‘แม็คโคร’ เตรียมขอมติผู้ถือหุ้น รับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์เร่งขยายต่างประเทศ พร้อมชูแพลตฟอร์ม O2O และอีคอมเมิร์ซ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ สร้างโอกาสให้ SMEs ไทยเติบโตในต่างประเทศ
บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 12 ตุลาคมนี้ ขอมติเรื่องการรับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์ในไทยและมาเลเซียจาก CPRH โดยออกหุ้นใหม่จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์ และการเพิ่มทุนจดทะเบียน รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป เสริมศักยภาพการเติบโตในตลาดต่างประเทศ ผ่านโมเดลธุรกิจแบบ O2O เชื่อมออนไลน์และออฟไลน์ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ด้วยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเชื่อมโยงทุกภาคส่วน พร้อมผนึกความร่วมมือกับ SMEs เกษตรกรไทยและซัพพลายเออร์ สร้างโอกาสเติบโตไปด้วยกันในระดับภูมิภาค
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร หรือ MAKRO เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ในไทยและมาเลเซีย จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) และเพิ่มทุนจดทะเบียน รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement หรือ PP) และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) ล่าสุดบริษัทฯ เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการทำธุรกรรมดังกล่าว
การเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้ จะเพิ่มโอกาสการเติบโต จากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและประชากรเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ ทั้งเอสเอ็มอี เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้า ร่วมเติบโตไปด้วยกันในระดับภูมิภาค ผ่านแพลตฟอร์มที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทย
“แม้มีการรวมกิจการของกลุ่มโลตัสส์เข้ามาในบริษัทฯ แต่เรายังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจของทุกกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า และร้านค้าปลีกรายย่อย (ร้านโชห่วย) ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการร้านค้า เข้าไปสนับสนุนการดำเนินธุรกิจรายย่อยท้องถิ่นให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม” นางสุชาดา กล่าว
แม็คโคร เชื่อว่าจากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 32 ปี และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ B2B (Business to Business หรือการค้ากับผู้ประกอบการ) ขณะที่โลตัสส์ซึ่งเป็นผู้นำตลาดแบบ B2C (Business to Consumer หรือ การค้ากับผู้บริโภค) และดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 27 ปี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงสามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านการคัดสรรและจัดซื้อ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้
ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทฯ จะพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการ ตลอดจนยกระดับแม็คโครและโลตัสส์ให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิตัลแพลตฟอร์ม
นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร สายงาน Group Shared Service กล่าวว่า การรับโอนกิจการของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีมาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ใหญ่ขึ้น และส่งผลดีต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่สามารถรับรู้รายได้ของกลุ่มโลตัสส์ รวมถึงรายได้จากพื้นที่เช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทฯ เตรียมดำเนินการขออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (PO) ซึ่งเมื่อกระบวนการเสนอขายเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย จะเพิ่มสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต์) เป็นไม่ต่ำกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะส่งผลให้หลักทรัพย์ของบริษัทฯ มีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนีสำคัญต่าง ๆ และเป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ คือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF) ซึ่งจะได้รับหุ้น PP จากการรับโอนกิจการดังกล่าว จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ตนถืออยู่ในบริษัทฯ ด้วยบางส่วนพร้อมกับการทำ PO ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย