วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > แบ่งเบาภาระ “คุณหมอ” ฝึก คุณหมา ดมกลิ่น COVID-19

แบ่งเบาภาระ “คุณหมอ” ฝึก คุณหมา ดมกลิ่น COVID-19

ความหนักหน่วงของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ที่ดำเนินไปท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่และการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้สถานการณ์ของโรคที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกยังเป็นไปอย่างน่าเป็นห่วง ขณะที่ความหวังว่าด้วยวัคซีนในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการยับยั้งดูจะกลายเป็นสิ่งที่อาจไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสับสนว่าด้วยปริมาณของวัคซีนที่จะจัดหาได้ในระยะถัดจากนี้ และคุณภาพของวัคซีนที่มีอยู่ว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนได้มากน้อยเพียงใด

ข้อกังวลใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีกประการหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้อยู่ที่การคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ที่อาจเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในฐานะที่เป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ดังที่ปรากฏเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ อยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

ความพยายามที่จะหาเครื่องมือหรือตัวช่วยที่เป็นทางเลือกในการคัดกรองและตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่แสดงอาการ ดูจะได้รับความสนใจจากนานาประเทศและได้ทำการวิจัยทดลองในหลายประเทศไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี รวมถึงในสหราชอาณาจักร ซึ่งพบว่าสุนัขดมกลิ่นที่ได้รับการฝึกฝนสามารถจำแนกและระบุตัวบุคคลที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้ และทำให้การนำสุนัขดมกลิ่นมาใช้อาจเป็นทางเลือกในการช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีต้นทุนลดลง มีความเป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่าย ที่อาจเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยยับยั้งหรือชะลอการแพร่ระบาดของโรคไว้ได้

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคและเชื้อ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาก็คือการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่างๆ เป็นวิธีการคัดกรองเบื้องต้นและได้ผลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สุนัขที่ได้รับการฝึกมาแล้วสามารถทำสิ่งนี้ได้

ข้อมูลทางการแพทย์ที่สนับสนุนวิธีการดังกล่าวนี้ อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าในอดีตที่ผ่านมา วงการแพทย์เคยมีการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาผู้ป่วยในหลายโรคมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคมาลาเรีย รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

การนำสุนัขดมกลิ่นมาช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาใช้ในประเทศไทย ดูจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการควบคุมและยับยั้งชะลอการแพร่ระบาดของโรคเมื่อคณะวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มแรกที่ได้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย ออกแบบการทดลองและทดสอบความแม่นยำของสุนัข ซึ่งพบว่าสามารถพิสูจน์ผลแม่นยำถึงร้อยละ 95

จุดเริ่มต้นการฝึกสุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 แบบไม่แสดงอาการ ที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัด ของการไม่สามารถแยกผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะอาการไข้ได้ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะใช้ศักยภาพของจมูกสุนัข ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ ซึ่งมากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า สามารถระบุสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย จากเหงื่อของผู้ป่วย ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อการใช้สุนัขดมกลิ่นจึงช่วยลดโอกาสในการเล็ดลอดของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่แสดงอาการ จากการคัดกรองด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิให้มีความแม่นยำในการคัดกรองสูงขึ้น

กระบวนการฝึกสุนัขเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการคัดแยกผู้ติดเชื้อเริ่มจากระยะแรกที่จะให้สุนัขจดจำกลิ่นเหงื่อใต้รักแร้ที่ดูดซับโดยแท่งสำลี และกลิ่นเหงื่อจากถุงเท้าของผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 และคนปกติที่ได้รับการยืนยันผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR แล้ว โดยมีทีมแพทย์และสัตวแพทย์ดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ แม้ว่าในเหงื่อจะไม่มีเชื้อไวรัส แต่ก็ได้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในเหงื่อด้วยวิธีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ผลการทดสอบพบว่าสุนัขทั้ง 6 ตัวที่ได้รับการฝึกฝนก่อนออกไปปฏิบัติงานจริง มีความไวในการตรวจหาตัวอย่างบวก (Sensitivity) หรือ การดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลบวกได้ถูกต้อง เฉลี่ยร้อยละ 97.6 และความจำเพาะในการดมกลิ่น (Specificity) หรือการดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลลบได้ถูกต้องเฉลี่ยร้อยละ 82.2 ทำให้ได้ค่าความแม่นยำ (Accuracy) สูงถึงร้อยละ 94.8 ซึ่งใกล้เคียงกับผลการวิจัยในประเทศเยอรมนีที่พบว่า สุนัขมีความแม่นยำในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 94

การคัดเลือกสุนัขดูจะเป็นความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง โดยคณะผู้วิจัยได้เลือกสุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) เนื่องจากมีโพรงจมูกยาวทำให้มีประสาทการดมกลิ่นที่ดี โดยคัดเลือกมาจากฟาร์ม จำนวน 6 ตัว เป็นสุนัขที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกใดๆ อายุประมาณ 6-7 เดือน มาทำการฝึกในการวิจัยครั้งนี้ โดยมีการใช้เทคนิคเฉพาะสองอย่าง คือ เทคนิคสลับตัวอย่างกลิ่นเหงื่อ และเทคนิคความแม่นยำในการจดจำกลิ่นเหงื่อของผู้ป่วย โดยนำแท่งสำลีซับเหงื่อของทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเหงื่อของคนปกติไปบรรจุในขวดแก้ว หลังจากนั้นจึงนำไปติดตั้งบนอุปกรณ์เพื่อใช้ทดสอบสุนัข เมื่อสุนัขได้กลิ่นเหงื่อของผู้ป่วย COVID-19 สุนัขจะนั่งลงทันที

กระบวนการในการฝึกฝนสุนัขให้มาทำหน้าที่แบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเผชิญกับงานหนักรอบด้าน ดูจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและได้ผลดี ในลักษณะที่พร้อมจะนำเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติงานภาคสนามอย่างจริงจังในอีกไม่นานนี้ หากแต่ก่อนหน้านี้อุปสรรคและปัญหาใหญ่ในการฝึกสุนัขดูเหมือนจะซ่อนอยู่กับคำว่า กลิ่น COVID เพราะไม่มีใครรู้ว่ากลิ่นนั้นเป็นอย่างไร และถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้ทำการวิจัยทดลอง และผู้ฝึกสอนสุนัข ซึ่งเทคนิคในการสลับเชื้อดม และสังเกตอาการสุนัข ต้องใช้ความชำนาญของผู้บังคับสุนัขไปพร้อมกัน

ความสำเร็จของโครงการวิจัยที่นับว่าเป็นต้นแบบในการฝึกสุนัขเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรกของประเทศไทยนี้ ทำให้มีความคาดหวังว่าจะมีการต่อยอดฝึกสุนัขเพื่อตรวจโรคอื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ซึมเศร้า มาลาเรีย และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอาจเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการบริหารจัดการงานด้านการสาธารณสุขของไทย

อย่างไรก็ดี ความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของสุนัขจากโครงการวิจัยดังกล่าวปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 เพราะผลของการฝึกสุนัขในกลุ่มนี้ยังเป็นเพียงข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ขณะที่การไปปฏิบัติงานจริงๆ ในภูมิประเทศและสถานการณ์ที่ต่างออกไป อาจทำให้ได้ผลที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง หากแต่คณะผู้วิจัยยังเชื่อมั่นและมั่นใจว่าผลความแม่นยำจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

การดำเนินงานในระยะที่สองนับจากนี้ ว่าด้วยการนำสุนัขไปปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม ภายใต้ความมุ่งหวังว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ จะช่วยให้มีเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือโรค COVID-19 เชิงรุกที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงช่วยลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จุดคัดกรองโรคในพื้นที่สาธารณะต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงการขยายการฝึกฝนสุนัขในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่มีอยู่เพียง 6 ตัวในปัจจุบัน

ความเป็นไปของสุนัขในฐานะที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น Human’s best friend หรือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ กำลังจะขยายบทบาทไปสู่การชะลอความรุนแรงของมหันตภัยโรคร้าย COVID-19 ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก แต่จะสามารถปฏิบัติงานได้จริงอย่างมีความแม่นยำและทันต่อสถานการณ์ที่กำลังก้าวสู่ภาวะวิกฤตหรือไม่ นับเป็นความท้าทายที่น่าติดตามไม่น้อยเลย

ใส่ความเห็น