ร้านค้าปลีกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากมาตรการต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเริ่มในช่วงต้นปี 2563 ซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยว่า มาตรการต่าง ๆ เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การปิดห้างสรรพสินค้าชั่วคราว การลดเวลาให้บริการลงในช่วงเคอร์ฟิว ไปจนถึงข้อกำหนดอื่น ๆ โดยเฉพาะสำหรับร้านอาหารที่ต้องลดเวลาให้บริการ กำลังเป็นตัวแปรในการกำหนดแนวโน้มการเจริญเติบโตของร้านค้านอกห้างสรรพสินค้า
นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ผู้ค้าปลีกกำลังมองหาทางเลือกที่หลากหลายในการขยายแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การตั้งสาขาใหม่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านที่ตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้า เช่น ร้านแบบคีออสก์และป๊อปอัปในสถานีขนส่งมวลชน ฟู้ดทรัค ร้านสแตนด์อโลนชั่วคราว จุดรับสินค้าในจุดแวะพักระหว่างทางหรือปั๊มน้ำมัน
ทำเลที่ตั้งร้านที่ไม่ใช่ในห้างสรรพสินค้า เช่น ย่านค้าขายที่มีร้านค้าเรียงกันเป็นแถบ (Strip Mall) และตลาดนัดกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบรรดาร้านค้าปลีกที่มีการตื่นตัว และพยายามปรับตัว การย้ายร้านค้าไปนอกห้างสรรพสินค้าสามารถช่วยลดข้อจำกัดจากมาตรการที่กำหนดไว้เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การปิดห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เราต่างได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นนานแค่ไหน
“ทำเลที่ตั้งนอกห้างสรรพสินค้าอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์พื้นที่เป้าหมายของร้านค้าปลีก เนื่องจากแบรนด์ที่เลือกใช้สถานที่ประเภทนี้จะสามารถเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะในตลาดนั้น ร้านค้ารูปแบบนี้มักจะมีความยืดหยุ่นกว่า และสามารถทำสัญญาเช่าระยะสั้นกว่าได้ ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถปรับเปลี่ยนและบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเปิดสาขาใหม่บนข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ที่น้อยลง” นางสาวจริยา กล่าวเสริม
ในบางครั้ง ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันพยายามเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่นอกเหนือจากน้ำมัน ด้วยการสร้างพื้นที่ค้าปลีกที่รวบรวมร้านค้าต่าง ๆ ขึ้นภายในสถานี มีร้านอาหารและคาเฟ่จำนวนมากขึ้นที่ต้องการเปิดหน้าร้านขนาดเล็กนอกห้างสรรพสินค้า เช่นเดียวกับคลาวด์คิทเช่นและฟู้ดทรัคที่ได้ขยายออกมาอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้ นอกจากนี้ ร้านขายสินค้าไอที ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ต้องการขยายจุดรับ-ส่งสินค้ามองหาโครงการเชิงพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ริมถนนมาตลอด ซึ่งรวมถึงสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเช่าพื้นที่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลีกในกรุงเทพฯ มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบและมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป โครงการค้าปลีกทั่วไป เช่น ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และห้างสรรพสินค้า มีความคาดหวังที่สูงขึ้นว่าร้านค้าปลีกจะมีลูกค้าเข้าร้านจำนวนมาก นำไปสู่รายได้ที่เข้ามาตลอด ซึ่งหมายถึงค่าเช่าที่สูงขึ้น เงื่อนไขการเช่าที่ยืดหยุ่นน้อยลง และเหนือสิ่งอื่นใดคือ กฎระเบียบและข้อบังคับจากฝ่ายบริหารห้างสรรพสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น
หากเลือกสถานที่ตั้งนอกห้างสรรพสินค้า ผู้ค้าปลีกอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษายอดขาย เนื่องจากมีลูกค้าเข้าร้านน้อยกว่า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการจัดการที่ดีในระยะยาว และการจัดโซนนิ่งที่อาจจำกัดกิจกรรมด้านค้าปลีกบางประเภท ความท้าทายยังรวมถึงประเภทของร้านค้าปลีกและสินค้าที่เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งนอกห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปลีกได้ประโยชน์จากค่าเช่าที่ต่ำกว่า ที่จอดรถที่สะดวก กฎระเบียบที่น้อยกว่า คู่แข่งที่เป็นแบรนด์ที่น้อยกว่า และสามารถเห็นร้านได้ชัดขึ้นเมื่อมองจากถนนเพราะโครงการนอกห้างสรรพสินค้ามักอยู่ติดถนนสายหลัก
“ขณะที่พฤติกรรมปกติในการจับจ่ายใช้สอยกำลังถูกทดสอบจากการต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกก็กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ร้านค้าของตนสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกช่องทาง ด้านเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกเองก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้มั่นใจว่าห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนานจะเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่ปลอดภัย เพราะไม่ช้าก็เร็วลูกค้าก็จะกลับมาใช้บริการห้างสรรพสินค้าตามปกติหลังโควิด-19” นายรัฐวัฒน์ กล่าวสรุป