วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > ความเชื่อและความเป็นจริง วิ่งสวนทางในเศรษฐกิจไทย?

ความเชื่อและความเป็นจริง วิ่งสวนทางในเศรษฐกิจไทย?

ความพยายามของกลไกรัฐไทยที่จะกระตุ้นเร้าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวขึ้น ดูจะเป็นสิ่งที่ย้อนทางกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะแม้รัฐไทยจะพยายามสื่อสารว่าได้ตั้งเป้าหมายและต้องการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาเติบโตที่ระดับร้อยละ 4 โดยจะเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเร่งการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว

หากแต่จากการประเมินเศรษฐกิจไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กลับระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.6 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับร้อยละ 2.5-3.5 โดยไอเอ็มเอฟได้ชี้แนะให้รัฐไทยใช้นโยบายการเงินแบบเจาะจง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ด้วยการแก้ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ซึ่งจะขยายไปถึงธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าเอสเอ็มอี เช่น ภาคโรงแรม ที่จะเป็นการให้สินเชื่อใหม่ เชื่อมโยงไปกับโครงการโกดังเก็บหนี้ ซึ่งจะให้ธุรกิจที่เดินต่อไปไม่ได้ให้โอนธุรกิจไว้ที่โกดังก่อน และเมื่อมีความสามารถก็ให้กลับมาซื้อคืนในราคายุติธรรม

ต้องยอมรับว่าการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับร้อยละ 4 เป็นโจทย์ที่ท้าทายและหวังผลสัมฤทธิ์ได้ยากในภาวะเช่นนี้ หากแต่กลไกรัฐไทยยังคงผูกพันอยู่กับความเชื่อที่ว่าปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายเศรษฐกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้ จะมาจากการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวรับอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อประเทศไทยจะเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก ซึ่งถือเป็นความคาดหวังที่อยู่บนสมมุติฐานของความเชื่อ มากกว่าที่จะอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งการดูแลเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป

ฐานความคิดที่ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันมาตรการทางเศรษฐกิจในกลไกรัฐไทย ในด้านหนึ่งให้น้ำหนักอยู่กับการมาถึงและผลจากการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ให้กับคนไทย ซึ่งดูจะเป็นประหนึ่งแก้วสารพัดนึกที่ช่วยเยียวยาความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ โดยต่างหวังว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยระบบฐานรากที่จะมีเพิ่มมากขึ้น

ทัศนะดังกล่าวส่งผลให้กลไกรัฐไทยเชื่อว่าการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะทำให้มาตรการต่างๆ เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าเดือนเมษายนช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์นี้ กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฐานรากจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของกลไกรัฐไทย จะระบุว่าทิศทางเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวแน่นอน เนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อมั่น รวมทั้งศูนย์วิจัยหลายแห่งได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น ส่วนการออกมาตรการฟื้นฟูเพิ่มเติม หรือมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ต่อเนื่องหรือไม่นั้น ต้องรอผลการประเมินผลมาตรการเยียวยาที่ออกมาก่อนหน้า และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงกลับพบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมของกลไกภาครัฐในช่วงเวลานี้ดำเนินไปอย่างไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และต้องรอติดตามตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจก่อน ควบคู่กับการเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในไตรมาส 4 เศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่ประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศได้ โดยมีใบรับรองการฉีดวัคซีน เมื่อมีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ สายการบิน ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ก็จะมีรายได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่อของผู้เกี่ยวข้องในกลไกรัฐไทยที่พยายามเสริมสร้างความเชื่อมั่นทั้งที่ปราศจากมาตรการและกระบวนการฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมมานำเสนอในฐานะที่เป็นนโยบายสาธารณะอีกด้วย

กรณีดังกล่าวสอดรับกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างประเทศ ที่จัดทำเป็นครั้งแรก และสำรวจจากหอการค้าต่างประเทศในไทย 30 ประเทศ จำนวน 119 ราย ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2564 ซึ่งพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 29.8 ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 27.6 และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ 32.1 ซึ่งสะท้อนความกังวลใจต่อเศรษฐกิจไทยของนักธุรกิจต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นว่าด้วยกำลังซื้อในประเทศ การลงทุนจากต่างชาติ การท่องเที่ยว การนำเข้า-ส่งออก รวมไปถึงสถานการณ์ของราคาสินค้าและบริการ คำสั่งซื้อ ผลกำไร ค่าใช้จ่าย สภาพคล่องของธุรกิจ การจ้างงานและภาระหนี้สินของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ดีขึ้น และมีผลต่อความเชื่อมั่นอย่างไม่อาจเลี่ยง

ประเด็นสำคัญที่นักธุรกิจและผู้ประกอบการเรียกร้องต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน การผ่อนคลายการทำธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น การแก้ไขกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ การเปิดประเทศเพื่อดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านการเมือง ซึ่งประเด็นว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง ดูจะเป็นกรณีเปราะบางที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้เร่งแก้ไข เพราะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน หากการชุมนุมรุนแรงจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสงบ รับฟังทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสำรวจผลกระทบ COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจดีขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาคการค้าได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากมาตรการรัฐ และภาคท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นจากผลของวันหยุดยาว แต่ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อยังต่ำ สำหรับอุปสรรคสำคัญของการฟื้นตัว คือ กำลังซื้อที่อ่อนแอ การระบาดระลอกใหม่ โดยธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่าผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าระลอกก่อน ส่งผลให้ระดับการจ้างงาน และรายได้ของแรงงานดีขึ้น แต่ธุรกิจนอกภาคการผลิตมีแนวโน้มปลดคนงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว

ภาพสะท้อนความเป็นไปในเศรษฐกิจไทยที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือ ภายใต้แผน“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 ในปี 2580 โดย คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ย 15,000 ดอลลาร์ หรือ 450,000 บาทต่อคนต่อปี โดยมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 20 ปี หมายความว่า ตั้งแต่ปี 2561–2580 จีดีพีไทยต้องเติบโตไม่ตํ่ากว่าปีละร้อยละ 5 แต่ในช่วงระยะเวลา 3 ปีของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” กลับดำเนินไปอย่างล้มเหลว โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ เป็นไปในระดับที่ตํ่ากว่าแผนและเป้าหมายเกือบทั้งหมด

ประจักษ์พยานของความล้มเหลวของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถประเมินได้จากตัวเลขจีดีพีในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.1 จีดีพีปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ จีดีพีปี 2563 ติดลบถึงร้อยละ -6.1และรายได้ต่อหัวของคนไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็พลาดเป้า และกลับมีคนจนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

แม้ว่าความเชื่อมั่นจะเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดพลวัตในเชิงเศรษฐกิจ หากแต่ความเชื่อที่ปราศจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงมาเป็นองค์ประกอบก็อาจทำให้เกิดมายาภาพที่บิดเบือนและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือการกำหนดมาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์เบื้องหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผลดังเช่นที่กำลังดำเนินอยู่ในภาวะเศรษฐกิจสังคมไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน

ใส่ความเห็น