บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยเดือนสิงหาคมยัง Sideway Down จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งทำลายสถิติรายวัน ล่าสุด ศบค.ยกระดับพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ขยายเวลาล็อกดาวน์เพิ่มอีก 14 วัน ส่งผล Consensus เตรียมหั่น GDP ปี 64 ลงอีก จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,500-1,570 จุด พร้อมคัดหุ้นเด่นเดือนสิงหาคมกลุ่มแจ้งงบQ2/64 ออกมาดี และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย WFH 100%
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนสิงหาคมยังคง Sideway Down โดยนักลงทุนยังกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศยังอยู่ในระดับสูงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงขยายพันธุ์เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 1,000 เท่า ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง
โดยสถานการณ์ใน อินโดนีเซีย ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทะลุ 3,460,000 ราย เสียชีวิตกว่า 97,000 ราย สูงสุดในอาเซียน ส่วนฟิลิปปินส์ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งทะลุ 1,600,000 ราย เสียชีวิตกว่า 28,000 ราย สูงอันดับ 2 ในอาเซียน ด้านญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดในหลายจังหวัด จีนประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วประเทศ เวียดนามจะขยายเวลาล็อกดาวน์ มาเลเซียขยายภาวะฉุกเฉินในซาราวักถึง ก.พ.ปีหน้า พร้อมระงับเลือกตั้ง ส่วนอังกฤษเตือนเมียนมาอาจติดโควิด-19 ครึ่งประเทศในอีก 2 สัปดาห์หากไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอ
อีกทั้งทาง ศบค.ได้ประกาศยกระดับเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ขยายเวลาล็อกดาวน์ 14 วัน ผ่อนคลายร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า มีผลตั้งแต่ 3 ส.ค. หากยังไม่ดีขึ้นอาจขยายเวลาต่อไปจนถึง 31 ส.ค. ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม ด้วยการบริโภคภาคเอกชนลดลง และภาคการท่องเที่ยวที่ยังยังไม่ฟื้นตัว เพราะยังจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ ส่งผลให้ Consensus อาจปรับลดประมาณการ GDP ปี 64 ลงอีก จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,500-1,570 จุด
ขณะที่กลุ่มโอเปก ได้เพิ่มการผลิตน้ำมันเป็น 26.72 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. สูงสุดในรอบ 15 เดือนตามมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 400,000 บาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงเดือน ธ.ค.ปีนี้ โดยราคาน้ำมัน WTI ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.7% ปิดเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยยังเชื่อมั่นต่อแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันท่ามกลางการเปิดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ยังคงจับตายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการแก้ไขสถานการณ์ของภาครัฐ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2564 ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) และสำนักงานประกันสังคมเริ่มโอนเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนตาม ม.33 และการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในหมวดต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศออกมาตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม อีกทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/64 ออกมาดี ได้แก่ WICE, AS, BCH, LANNA, SPALI, XO และCKP และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย WFH 100% ได้แก่ ADVANC, DTAC, TRUE, JAS, DIF, JASIF, ITEL, NETBAY, YGG, AS และ INSET
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำโลกในเดือนกรกฎาคมปรับตัวขึ้น 44$/Oz สู่ 1,814$/Oz โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีดิ่งลงสู่ 1.37% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ส่งผลให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุนถือครองทองคำลดลง และสภาทองคำโลกระบุว่า 1 ใน 5 ของธนาคารกลางรายใหญ่มีแผนที่จะเพิ่มทองคำในระบบทุนสำรองในปีหน้าเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำเพิ่มเติม
นอกจากนี้ทองคำได้รับปัจจัยหนุนหลังจากนายพาวเวลได้กล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยระบุว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE และจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในขณะนี้ พร้อมกับย้ำว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ส่วนประเด็นเงินเฟ้อนายพาวเวลมองว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระยะนี้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว จากการที่รัฐต่าง ๆ ทำการเปิดเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะปรับตัวลงเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆกลับสู่ภาวะปกติ
ดังนั้นจากความผันผวนของราคาทองคำและความกังวลในการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดในการประชุมเดือน ส.ค.-ก.ย.เป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำในระยะกลาง ฝ่ายวิจัยประเมินกรอบทองคำในเดือนนี้ที่ 1,770-1,850 $/Oz โดยแนะนำให้หาจังหวะ Short เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านจากความกังวลการปรับลดวงเงิน QE