ์ในอนาคต ความเสี่ยงภัยและกระบวนการอพยพเป็นสิ่งที่ต้องหมั่นทบทวน ที่ผ่านมาพื้นที่ตามแนวชายฝั่งอันดามันได้ฟื้นฟูและเกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่เสี่ยง โครงการวิจัยได้ประเมินความเสี่ยงภัยสึนามิจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวบริเวณทางตอนเหนือของแนวมุดตัวซุนดาตั้งแต่หมู่เกาะอันดามันไปจนถึงบริเวณอาระกันเลียบชายฝั่งประเทศเมียนมา รวมถึงการทบทวนกระบวนการอพยพในพื้นที่เขาหลักโดยใช้เทคโนโลยีแบบจำลองคอมพิวเตอร์ Multi-Agent Simulation ซึ่งตรรกะความคิดแต่ละคนขณะหนีภัยและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะแตกต่างกันไป ทำให้เกิดการค้นพบมาตรการสนับสนุนการอพยพที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้น ๆ
โครงการวิจัยต่อไปจะศึกษาความเสี่ยงภัยสึนามิที่เป็นไปได้ (PTHA) รวมถึงการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติมในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามัน เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นให้เกิด “ความตระหนักไม่ใช่ตระหนก” ส่วนแบบจำลองการอพยพจะใช้พื้นที่ป่าตองซึ่งมีสภาพแตกต่างจากพื้นที่เขาหลักมาศึกษามาตรการอพยพที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงเส้นทางอพยพไปยังจุดปลอดภัยต่าง ๆ โดยจะเริ่มต้นการประเมินความปลอดภัยของอาคารอพยพที่สามารถถูกกำหนดขึ้น อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และสถานที่ราชการ โดยใช้แบบจำลองพหุฟิสิกส์เชิงคำนวณ Fluid-Structure Interaction
ด้าน ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผ่นดินไหวไร้พรมแดน ที่ผ่านมาเกิดแผ่นไหวขนาดปานกลางและขนาดใหญ่จำนวนมากใกล้ชายแดนประเทศไทย สร้างความเสียหายให้ชุมชนที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องศึกษารอยเลื่อนมีพลังและลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยในอนาคต ซึ่งถือเป็นความร่วมมือไร้พรมแดน ขณะที่ระบบแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวยังมีข้อจำกัดหลายอย่างและใช้เงินลงทุนสูงมาก จึงควรศึกษาข้อดี ข้อด้อยและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยอาจทำเป็นระบบนำร่องก่อนลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดของการสร้างแบบจำลองสึนามิของประเทศไทยคือ ยังขาดข้อมูลภูมิประเทศความละเอียดสูงมากของชายฝั่งของประเทศไทยทั้งบนบกและในทะเล จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจให้ได้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้การสร้างแบบจำลองมีความแม่นยำมากขึ้น