ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 อาจอุดมด้วยวันธงชัย ฤกษ์ดี จนเป็นเหตุให้ห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกระดับพรีเมียมของไทยจัดงานประชันกัน โดย 29 พฤษภาคม 2558 เดอะมอลล์กรุ๊ปจะจัดงานฉลองเปิดตัว “ดิ เอ็ม ดิสทริค (The EM District)” ย่านการค้าครั้งยิ่งใหญ่รอบที่ 3 ตามแคมเปญ “The World Extraordinaire Gala Celebration” สร้างกระแส “Talk of The World” 3 รอบ 3 บรรยากาศ
เริ่มจาก “แฟชั่น เอ็กซ์ตรอ ดิแนร์” (Fashion Extraordinaire) ตามด้วย “ไดนิ่ง เอ็กซ์ตรอดิแนร์” (Dining Extraordinaire) และปิดท้าย “เวิลด์ เอ็กซ์ตรอดิแนร์” (World Extraordinaire) โดยซุ่มกิจกรรมการแสดงระดับโลก “ทรีดี แมปปิ้ง เอ็กซ์ตรอดิแนร์” เทคนิคการฉายภาพบนสถาปัตยกรรมของอาคารศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ พื้นที่การแสดงรวม 3,500 ตารางเมตร
ขณะที่ก่อนหน้านั้นวันเดียวหรือ 28 พฤษภาคม 2558 คู่แข่งเซ็นทรัลกำหนดจัดงานฉลองครบรอบ 1 ปี เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ “ซูเปอร์พรีเมียมรีเทล” ศูนย์กลางความหรูในการจับจ่าย ศิลปะ วัฒนธรรม และความบันเทิงระดับโลกใจกลางสุขุมวิท
ที่สำคัญ เดินหน้าโครงการย่านการค้าภายใต้ชื่อ CENTRAL BANGKOK สร้างชอปปิ้งเดสติเนชั่นแห่งใหม่ โดยพล็อตจุดเช็กอิน คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์และห้างสรรพสินค้าเซน ตั้งแต่สี่แยกเพลินจิตไปจนถึงสี่แยกราชประสงค์ ในสโลแกน “The Shopping Destination… All In One Walk”
เทียบกลยุทธ์ชั้นเชิงทั้ง 2 ฝ่าย ค่ายเดอะมอลล์พยายามอัดกลยุทธ์ปลุก “ดิ เอ็ม ดิสทริค” เนื้อที่รวม 50 ไร่ พื้นที่ 650,000 ตารางเมตร งบลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยเปิดตัว 2 โครงการแรก คือ ดิ เอ็มโพเรียมโฉมใหม่ในฐานะ “ที่สุดแห่งการชอปปิ้งอย่างมีระดับ” หรือ “The Ultimate Shopping Complex” และ ดิ เอ็มควอเทียร์ มิติใหม่ของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดา หรือ The Extraordinary Life เช่น การสร้างสวนธรรมชาติ น้ำตกสูง 40 เมตร เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน
ก่อนที่ “ดิ เอ็มสเฟียร์” ซึ่งถือเป็นความเร้าใจใหม่ของคนกรุงเทพฯ จะเปิดตัวเต็มรูปแบบเชื่อมต่ออาณาจักรทั้ง 3 ส่วนในปี 2559
ศึกยกแรก แฟชั่นแบรนด์เนมอาจฟันธง “แพ้-ชนะ” ไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะถือเป็นจุดขายหลักของห้างระดับซูเปอร์พรีเมียม แต่กลยุทธ์ศึกยกที่ 2 สงครามไดนิ่ง “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ระดมร้านอาหารมากกว่า 200 ร้านจากทั่วทุกมุมโลก ร้านเอ็กซ์คลูซีฟที่มาเปิดครั้งแรกในเมืองไทย และร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ กลายเป็นโจทย์การแข่งขันที่เซ็นทรัลอาจต้องแก้เกมมากขึ้นอีกหลายชั้น
ทั้งนี้ ดิ เอ็มดิสทริค วางพื้นที่จัดแบ่งประเภทร้านอาหาร 4 กลุ่ม รองรับลูกค้าระดับกลางจนถึงระดับบนและวีไอพี ประกอบด้วย เดอะ ฮีลิกส์ ไดนิ่ง เอ็กซ์ตรอดิแนร์ จะเป็นโซนรวมร้านอาหารนานาชาติและไทย จำนวน 43 ร้าน บริเวณชั้น 6-9 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยเดอะมอลล์กรุ๊ปใช้รูปแบบพื้นที่เปิดโล่งให้ทุกร้านอยู่ในบรรยากาศมองเห็นทิวทัศน์ด้านนอกแบบ 360 องศา และสร้างสวนธรรมชาติขนาด 3,000 ตารางเมตร ในอาคารที่เรียกว่า “ควอเทียร์ วอเตอร์การ์เด้น”
ใน 43 ร้าน มีร้านอาหารเอ็กซ์คลูซีฟที่เปิดให้บริการเฉพาะที่นี่ อย่างร้านอาหารปิ้งย่างพระดับพรีเมียม “ทาจิมะ”, ซาว่า ไดนิ่งรูม, แครบ แอนด์ คลอว์, สครัฟฟี่ เอพร่อน, เชฟแมน, เบลล่า รอคค่า และร้านบูลโกกิ บราเธอร์ส
กลุ่มที่ 2 โซน ดิ เอ็ม ดิสทริค ไดนิ่ง พาราไดซ์ ในศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียมและดิ เอ็มควอเทียร์ รวมร้านอาหารพาสทรีคาเฟ่และเครื่องดื่ม เช่น ปิแอร์ แอร์เม่ ปารีส, แฮร์รอดส์ คาเฟ่ แอนด์ ไอศกรีม พาร์เลอร์, ดีน แอนด์ เดลูก้า, โจนส์ เดอะ โกรเซอร์, เซอร์เรท์, โรสท์และอนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่
กลุ่มที่ 3 เอ็มโพเรียมและควอเทียร์ ฟู้ดฮอลล์ ซึ่งเปิดให้บริการทั้งฝั่งเอ็มโพเรียมและเอ็ม ควอเทียร์ โดยลูกค้าจะได้รับการ์ดมูลค่า 3,500 บาท เพื่อเลือกซื้อเมนูอาหารต่างๆ หลังจากนั้นนำบัตรมาชำระค่าอาหาร ร้านอาหารชื่อดังในโซนนี้ได้แก่ บอนชอน, แฮปปี้บีฟ บาย เอ็ม และอีท บาย สุพรรณิการ์
กลุ่มสุดท้ายเรียกว่า กูร์เมต์เทคอะเวย์ เป็นร้านจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแบบนำกลับบ้าน โดยเดอะมอลล์กรุ๊ปคุยว่ารวมร้านเด็ดจากทั่วทุกมุมโลก เช่น ขนมครัวซองต์ Taiyaki จากญี่ปุ่น ไก่ทอด Hot Star Large Fried Chicken จากไต้หวัน หมูแผ่นบีเช็งเฮียงจากไต้หวัน
ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และประธานกรรมการบริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่มากกว่าความหลากหลายของร้านอาหาร ก็คือ การสร้างควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เด้น เพิ่มบรรยากาศการทานอาหารและมุมมอง 360 องศาที่ต่างจากคู่แข่ง โดยคาดว่าจะมียอดการใช้บริการในโซนไดนิ่งเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000-1,200 บาทต่อคน และล่าสุด ทั้งดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 150,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 70% ชาวต่างชาติ 30%
ขณะที่คู่แข่ง “เซ็นทรัล” ในส่วน “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” ใช้เวลาปีกว่าๆ ปลุกปั้นแม็กเน็ตหลัก โซนศูนย์อาหาร “อีทไทย” (Eathai) ซึ่งวางคอนเซ็ปต์นำอาหารไทยแท้จากทุกแหล่งทุกภาคทั่วประเทศมารวมไว้ที่เดียวกันใจกลางเมืองหลวง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน ได้แก่ โซนสตรีทฟู้ด รวบรวมอาหารไทยชื่อดังจากย่านต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งร้านรถเข็นชื่อดัง ร้านตึกแถว จัดเป็นซุ้มขายอาหาร
เช่น ผลไม้คุณนายอัมรา หมูปิ้งเฮียอ้วน กุ้ยช่ายคุณแม่ หอยทอดชาวเล โรตี-ชาชักอลาดิน เต้าทึงสวีทไทม์เยาวราช ลอดช่องวัดเจษ ขนมเบื้องคุณดาว ขนมครกแม่ศรีเรือน ข้าวมันไก่ประตูน้ำ ราดหน้า-ก๋วยเตี๋ยวหลอด-ข้าวหน้าเป็ดย่างแสนยอด ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นเจ้าท่า ก๋วยเตี๋ยวต้มยำปลาสดรสมะนาวเดอะซี้ดนู้ดเดิ้ล เย็นตาโฟนายอ้วนเสาชิงช้า
ส่วนอีกโซน “ครัวสี่ภาค” รวบรวมเอาร้านอาหารชื่อดังประจำภูมิภาคต่างๆ ของไทย เน้นอาหารพื้นเมือง อย่างภาคเหนือมีร้านคุณหมอคูซีน จ.เชียงใหม่, อีสานเหนือ ร้านเลอ ดาลัด เดลี่, ภาคอีสาน ร้านไก่ย่างโคราช, ภาคกลาง ร้าน White cafe, ภาคใต้ ร้านบ้านไอซ์ แถมด้วยอาหารซีฟู้ด ร้านแหลมเจริญซีฟู้ด จาก จ.ระยอง นอกจากนี้ ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ต “ตลาดอีทไทย บาย ท็อปส์” และร้านอิษยา คุ้กกิ้ง สตูดิโอ ของเชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย
สำหรับ “เซ็นทรัลเวิลด์” อีกจุดเช็กอิน เครือเซ็นทรัลทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่บริเวณด้านข้างเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งถนนพระราม 1 เป็นโซนรวมร้านอาหารชั้นนำ แฟชั่นและเครื่องสำอางแบรนด์เนม ภายใต้ชื่อ Groove@Centralworld พื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร คอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์ ไดนิ่ง แอนด์ แกสโตรบาร์ คาเฟ่ ระดับโลก เพื่อสร้างแหล่งแฮงก์เอาต์ เทียบชั้นมหานครโลก อย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้
อย่างร้าน “ชิกเคติ” ที่บินตรงจากอังกฤษมาเปิดสาขาแรก ร้าน “โฟชอง” จากฝรั่งเศส ร้านชากาแฟสุดหรู “แฮร์รอดส์” จากอังกฤษ ร้านหรูสไตล์ปารีเซียง “แมกซิม บิสโทร” จากฝรั่งเศส, Jones The Crocer รวมถึงแบรนด์ไทยระดับอินเตอร์ ได้แก่ อภินารา, Hyde & Seek peek-a-boo, Greyhound Cafe, HOBS, Wine I Love you
แน่นอนว่า 2 ยกแรก ทั้งสงครามแบรนด์เนมแฟชั่นจนถึงสงครามไดนิ่งเป็นเพียงฉากโหมโรงก่อนเดินเข้าสู่สมรภูมิสร้างย่านการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ค้าปลีกอย่างเต็มรูปแบบ