ความเป็นไปของการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลให้เกิดความตระหนกและความกังวลใจว่าด้วยความรุนแรงและรวดเร็วของการแพร่ระบาดครั้งใหม่ท่ามกลางกระแสข่าวว่าด้วยการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสแล้ว ความล่าช้าของระบบการจัดการและกระจายวัคซีนซึ่งหลายฝ่ายหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างความมั่นใจและนำพาเศรษฐกิจสังคมไทยให้กลับมาฟื้นคืนชีวิตได้โดยเร็วอีกครั้ง ก็ดูจะอันตรธานหายไปพร้อมกับสายลมร้อนแห่งคิมหันตฤดูด้วย
การระบาดระลอกใหม่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการของรัฐที่เคยวางไว้ว่ามีผลต้องเลื่อนหรือระงับออกไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการที่จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เดินทางเข้ามาภายใต้มาตรการผ่อนปรนด้วยหวังว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หรือการกระตุ้นให้ประชาชนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อเสริมพลวัตทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไป กลับต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงันไปโดยปริยาย
มาตรการของรัฐไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้าม รวมถึงการขอความร่วมมือ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาตกอยู่ในภาวะจมปลักชะงักงันในลักษณะที่ไม่ต่างจากการติดหล่มขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้ นอกเหนือจากการจมดิ่งลงไปในบ่อโคลนที่ยากจะนำพาองคาพยพนี้ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้กลไกรัฐไทยเคยกำหนดแผนที่จะเปิดประเทศเป็น 4 ระยะด้วยการเริ่มจากระยะที่หนึ่ง ลดการกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ภายในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการหรือ “แอเรีย ควอรันทีน” (Area Quarantine) โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดและมีเอกสารรับรองฉีดโควิด และจะนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
ขณะที่แผนระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม จะเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว ก่อนเข้าสู่ระยะสาม เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่องที่เหลือ ไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนโควิด มีเอกสารรับรองฉีดวัคซีน ก่อนเข้าสู่ระยะสี่ จะเปิดประเทศอย่างเต็มตัว เริ่ม 1 มกราคม 2565 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต้องกักตัวใดๆ หากมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง
หากแต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ดูจะทำให้ความเป็นไปตามแผนงานดังกล่าวอยู่ในภาวะที่น่ากังวลว่าจะทำได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่เพราะความเชื่อมั่นว่าด้วยการเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 ของไทยกำลังถูกทำให้ตกต่ำลงอย่างหนักในช่วงระยะเดือนเศษที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวาดกังวลว่าด้วยสวัสดิภาพของประชาชนคนไทยที่กำลังถูกสั่งห้ามและต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความควบคุมเข้มงวดมากขึ้นทุกขณะ
ประเด็นที่น่าสนใจจากการระบาดครั้งใหม่ในประเทศไทยก็คือ การระบาดครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐในการจัดหาและกระจายวัคซีนต้าน COVID-19 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่แวดล้อมพบว่าประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 อยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ขณะเดียวกันประเทศที่มีสถานะเป็นคู่แข่งในตลาดท่องเที่ยวระดับนานาชาติกำลังดำเนินมาตรการที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศได้อย่างน่าสนใจและทำให้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นจุดมุ่งหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวที่โพ้นไปจากความน่าสนใจอย่างไม่อาจเลี่ยง
ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจดูจะเป็นตัวอย่างของการหยิบนำวิกฤตของการแพร่ระบาด COVID-19 มาเป็นโอกาสและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์ 3V ซึ่งประกอบด้วย Visit-Vaccinated-Vacation ที่ มัลดีฟส์นำมาเสนอใช้กำลังทำให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างเอิกเกริก
ภาพที่ปรากฏขึ้นในระดับสากลยิ่งไปกว่านั้นก็คือหลายประเทศในยุโรปกำลังจะเปิดให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่มีเอกสารยืนยันถึงการได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 เข้าสู่ประเทศในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยดูเหมือนว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะมีโอกาสฟื้นตัวไปอีกครั้งก็คงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายซึ่งอาจเนิ่นนานไปถึงต้นปี 2565 อีกด้วย
ผลกระทบของการระบาดระลอกที่ 3 นอกจากจะทำให้ธุรกิจร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากมาตรการของรัฐแล้ว การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังซ้ำเติมให้ธุรกิจการบินที่เดิมมีสภาพคล่องจำกัดอยู่แล้ว กำลังจะหมดลมหายใจหนักขึ้นไปอีก ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินต่างต้องเร่งหาแหล่งเงินทุนเข้ามาเสริมสภาพคล่อง รวมถึงบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่เพื่อต่อลมหายใจในการดำเนินธุรกิจให้ได้นานที่สุด โดยคาดว่าการหาแหล่งเงินใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินของภาครัฐและธุรกิจสายการบิน เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง จะมีมูลค่ารวมกันมากถึง 86,800 ล้านบาทเลยทีเดียว
การหาแหล่งเงินมาเสริมสภาพคล่องที่น่าสนใจส่วนหนึ่งอยู่ที่การเตรียมกู้เงินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยกู้ล็อตแรกไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและค่าใช้จ่ายของพนักงาน
ขณะที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เตรียมที่จะกู้เงิน 1,800 ล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย เพื่อมาเสริมสภาพคล่องในปี 2564 โดยจะเบิกเงินกู้มาใช้ในเดือนมิถุนายน ที่กำลังจะถึงนี้ และบางส่วนจะเก็บเป็นเงินสำรองเพื่อใช้ในช่วงต้นปี 2565
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการสายการบินซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องเช่นในกรณีของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็กำลังเจรจาเงินกู้จากสถาบันการเงิน วงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจการบินและฝ่าวิกฤต COVID-19 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์การบินจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะเป็นช่วงปี 2568 เนื่องจากกระแสเงินสด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีเหลืออยู่ประมาณ 2,100 ล้านบาทเท่านั้น
หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจและควรให้ความสนใจมากเป็นพิเศษอยู่ที่การหาแหล่งเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังต้องรอการประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ว่าจะผ่านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายเจ้าหนี้ยังคงต้องการให้กระทรวงการคลังเข้ามาเพิ่มทุน หรือให้รัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งกรณีดังกล่าวดูจะเป็นทางแพร่งแห่งอนาคตของการบินไทยซึ่งเคยมีสถานะเป็นสายการบินประจำชาติในห้วงเวลานับจากนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับการหาแหล่งเงินใหม่ของไทยแอร์เอเชียจำนวน 6 พันล้านบาท ดูจะเต็มไปด้วยกลไกของการเล่นแร่แปรธาตุจากการปรับโครงสร้างกิจการ และทุนของบริษัท โดยนำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนที่บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และการดึงกลุ่มนักลงทุนใหม่มาปล่อยกู้ให้ ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่า ไทยแอร์เอเชีย จะได้รับเงินก้อนแรกเข้ามาในช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยเป็นเงินจากนักลงทุนซึ่งเป็นบุคคล และไม่ได้อยู่ในแวดวงการบิน โดยจะปล่อยกู้ให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย 3,150 ล้านบาท ก่อนที่จะแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้ เป็นหุ้นสามัญของ TAA ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้
ขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) รวมถึงการโอนหุ้นของผู้ถือหุ้นจาก AAV มาอยู่ที่ไทยแอร์เอเชีย ในราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้ได้เงินอีกราว 2,757 ล้านบาท รวมจำนวนเงิน 5,907 ล้านบาท ไม่รวม ESOP (การออกเเละเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้เเก่ผู้บริหารระดับสูงของ TAA) ซึ่งจำนวนเงินเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ไทยแอร์เอเชียอยู่รอดได้ โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี
กระนั้นก็ดี ใช่ว่า ไทยแอร์เอเชีย จะปลอดจากผลกระทบของการระบาดระลอกที่ `3 ของ COVID-19 โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดก็คือการใช้เครื่องบินทำการบินได้เพียง 15 ลำจากที่ก่อนหน้านี้ไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบินใช้งานมากถึง 40 ลำ ซึ่งหากประเมินในมิตินี้เท่ากับว่าลดหายไปกว่าร้อยละ 60 จากจำนวนผู้โดยสารในประเทศที่ลดลง มิพักต้องกล่าวถึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ยังเดินทางเข้ามาได้อย่างยากลำบาก
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในปัจจุบันอยู่ที่ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศรวม 6 สนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ล่าสุดลดต่ำลงเหลือวันละ 2 หมื่นคน และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะลดลงถึงจุดต่ำสุดเพียงวันละ 1.5 หมื่นคน ใกล้เคียงกับการระบาดระลอก 2 ช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยขณะนี้สายการบินได้ทยอยปรับลดเที่ยวบินในประเทศลงต่อเนื่อง
กรณีที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่งอยู่ที่ความเป็นไปของสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส ที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลได้นัดหมายในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ ขณะที่สายการบินถูกกระทรวงคมนาคมเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ เป็นเพราะไม่ได้ทำการบินมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จากผลกระทบของ COVID-19 และได้คืนเครื่องบินทั้ง 12 ลำให้แก่ผู้เช่าไปแล้ว พร้อมกับมีภาระหนี้กว่าพันล้านบาทจากการค้างค่าบริการต่างๆ ทั้งค่าสนามบิน มีการเลิกจ้างพนักงานไปมากกว่า 3 พันคน และยังค้างจ่ายค่าชดเชยพนักงานส่วนหนึ่งอยู่ โดยในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถทำการบินได้ เพราะผู้โดยสารเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งสายการบินให้บริการแบบเช่าเหมาลำ โดยก่อนเกิดโควิดทำการบินเข้าจีนกว่า 20 เมือง
สถานการณ์ของสายการบินในประเทศไทยส่วนใหญ่ ในห้วงปัจจุบันถูกบังคับให้สายการบินต้องลดปริมาณเที่ยวบินลงเหลือร้อยละ 40-50 โดยบางส่วนระงับการบินในบางเส้นทาง และบางส่วนยังคงทำการบินทุกเส้นทางไว้อยู่ โดยพยายามรักษาอัตราการบรรทุกเฉลี่ยให้ได้ร้อยละ 50 ขึ้นไป เพื่อรักษาสภาพคล่อง เนื่องจากที่ผ่านมาสายการบินได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน
ถึงที่สุดแล้วบางที COVID-19 อาจไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้น หากยังส่งผลต่อความเป็นไปและภูมิทัศน์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคตด้วยอีกโสตหนึ่ง