วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “วัคซีน” ด้อยประสิทธิภาพ จุดแตกหักสังคมไทย

“วัคซีน” ด้อยประสิทธิภาพ จุดแตกหักสังคมไทย

ความเป็นไปและสับสนว่าด้วยประสิทธิภาพของวัคซีนต้านทานและยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่จากผลของการจัดการจัดหาและจัดสรรวัคซีน CoronaVac ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Sinovac Biotech หรือที่ได้รับการเรียกขานในนาม SINOVAC มาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ด้วยเหตุที่รัฐไทยนำมาเป็นวัคซีนหลักในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดูจะเป็นประเด็นแหลมคมที่กำลังส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบการสาธารณสุขไทยอย่างหนักหน่วงและอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางความพยายามที่จะระบุว่าการสาธารณสุขไทยก้าวไกลและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในช่วงก่อนหน้านี้

กระแสข่าวว่าด้วยจำนวนผู้คนที่ล้มเจ็บด้วยเหตุแห่งการติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสถิติใหม่ในแต่ละวัน ควบคู่กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สะท้อนภาพความล้มเหลวของการสาธารณสุขไทยที่พยายามเน้นย้ำความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์แต่ขาดความรู้ความเข้าใจและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนโยบายด้านการสาธารณสุขในฐานะที่ public health ต้องเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสาธารณะหรือ public policy อย่างจริงจัง

ความล้มเหลวในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลายพันธุ์ไปอย่างหลากหลายทำให้วัคซีนเชื้อตายที่พัฒนาขึ้นจากสายพันธุ์ดั้งเดิมเมื่อครั้งที่มีการระบาดใหญ่ระลอกแรกที่มณทลอู่ฮั่นประเทศจีน เมื่อกว่า 2 ขวบปีที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ๆ ที่กำลังกลายพันธุ์และพัฒนาความรุนแรงไปสู่สายพันธุ์ Alpha-Delta และสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังติดตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง

วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 สองยี่ห้อหลักของจีนที่พัฒนามาจากเชื้อตายทั้ง Sinovac และ SinoPharm กำลังถูกทำให้ตกเป็นข่าวในทางลบตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมกระทั่งแม้แต่พบผู้เสียชีวิตในหมู่ประชากรที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac และ SinoPharm ครบตามจำนวนแล้วก็ตาม ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้ แม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วัคซีนทั้งสองตัวนี้ได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้จำนวนมากก็ตาม

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือวัคซีนของจีนทั้งสองชนิดนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและระดับต่ำ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบรุนแรง แต่ความหวาดกลัวเหล่านี้สมเหตุสมผลหรือไม่ และรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ยังสามารถใช้วัคซีนเหล่านี้ในการปกป้องประชาชนของตัวเองได้ไหมจึงเป็นคำถามที่กลไกรัฐในหลากหลายประเทศรวมถึงรัฐไทยควรให้คำตอบต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ความเป็นไปของวัคซีนทั้งสองชนิดนี้อยู่ที่วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง และบริษัท China National Pharmaceutical Group Corporation (CNPGC) หรือที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Sinopharm ที่เป็นของรัฐบาลจีน โดยทั้งสองแห่งใช้ไวรัสที่ตายแล้วในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อสู้กับไวรัสโคโรนา โดยไวรัสในวัคซีนนี้ถูกฆ่าก่อนการฉีดเข้าสู่ร่างกายของคน ดังนั้นจึงไม่สามารถทำให้ติดโรค COVID-19 ได้

ผลของการทดลองขนาดใหญ่ในบราซิล วัคซีน Sinovac จำนวน 2 โดส ที่ให้ห่างกัน 14 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยของ COVID-19 ได้ร้อยละ 51 ส่วนการทดลองในอีกหลายประเทศ ระบุว่า SinoPharm มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 79\โดยวัคซีนทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือ สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ทำให้ง่ายในการนำไปใช้งานในประเทศที่ยากจนที่ไม่มีสถานที่เก็บรักษาวัคซีนเป็นการเฉพาะ และขณะนี้มีการใช้งานวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ในเกือบ 100 ประเทศในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และหลายพื้นที่ในแอฟริกา และเมื่อไม่นานนี้อียิปต์และโมร็อกโก ได้ประกาศว่า จะเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่เริ่มผลิตวัคซีน Sinovac และ SinoPharm

ข้อน่าสังเกตและความเป็นจริงที่น่าผิดหวังประการหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 แพร่กระจายในตลาดสดเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายปี 2562 จนแพร่กระจายไปทั่วโลก คร่าชีวิตคนไปแล้วมากมายหลายล้านคน ชาติในอาเซียนที่ติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดกับจีน กลายเป็นชาติแรก ๆ ที่ได้รับเชื้อร้ายนี้ เริ่มจากไทย ที่ประกาศว่าพบผู้ป่วย COVID-19 รายแรกในประเทศ เป็นผู้หญิงจากอู่ฮั่น เมื่อ 13 มกราคม 2563 ตามมาด้วย เวียดนามที่ประกาศพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 23 มกราคม กัมพูชา พบผู้ป่วยคนแรกเมื่อ 27 มกราคม จากนั้นอีกสองเดือน ลาวจึงประกาศการพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 14 มีนาคม และเมียนมาประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2563

แต่เมื่อการระบาดแพร่ไปทั่วโลก รัฐบาลนานาประเทศใช้มาตรการปิดพรมแดน ปิดธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันการรวมตัวของผู้คนเพื่อลดการระบาดให้เร็วที่สุด ขณะที่รอการพัฒนาวัคซีน ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงมากทั่วโลก รวมทั้งเพื่อนบ้าน 5 ชาติในอาเซียนที่ใกล้ชิดกับจีนจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ต่างอยู่ในภาวะย่ำแย่มากน้อยต่างกัน ที่หนักที่สุดคือ ไทย ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 6.1 กัมพูชาหดตัวร้อยละ 3.1 ลาวหดตัวร้อยละ 2.5 อีกสองประเทศที่เหลือยังพอโตได้ โดยเมียนมาก่อนการรัฐประหารเติบโตร้อยละ 1.8 และเวียดนามเติบโตที่ร้อยละ 2.3

สำหรับ 5 ประเทศแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย-เมียนมา-ลาว-กัมพูชา-เวียดนามแล้ว ประเทศเหล่านี้ดูจะมีปฏิกิริยาต่อจีนในเชิงให้กำลังใจ และพร้อมจะร่วมมือกับจีนในการแก้วิกฤตนี้ แทนที่จะเรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อการเป็นต้นตอของปัญหา บทวิเคราะห์ชื่อ “การสู้กับ COVID-19 : โอกาสด้านการใช้พลังอ่อนของจีนในผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Fighting COVID-19: China’s Soft Power Opportunities in Mainland Southeast Asia) โดยสถาบันวิจัยศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ระบุว่า จีนซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดใหญ่ของทั้งโลกได้ฉวยโอกาสพลิกบทจาก “ผู้ร้าย” ให้กลายเป็น “พระเอก” โดยใช้ soft power ผ่านการทุ่มทุนด้านการทูตสาธารณสุข หรือการทูตวัคซีน โดยพื้นที่ที่จีนทำแล้วประสบความสำเร็จอยู่ใน 5 ประเทศบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเปรียบเหมือน “หลังบ้าน” ของจีนนั่นเอง

หากแต่ข้อเท็จจริงและความเป็นไปของสถานการณ์และการแพร่ระบาดที่ดำเนินไปพร้อมกับการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบเจอในระยะถัดมาทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของวัคซีนที่รัฐไทยจัดหาและจัดสรรให้กับประชาชนคนในชาติอย่างไม่อาจเลี่ยงโดยเฉพาะเมื่อปรากฏว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับความเสี่ยงที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งได้รับวัคซีน Sinovac ครบแล้วทั้ง 2 โดสกลับเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อและต้องล้มตายจากภาวะเตียงไม่พอรับผู้ป่วย ทำให้ความสงสัยว่าด้วยความเป็นเลิศและความแข็งแกร่งด้านการสาธารณสุขของไทยที่กลไกรัฐพยายามโหมประโคมว่าอยู่ในระดับแถวหน้าถูกตั้งคำถาม ควบคู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐในการรับมือกับวิกฤตที่กำลังเผชิญไปพร้อมกัน

ความล้มเหลวในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดจากการใช้วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนหลักทั้งที่มีข้อเรียกร้องถึงการจัดหาจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่ามาทดแทน นำไปสู่ความสับสนครั้งใหม่ว่าด้วย วัคซีนผสมสูตร ซึ่งดูจะยิ่งตอกย้ำวาทกรรมว่าด้วย “การแก้ตัวยากขึ้น” ของการให้ค่าวัคซีน Sinovac ที่ดังขึ้นก่อนหน้านี้ และทำให้สังคมไทยถูกแบ่งแตกหักออกเป็นกลุ่มที่สนับสนุนและปฏิเสธวิสัยทัศน์ที่ด้อยปัญญาของกลไกรัฐอีกครั้ง

วัคซีนสูตรผสมหรือสลับสูตรระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca ที่เสนอขึ้นมาโดยฝ่ายสาธารณสุขและกลไกรัฐ ด้วยหวังว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันการแพร่ระบาดของโรค แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาในประเด็นว่าด้วยสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งผลสัมฤทธิ์ของผู้คนในประเทศที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก็ตาม กลายเป็นประหนึ่งสิ่งตอกย้ำความล้มเหลวและต่ำทรามของผู้บริหารนโยบายด้านการสาธารณสุขไทยที่มองไม่เห็นความสำคัญของสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐแต่อย่างใด

หากประเมินอย่างตรงไปตรงมาต้องยอมรับว่าประเด็นว่าด้วยการจัดหาและจัดสรรวัคซีนเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นกรณีที่ผูกพันกับผลประโยชน์และการเมือง โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศที่นำมาสู่วาทกรรมว่าด้วยการทูตวัคซีนในช่วงก่อนหน้านี้ หากแต่ประเด็นที่น่าเสียดายและเป็นเรื่องเศร้าของสังคมไทยก็คือการไม่ยอมรับข้อเท็จจริงและยังพยายามเบี่ยงเบนประเด็นคุณสมบัติของวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีว่าด้วย mRNA ที่เป็นวิวัฒนาการขั้นที่สูงกว่า ด้วยวาทกรรมว่าเป็นวัคซีนเทพหรือเป็นวัคซีนปั่นที่เกินจริง โดยเฉพาะสื่อหลักที่เต็มไปด้วยความเสื่อมถอย

บางทีนอกจากสังคมไทยจะต้องมีโอกาสได้รับวัคซีนทางเลือกเพื่อชีวิตที่ดีกว่าวัคซีนที่รัฐจัดหาให้แล้ว สังคมไทยควรมีโอกาสได้เสพรับสื่อทางเลือกที่มีคุณค่าความหมายและได้อรรถประโยชน์มากกว่าการเสพสื่อหลักที่ด้อยคุณภาพไม่ต่างจากวัคซีนต้านการติดเชื้อ COVID-19 ที่กลไกรัฐจัดหาให้ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น