วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > สยามพิวรรธน์ เปิด ไดร์ฟทรู รีไซเคิล แห่งแรกในประเทศไทย

สยามพิวรรธน์ เปิด ไดร์ฟทรู รีไซเคิล แห่งแรกในประเทศไทย

สยามพิวรรธน์ ยูนิลีเวอร์ คาโอ เต็ดตรา แพ้คและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมเปิด ไดร์ฟทรู รีไซเคิล คอลเลคชั่น เซ็นเตอร์ แห่งแรกในประเทศไทย

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท คาโออินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก สร้างต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร ด้วยการเปิดให้บริการ Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว แบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) แห่งแรกในประเทศไทย สำหรับพื้นที่เขตเมืองชั้นใน โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกแล้วมาฝากส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลที่จุดไดร์ฟทรู ณ สยามพารากอน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อชีวิตผู้คนเป็นวงกว้าง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมช่วยกันแก้ไขและรับผิดชอบ เริ่มต้นจากการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และป้องกันไม่ให้มีเศษพลาสติกรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จึงได้เกิดเป็น Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว ที่เปิดให้ลูกค้าและประชาชนคนทั่วไปสามารถนำขยะที่ทำความสะอาดและคัดแยกแล้วจากที่บ้าน มาฝากส่งต่อไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบและนำมาเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่า ณ จุดไดร์ฟทรู Recycle Collection Center ที่ตั้งอยู่ 2 แห่งในสยามพารากอน ได้แก่ บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ)

กล่องที่นำมาติดตั้งที่ Recycle Collection Center นี้ ผลิตจากการอัพไซคลิ่งด้วยไม้เทียมที่มีส่วนผสมของวัสดุแปรรูปจากซอง/ถุงเติมพลาสติกแบบหลายชั้น (Multilayer Packaging) ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งออกแบบโดย บริษัท ดั๊ก ยูนิต จำกัด และผลิตโดยบริษัท เบสท์โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดยขยะที่นำมาฝากทิ้งจะต้องผ่านการทำความสะอาดและแบ่งตามประเภทของวัตถุดิบ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่

1) กระดาษ 2) แก้ว 3) เหล็ก อลูมิเนียม 4) พลาสติกแข็ง เช่น ขวดนม/แชมพู/ครีมนวด/สบู่เหลว/น้ำยาซักผ้า/น้ำยาปรับผ้านุ่ม 5) พลาสติกยืด 6) พลาสติกซอง/ถุงแบบหลายชั้น (Multilayer Packaging) เช่น ถุงขนม ถุงเติมน้ำยาล้างจาน/น้ำยาซักผ้า/น้ำยาปรับผ้านุ่ม 7) ขวดพลาสติกใส PET เช่น ขวดน้ำดื่ม/เครื่องดื่ม ขวดน้ำยาล้างจานแบบใส 8) กล่องบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องนม น้ำผลไม้ หรือกะทิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็นวัตถุดิบรีไซเคิล ก่อนจะนำมาพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำแอปพลิเคชั่น มาใช้เพื่อเก็บข้อมูล ประเภท น้ำหนัก และประเมินความสะอาด ตั้งแต่ผู้บริโภคนำวัสดุมาส่งไว้ที่ Recycle Collection Center จนถึงปลายทางที่สยามพิวรรธน์นำเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ต่อไป โดยผู้บริโภคสามารถมารับป้ายบอกข้อมูล (Tag) ในจุดที่เตรียมไว้ให้ที่ศูนย์การค้า และนำไปติดลงบนถุงที่ใส่วัสดุก่อนจะนำมาส่งที่ Recycle Collection Center

นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างระบบจัดการขยะกำพร้าที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกไร้ค่าให้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก โดยได้ร่วมกับ เครือข่ายลดพลาสติกไทยแลนด์ หรือ Less Plastic Thailand สร้างระบบจัดการขยะกำพร้า หรือขยะพลาสติกไร้ค่า เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารจากฟู๊ดเดลีเวอรี่ที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบได้ โดยจะทำการคัดแยกและส่งต่อให้กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำไปกลั่นเป็นน้ำมันทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกไร้ค่าแล้ว ยังเป็นการสร้างระบบจัดการขยะเป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง

การจะสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้นั้น เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตั้งแต่การรู้จักคัดแยกขยะ ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อทำให้โลกของเราดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

ใส่ความเห็น