วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ยุทธศาสตร์ศูนย์กลาง

ยุทธศาสตร์ศูนย์กลาง

 
Column: AYUBOWAN
 
ความเปลี่ยนแปลงในศรีลังกาช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะอุดมด้วยสีสันหลากหลาย และจังหวะก้าวที่ดำเนินไปด้วยอัตราเร่งแล้ว ต้องยอมรับว่ากลไกส่วนหน้าที่ครอบครองอำนาจในช่วงที่ผ่านมา สามารถกำหนดและวางกรอบโครงสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของที่นี่ได้ในระดับที่น่าสนใจติดตาม
 
เพราะพลันที่ Mahinda Rajapaksa สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศด้วยการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ทศวรรษได้สำเร็จในปี 2009 เขาก็ประกาศแนวทางในการพัฒนาศรีลังกาให้ฟื้นคืนจากบาดแผลของประวัติศาสตร์สู่อนาคตใหม่ ภายใต้แนวนโยบายที่ได้รับการเรียกขานว่า “Mahinda Chintana: Vision for the Future” พร้อมกับปูทางเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2010 
 
ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งอนาคต หรือ “จินตภาพแห่งมหินทะ” ดังกล่าวนี้ประกอบส่วนไปด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาและสร้างให้ศรีลังกาเป็น Regional 5 Hub หรือศูนย์กลางของกิจกรรม 5 ประการของภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร ศูนย์กลางของการเดินอากาศ ศูนย์กลางของความรู้ ศูนย์กลางด้านพลังงาน และศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม (Maritime, Aviation, Knowledge, Energy and Commerce) กลายเป็นต้นทางของกรอบโครงแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา
 
ยุทธศาสตร์ศูนย์กลาง “5 Hub Concept” ของศรีลังกา ไม่ได้เป็นเพียงกรอบโครงที่ว่างเปล่าเลื่อนลอย หากแต่มีรายละเอียดและแผนปฏิบัติการค่อนข้างชัดเจนในแต่ละหมวด เฉพาะในมิติของการเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร (Maritime Hub) ที่อุดมด้วยโครงการขนาดใหญ่ก็จะเป็นการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ของศรีลังกาไปจากสภาพปัจจุบันอย่างยากจะเปรียบเทียบ
 
ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับ Colombo Port ให้เป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้า (container mega hub) การพัฒนา Hambantota Port ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมให้ Galle Port เป็นศูนย์กลางของเรือท่องเที่ยว ผลักดันอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางทะเลให้เกิดขึ้นที่ Trincomalee รวมถึงการยกระดับ Oluvil Port ให้เป็นศูนย์กลางการประมงและการค้า และพัฒนาให้ Kankasanthurei และ Point Pedro เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค
 
การพัฒนาในอภิมหาโครงการที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นอีกหลากหลายโครงการในอนาคต เป็นประจักษ์พยานและรูปธรรมที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของศรีลังกาในการพัฒนาประเทศไปสู่จินตภาพของมหินทะดังกล่าว
 
โครงการลงทุนที่ประกอบส่วนไปด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่นน้ำมัน ที่เมือง Hambantota เมืองเล็กๆ ซึ่งอาจไม่เคยได้รับการกล่าวถึงตลอดช่วงสมัยแห่งความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์การเดินเรือในเส้นทางสายไหมในอดีต แต่ด้วยความที่เป็นเมืองบ้านเกิดของ Mahinda Rajapaksa ทำให้ Hambantota ถูกระบุให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามแนวทางการพัฒนา “จินตภาพของมหินทะ” และเป็นอนุสรณ์สถานที่สะท้อนยุคสมัยแห่งความเรืองอำนาจของ Mahinda Rajapaksa ไปโดยปริยาย
 
ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนา Colombo Port City มูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นโครงการลงทุนจากต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเมื่อปลายปี 2014 กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นปลุกพลังทางเศรษฐกิจของศรีลังกาให้กลับมาคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
นอกจากเรื่องการเดินสมุทรซึ่งอาจถือได้ว่าศรีลังกาสามารถนำข้อได้เปรียบจากข้อเท็จจริงของการอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลกมาเป็นปัจจัยหนุนนำพัฒนาการแล้ว ศรีลังกายังมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการเดินอากาศและศูนย์กลางพาณิชยกรรมอีกด้วย
 
แผนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสนามบิน Bandaranaike International Airport (BIA) ด้วยการลงทุนสร้างรันเวย์ที่สอง หรือการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สองที่ Mattala และพัฒนาสนามบินในแต่ละท้องถิ่น ดำเนินไปท่ามกลางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ศรีลังกา โดยเฉพาะโคลัมโบ เป็นศูนย์กลางการบริการและโลจิสติกส์ สำหรับสายการบินราคาประหยัดที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีสถานภาพเป็นอุตสาหกรรมความหวังในอนาคต
 
แต่ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งในยุทธศาสตร์ศูนย์กลางของศรีลังกาที่ว่านี้อีกประการหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะสร้างให้ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและเป็นประเด็นที่สร้างสำนึกตระหนักในเรื่องพลังงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในศรีลังกา สามารถก้าวไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือนอย่างกว้างขวางแล้ว 
 
เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศรีลังกาต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงในการหนุนนำพลวัตทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่กำลังจะก้าวสู่บริบทใหม่ในทศวรรษนับจากนี้
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ที่ ปัจจุบันศรีลังกามีโรงกลั่นน้ำมันอยู่เพียงหนึ่งแห่ง ในนาม Sapugaskande ซึ่งดำเนินการภายใต้ Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) วิสาหกิจของรัฐโดยมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบที่ระดับ 5 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น แผนพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นมาสู่ระดับ 1 แสนบาร์เรลต่อวันใน Sapugaskanda Oil Refinery Expansion and Modernisation Project (SOREM) จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ศรีลังกามุ่งหมาย
 
ควบคู่กับโครงการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ที่เมือง Hambantota และการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตแหล่งน้ำมันและก๊าซ ในแอ่งพลังงานนอกชายฝั่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักประกันด้านพลังงานและลดทอนการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเชิญชวนให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศครั้งใหญ่อีกด้วย
 
ความพยายามที่จะก้าวเดินตามแผนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางที่ว่านี้ ยังดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับ The Emerging Wonder of Asia ซึ่งเป็นทั้งประหนึ่งหมุดหมายและถ้อยวลีที่จะสื่อสารความเข้าใจในวงกว้าง เพราะหากศรีลังกาสามารถดำเนินนโยบายตามจินตภาพดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น ดินแดนแห่งนี้ก็คงเป็นประหนึ่งดินแดนมหัศจรรย์ ที่สามารถพลิกฟื้นจากสภาพที่ถูกฉีกขาดจากสงครามและความขัดแย้งมาสู่ความจำเริญรุ่งเรืองครั้งใหม่
 
แต่ความหวัง ภาพฝัน และความเป็นจริง บ่อยครั้งก็มิได้สอดคล้องไปในทางเดียวกันเสมอไป เพราะแม้ประชาชนชาวศรีลังกาส่วนใหญ่จะยินดีกับนโยบายที่ว่านี้ แต่การบริหารประเทศของ Mahinda Rajapaksa ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความโปร่งใสและการกระจายทรัพยากรอยู่เป็นระยะ
 
เรียกได้ว่าเห็นชอบในนโยบาย แต่เคลือบแคลงกระบวนการตรวจสอบและการทำงานของผู้นำ
 
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงเป็นประหนึ่งการส่งสัญญาณเตือนให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจในการบริหารได้ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและส่วนได้เสียในประเทศอย่างแท้จริง
 
ปรากฏการณ์และความท้าทายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ Maithripala Sirisena นับจากนี้ จึงอยู่ที่ว่าจะสามารถนำเสนอนโยบายที่ดีเทียบเท่าหรือก้าวหน้ากว่าที่ Mahinda Rajapaksa นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
 
รวมถึงการยอมรับและสานต่อนโยบายที่มีอยู่อย่างให้เกียรติและเครดิต ผู้คิดและวางแผนก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้มุ่งหมายเพียงการประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามและชัยชนะทางการเมือง หากแต่มุ่งประโยชน์สาธารณะและความผาสุกของสังคม
 
นี่จึงเป็นวิถีของการปรองดองและก้าวย่างสู่การเป็นรัฐบุรุษ ที่นำประโยชน์มาสู่สังคมอย่างแท้จริง