Column: AYUBOWAN
ความเป็นไปของศรีลังกาในชั่วโมงนี้ อาจทำให้ผู้คนจากต่างแดนจำนวนมากรู้สึกแปลกใจ ในขณะที่ประชาชนชาวศรีลังกาเองก็เริ่มแอบมองย้อนถึงการตัดสินใจ เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด และเป็นสิ่งที่พึงใจต้องการจริงหรือไม่
ปัญหาหลักของศรีลังกาที่เผชิญกับการก่อการร้ายและภาวะสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษอยู่ที่การขาดแคลนเสถียรภาพและความมั่นคงที่จะดึงดูดใจให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็อยู่ในภาวะชะงักงัน
ความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งจึงจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้และนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาหนุนนำระบบเศรษฐกิจของศรีลังกาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ภายหลังจากที่ Mahinda Rajapaksa สามารถกระชับและครองอำนาจสูงสุดในปี 2004 เรื่อยมาพร้อมกับการดำเนินมาตรการปราบปรามรุนแรง เพื่อยุติสงครามกลางเมืองกับกลุ่มทมิฬ ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2009 เขาได้ประกาศแนวทางในการพัฒนาประเทศไว้อย่างน่าสนใจ
ความมุ่งหมายในการพัฒนาภายใต้วลีปลุกเร้าว่าด้วย “The Emerging Wonder of Asia” กลายเป็นถ้อยความที่สื่อสารออกไปทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อโหมประโคมประชาสัมพันธ์บริบทใหม่ของศรีลังกาในยุคแห่งการเดินหน้าสู่สังคมสันติสุขและยุคสมัยแห่งการปรองดอง
กลไกหลักที่นำถ้อยความนี้ออกสู่สาธารณะและเวทีประชาคมโลก นอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐในทุกระดับระนาบแล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวของศรีลังกาดูจะเป็นหน่วยงานที่สามารถสื่อสารข้อความนี้ให้เกิดภาพจำและความประทับใจได้อย่างลงตัว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่สิ้นสุดเหตุรุนแรงจากสงครามกลางเมืองในปี 2009 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนศรีลังกาก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงศรีลังกาปีละ 4.38-4.48 แสนคนต่อปี ในช่วงปี 2008-2009 แต่ในปี 2010 จำนวนนักท่องเที่ยวทะยานขึ้นสู่ระดับ 6.5 แสนคน และเป็น 8.5 แสนคนในปี 2011 ก่อนที่จะก้าวไปทะลุสู่ระดับ 1 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
โดยในปี 2014 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ศรีลังกามากถึง 1.5 ล้านคน และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวโดยตรงมากถึง 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยอ้อมที่ช่วยผลักดันสถานะความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในมิติของการสร้างอาชีพทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 3 แสนอัตรา
ความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวของศรีลังกาในช่วงเวลา 5-6 ปีดังกล่าว สอดรับกับยุทธศาสตร์ขององค์การพัฒนาการท่องเที่ยวศรีลังกา (Sri Lanka Tourism Development Authority: SLTDA) ที่มุ่งหมายให้ภายในปี 2016 จะสามารถผลักดันให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ศรีลังกามากถึง 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงเวลาก่อนสิ้นสุดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว
ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการชูธงนำด้านการท่องเที่ยวของศรีลังกาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เลื่อนลอย หากประกอบส่วนจากข้อเท็จจริงที่ว่า ศรีลังกามีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างเปี่ยมล้น ทั้งในมิติของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ประกอบส่วนด้วยชายทะเล ภูเขาน้ำตก และป่าไม้ รวมถึงแหล่งโบราณสถานที่สะท้อนประวัติศาสตร์และรากฐานอารยธรรมที่ยาวนาน
ยังไม่นับรวมไร่ชา และเหมืองพลอย ซึ่งต่างทำให้ศรีลังกาเป็นจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางต่างแสวงหาโอกาสมาเยือน แต่ติดขัดด้วยสถานการณ์ภายในศรีลังกาเองที่ไม่เอื้ออำนวย
ขณะเดียวกัน การพัฒนาการท่องเที่ยวของศรีลังกา ยังนับเป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบโครงทางยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาประเทศที่ Mahinda Rajapaksa ได้ประกาศไว้ในชื่อ Mahinda Chintana: Vision for the Future ซึ่งเป็นประหนึ่งการกำหนดและวางรากฐานทิศทางการพัฒนาศรีลังกาในช่วง 2010-2020 หรือการมุ่งไปสู่ทศวรรษใหม่ที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่ง
แต่เหรียญย่อมต้องมีสองด้าน และพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะได้รับการยกเว้นในมิติที่ว่านี้
เพราะการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งแม้รัฐบาลศรีลังกาจะตระหนักในเรื่องของผลกระทบต่อชุมชนจากโครงการพัฒนาหลากหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวได้เปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์และวิถีของชุมชนในแต่ละพื้นที่ไม่น้อยเลย
ยังไม่นับรวมถึงกรณีการเข้ามาของกลุ่มทุนในภาคอุตสาหกรรมบริการ ที่ทยอยเข้ามาเสนอตัวลงทุนสร้างโรงแรมขนาดใหญ่และหวังจะมีส่วนแบ่งในตลาดที่กำลังเติบโตขึ้น จากผลของข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนห้องพักประมาณ 2 หมื่นห้องในปัจจุบันของศรีลังกากำลังจะไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเดินทางเสียแล้ว
อัตราการเข้าพักในโรงแรมหรือ Occupancy Rate ในแต่ละปี ซึ่งพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่ในปี 2008 อยู่ในระดับ 43.9% มาสู่ 74.3% ในปี 2014 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนความสำเร็จและช่วยกระตุ้นความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง ซึ่ง SLTDA เคยประเมินว่าศรีลังกาจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนห้องพักอีกถึง 50,000 ห้องเพื่อรองรับกับการเติบโตที่กำลังจะมาถึง
และนั่นเป็นเหตุให้มีการอนุมัติการลงทุนและสัมปทานที่ดินอย่างขนานใหญ่ให้กับผู้ประกอบการเครือโรงแรมระดับนานาชาติในหลายพื้นที่ของประเทศในเวลาต่อมา
การเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แม้จะช่วยทำให้มาตรฐานการบริการมีความเป็นสากลและสามารถสร้างงานให้กับประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันกรณีที่ว่านี้ก็ส่งผลต่อผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งพยายามดำรงอัตลักษณ์และวิถีชุมชนในแต่ละพื้นที่ ที่เป็นทั้งสีสันและเสน่ห์ของการท่องเที่ยวศรีลังกาด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ นับเนื่องจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นปี 2015 ที่ผ่านมา ทำให้โครงการลงทุนและพัฒนาจำนวนมากถูกระงับและอยู่ในขั้นตอนของการทบทวนใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบสู่การเติบโตไม่เฉพาะกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ขยายขอบเขตกินความกว้างไกลไปสู่ระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศโดยรวมด้วย
ภาพแห่งความรุ่งเรืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในยุคหลังสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ที่สามารถพัฒนาจากภาวะเกือบล้มละลายมาสู่การกระตุ้นให้ GDP เติบโตในระดับร้อยละ 6-8 อย่างต่อเนื่องเหนือประเทศเพื่อนบ้านแห่งอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และก้าวผ่านการเป็นประเทศยากจนมาสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติระดับกลาง จากผลของการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศระยะยาว อาจทำให้ศรีลังกาได้รับความสนใจจากนานาประเทศมากเป็นพิเศษ
ภายใต้วลีประชาสัมพันธ์ที่ว่า Refreshingly Sri Lanka: Wonder of Asia ที่มุ่งหมายจะก้าวเดินไปเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับนำของเอเชียและของโลกนี้ บางทีศรีลังกาอาจต้องเร่งแก้ปัญหาชะงักงันทางการเมืองให้ตกผลึกและลุล่วงโดยเร็ว
เพราะมหัศจรรย์แห่งเอเชีย ตามนัยความหมายของศรีลังกา ไม่ควรจะเป็นการสูญเสียโอกาส จังหวะและแรงกระตุ้นของการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าโดยปริยาย เหมือนดังที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย อย่างที่คนไทยในบ้านเราคุ้นเคยกันหรอกจริงไหมคะ