วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > COVID ระบาดในเรือนจำ ความล้มเหลวการควบคุมโรคของรัฐ

COVID ระบาดในเรือนจำ ความล้มเหลวการควบคุมโรคของรัฐ

ขณะที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และติดตามมาด้วยการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจากการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนหรือ cluster ที่กระจายตัวอยู่ในแหล่งชุมชนจำนวนมาก กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพและประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของกลไกภาครัฐ

กรณีดังกล่าวเกี่ยวเนื่องไปถึงการบริหารจัดการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของวัคซีนที่เคยได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ว่าแท้จริงแล้วสังคมไทยยังจะสามารถให้ความมั่นใจและหวังพึ่งพาวัคซีนที่มีอยู่ได้มากน้อยเพียงใด

หากแต่ประเด็นที่ทำให้การแพร่ระบาดระลอกใหม่สั่นสะเทือนความมั่นใจและความรู้สึกของผู้คนทั่วไปในสังคมไทยมากอีกประการหนึ่งอยู่ที่การแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่เรือนจำในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งพบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวันด้วยอัตราเร่ง และกลายเป็นกลุ่มก้อนที่มีความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ชะตากรรมที่ผู้ต้องขังต้องเผชิญอยู่ในเรือนจำของไทยเช่นนี้ ในด้านหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ระบบงานด้านสาธารณสุขในเรือนจำก็เป็นประหนึ่งแหล่งเพาะพันธุ์โรคที่มีความเปราะบางอยู่เสมอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ หวัด หรือแม้กระทั่งโรคตาแดง ซึ่งพบว่าอัตราคนที่มีปัญหาสุขภาพในเรือนจำมักอยู่ในเกณฑ์ที่สูงว่ากลุ่มประชากรทั่วไปในพื้นที่เดียวกันเสมอ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ทำให้เรือนจำเป็นประหนึ่งแหล่งเพาะและกระจายเชื้อโรค เพราะคนจากชุมชนยากจน ซึ่งมีมาตรฐานระบบสาธารณสุขต่ำ มีแนวโน้มจะต้องเข้าสู่กระบวนการรับโทษในเรือนจำมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นมาก และเมื่อเข้าไปในเรือนจำก็ไม่ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และอาจนำโรคติดตัวนั้นไปแพร่ระบาดขณะถูกคุมขัง ก่อนจะนำเชื้อต่าง ๆ วนกลับออกมาแพร่ในชุมชนยากจนอีกรอบเมื่อได้รับการปล่อยตัว

ทัศนะที่ผู้คนส่วนใหญ่ประเมินและมองเรือนจำในฐานะที่เป็นสิ่งที่แยกออกจากชุมชนของพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปที่เกิดหรือกำลังเกิดขึ้นหลังผนังและซี่กรงที่คุมขังผู้ต้องราชทัณฑ์ กลายเป็นมายาภาพที่ทำให้ความเป็นไปในเรือนจำถูกละเลยและไม่ได้นึกกังวลถึง ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่เรื่องที่พึงประสงค์เลย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำไม่ได้จำกัดผลอยู่เพียงในขอบเขตของกำแพงเรือนจำเท่านั้น หากมีผลเกี่ยวเนื่องสู่สังคมภายนอกอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีของการแพร่ระบาด COVID-19 ในปัจจุบัน

จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่ติดเชื้อรายใหม่ ตามรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในวันเดียวรวม 1,243 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อสะสมรวม 19,753 คนจากจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 311,644 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อในสัดส่วนร้อยละ 6.34 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์รวม 17,138 ราย โดยมีเรือนจำและทัณฑสถานที่มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 14 แห่ง

ข้อน่าสังเกตจากจำนวนตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 2 หมื่นรายดังกล่าวนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทั้งระบบของไทยที่มีอยู่ในระดับประมาณ 1.38 แสนราย หมายความว่าผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ COVID-19 มีสัดส่วนเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 14.3 ของผู้ติดเชื้อในสังคมไทยทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 1.7 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 37.86-38.5 ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่กำลังรักษาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 หมื่นรายอีกด้วย

มาตรการเร่งด่วนที่กรมราชทัณฑ์ควรเร่งดำเนินการนอกจากการคัดแยกกักตัวอย่างผู้ติดเชื้อแล้ว คือการให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงชุดตรวจเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามหนักไปกว่าที่เป็นอยู่เพราะขณะนี้ไม่อาจรู้ได้เลยว่าในหมู่ผู้ต้องขังที่กักตัวด้วยกันอยู่มีใครติดเชื้อแล้วบ้าง

ขณะเดียวกันควรลดความแออัดภายในเรือนจำโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ประกันตัวในคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ รวมถึงการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งควรได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามหลักการสากล ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ควรถูกคุมขังรวมกับผู้ต้องขังที่ตัดสินแล้ว หรือมีบทลงโทษแล้ว

ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศที่มีอยู่รวม 310,830 ราย มี 59,995 ราย หรือร้อยละ 19.3 ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ไต่สวน-พิจารณา และอุทธรณ์-ฎีกา นอกจากนี้ในจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 252,749 ราย ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งการแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องคดียาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดไม่สามารถแก้ได้โดยเพียงการนำเอาคนเข้าคุก หากแต่ต้องแก้ไขในเชิงนโยบาย

กลไกในการนำผู้คนชายขอบที่มักจะมีประวัติพื้นเพที่ยากลำบากอยู่แล้ว ซึ่งอาจก่ออาชญากรรมด้วยการต้องพึ่งยาเสพติด หรือมีปัญหาทางจิต หรือมีความพิการด้านกระบวนการรับรู้ ไปใส่ไว้ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จาก COVID-19 กำลังซ้ำเติมให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำมีความซับซ้อนและหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สังคมหลายรายเสนอว่า เราคุมขังผู้คนมากเกินไป ซึ่งการทบทวนและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคือการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้คน ไม่ใช่เพียงจับพวกเขาไปใส่ในกระบวนการยุติธรรม หากแต่ควรจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่พวกเขาต้องการเพื่อจะอยู่ในสังคม ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้ความไม่พึงประสงค์เช่นว่านี้เกิดขึ้นอีก และเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตนี้อีกหากเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้งในอนาคต

นอกจากนี้ การบริหารจัดการพื้นที่ของเรือนจำอย่างสร้างสรรค์เพื่อจัดการกับปัญหาความแออัด ด้วยการจัดเป็นเรือนนอนชั่วคราวเพื่อลดความแออัดลงให้ได้ร้อยละ 50 ควบคู่กับการจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ควรสามารถจัดการได้ทันที เพราะสิ่งที่ต้องทำในขั้นต้นนี้คือการช่วยชีวิตให้ทุกคนปลอดภัยจาก COVID-19 เสียก่อน

ปรากฏการณ์ว่าด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าสังคมทั่วไปมีความเข้าใจมากน้อยอย่างไรเกี่ยวกับคำว่าเรือนจำ ว่าคืออะไร และมีไว้เพื่ออะไร หรือเรือนจำควรเป็นอย่างไร ซึ่งผลจากความเข้าใจที่มีอยู่จำกัดนี้ ทำให้ปัญหาที่คิดว่ากำลังแก้อยู่แย่ลงไปกว่าเดิม และการระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำ เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิกฤตในการบริหารจัดการของกลไกรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

บทเรียนที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ต้องขังสูงประเทศหนึ่งอยู่ที่ การที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) จัดให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก ๆ เทียบเท่ากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา เป็นผลให้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำสหรัฐฯ เริ่มน้อยลงแล้ว

ขณะเดียวกัน The Covid Prison Project รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าข้อมูลที่มีจากรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชากรทั่วไปในสหรัฐฯ ที่ได้วัคซีนเข็มแรกแล้วคิดเป็นร้อยละ 48 ขณะที่ผู้ต้องขังได้วัคซีนเข็มแรกแล้วคิดเป็นร้อยละ 56 แม้ว่าอัตราการให้วัคซีนในเรือนจำของแต่ละรัฐอาจจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก โดยในรัฐแอละแบมาอยู่ที่ร้อยละ 20 ส่วนรัฐแอริโซนาอยู่ที่ระดับมากถึงร้อยละ 76

ความเป็นไปของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังในเรือนจำของสหรัฐอเมริกา ดูจะห่างไกลจากความคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นจริงในบริบทของสังคมไทย เพราะความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนในสังคมไทยในห้วงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน และประชาชนโดยทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยซ้ำ การจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังที่ได้รับการประเมินว่าเป็นบุคคลชั้นสองชั้นสาม หรือแม้กระทั่งบุคคลไม่พึงประสงค์จึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้จึงอยู่ที่ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำของไทยนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ก่อให้เกิดปัญหาและผลักให้ระบบสาธารณสุขของไทยเข้าสู่ภาวะล่มสลายในอนาคตหรือไม่ ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการพิสูจน์ศักยภาพและความสามารถในการบริหารราชการยามวิกฤตของรัฐนาวาที่กำลังลอยเคว้งอยู่ในท่ามกลางมรสุมและคลื่นลมที่กำลังถาโถมอย่างรุนแรงอยู่นี้

ใส่ความเห็น