การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบกระเทือนต่อภาคเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ธุรกิจขนส่งพัสดุ หรือโลจิสติกส์ ที่ได้รับผลจากการปิดพรมแดนและการระงับการขนส่งสินค้าและพัสดุทางอากาศในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการหดตัวในธุรกิจโลจิสติกส์นี้มากกว่าร้อยละ 30-40 เลยทีเดียว
วิกฤตจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากการขนส่งทั้งทางบกในประเทศ และขนส่งข้ามแดนมีความล่าช้า จากการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ส่วนการขนส่งทางอากาศถูกระงับไปหลังจากที่ธุรกิจการบินไม่สามารถทำการบินได้ ซึ่งทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบด้านรายได้อย่างหนัก ขณะที่การขนส่งทางเรือได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังมีการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกอยู่บ้าง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2563 มีแนวโน้มจะหดตัวลงมากถึงร้อยละ 30-40 ซึ่งแม้ว่าการขนส่งหลายประเภทจะอยู่ในภาวะหดตัว แต่การขนส่งพัสดุ การขนส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ต่างๆ กลับมีการเติบโตสูงมาก สวนกระแสตลาดโดยรวม เนื่องจากห้างร้านปิดให้บริการ และการที่ประชาชนได้รับคำแนะนำให้อยู่บ้านเพื่อหยุดโรค ทำให้การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและบริการส่งตรงถึงบ้านปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ตัวเลขที่น่าสนใจในธุรกิจโลจิสติกส์อยู่ที่ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดขนส่งพัสดุในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากระดับ 18,000 ล้านบาทในปี 2559 มาสู่ระดับ 25,000 ล้านบาทในปี 2560 และพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วมาสู่ระดับ 35,000 ล้านบาทในปี 2561 ก่อนที่จะขึ้นสู่ระดับ 49,000 ล้านบาทในปี 2562 และมาสู่ระดับ 66,000 ล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับการเติบโตในอัตราที่ลดลงจากผลของสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนหน้า และผลพวงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งอย่างไม่อาจเลี่ยง
ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าที่ดูจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่กลุ่มลูกค้ายานยนต์ซึ่งไม่สามารถเดินสายการผลิตหรือเลื่อนการผลิตออกไป ขณะที่การส่งออกทางเรือลดลง เพราะตู้สินค้า วัตถุดิบต่างๆ มีปริมาณคงค้างมาก เนื่องจากการขนส่งจากจีนทำได้ไม่มาก ความท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์ในช่วงเวลาจากนี้ จึงอยู่ที่ระยะเวลาในการฟื้นตัว และหวังให้การจับจ่ายของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง
แนวทางการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ของแต่ละบริษัทในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางการมุ่งบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ในห้วงที่รายได้เข้ามาน้อย รวมถึงการยุติการจ้างงานภายนอกและเน้นการใช้บุคลากรภายในองค์กรให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ขณะเดียวกันยังต้องปรับตัวหันมาขยายธุรกิจขนส่งพัสดุ เดลิเวอรี่รับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างมาก ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยกระจายความเสี่ยง และขยายฐานสู่กลุ่มเป้าหมายลูกค้ารายย่อย (B2C) เพิ่มขึ้นด้วย
การปรับเปลี่ยนในพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้บริการธุรกิจ e-Commerce มากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการขนส่งในตลาดขณะนี้มีลักษณะการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน คือ เน้นที่ความเร็ว ความรับผิดชอบ และการตั้งราคาให้ต่ำเพื่อทำการแข่งขัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานมากขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจยังระบุด้วยว่าธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ ทั้งธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistic) และธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) มีรายได้ตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 57 และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 116
การเติบโตของธุรกิจขนส่งพัสดุดำเนินไปพร้อมกับแนวโน้มของการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบัน และยังได้แรงขับจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยผู้นำตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดกว่าร้อยละ 55 ยังเป็นไปรษณีย์ไทยขณะที่ Kerry Express ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสอง โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 และส่วนที่เหลือคือผู้ให้บริการรายใหญ่รายย่อย ทั้งจากต่างประเทศและของไทยที่ทยอยเข้ามาเปิดให้บริการในตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาส
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีของผลประกอบการของไปรษณีย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ไปรษณีย์ไทยมีรายได้ที่ 13,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 8 มีกำไรก่อนหักภาษี 1,200 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 โดยแบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ร้อยละ 53 และกลุ่มบริการไปรษณีย์ร้อยละ 29.7
มูลเหตุหลักที่ทำให้ไปรษณีย์ไทย มีกำไรลดลงในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคู่แข่งในทางตรงอย่าง Kerry J&T Flash BestExpress รวมถึงบริการส่งด่วนแบบ On Demand ที่ประกอบด้วย LINE MAN Grab และ GET รวมถึงผู้ให้บริการ e-Commerce รายใหญ่ที่เริ่มหันมาใช้การขนส่งของตัวเองมากขึ้น
ผลการศึกษาการประเมินการแข่งขันทางการค้าในธุรกิจโลจิสติกส์ และข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีโอกาสในการเติบโตมากกว่าปีละร้อยละ 5 โดยประเทศไทยยังมีภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางแห่งการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน แม้ในช่วง COVID-19 ธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอาจสะดุดจากนโยบายป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงกฎการขนส่งข้ามประเทศที่กดดัน แต่ในส่วนของธุรกิจขนส่งพัสดุรายย่อยภายในประเทศไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ตลาด e-Commerce ซึ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตตามไปด้วย
ธุรกิจขนส่งในปัจจุบัน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญทั้งในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการแข่งขันที่เสมอภาคจะยิ่งเร่งให้ทั้งในฝั่งบริษัทเอกชนรวมถึงองค์กรรัฐวิสาหกิจอย่างไปรษณีย์ไทย ต่างต้องปรับตัวเพื่อพร้อมที่จะแข่งขันช่วงชิงโอกาสเติบโตในตลาดนี้ต่อไป โดยสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปนับจากนี้อยู่ที่กฎระเบียบที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการค้า เปิดให้มีการแข่งขันในภาคธุรกิจที่เสมอภาค ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจรายใหญ่ รายเล็ก และรายย่อย รวมถึงผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดที่ควรคำนึงถึงนั่นก็คือ ผู้บริโภค
การปรับตัวของไปรษณีย์ไทย ในฐานะที่เป็นผู้นำในตลาดที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่การเร่งพัฒนาคลังสินค้าครบวงจร จากเดิมที่ไปรษณีย์ไทยเน้นขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ในปี 2564 ไปรษณีย์ไทยมีแผนที่จะดำเนินการด้าน Supply Chain ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ปัจจุบันมีการซื้อขายสิ่งของออนไลน์มากขึ้น
การทำคลังสินค้าครบวงจร จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้น ด้วยแนวคิด หยิบ-พิค-แพ็ก-แปะ-ส่ง ซึ่งบริการ Fulfillment แบบครบวงจร สามารถนำสินค้ามาเก็บไว้ที่คลัง เมื่อมีคำสั่งซื้อก็สามารถรวบรวมจัดส่งสินค้าได้ แผนงานดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2563 และจะค่อยๆ ขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด โดยนำพื้นที่ของไปรษณีย์มาปรับเป็นคลังสินค้าย่อย
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังเร่งรุกแผนการตลาดและการขายบริการระหว่างประเทศ โดยในปี 2564 จะเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ผ่านกลยุทธ์ด้านราคา และร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อยกระดับการให้บริการระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของการนำสินค้ากลุ่ม e-Commerce จากต่างประเทศเข้ามาจัดส่งในประเทศไทยเอง ก็จะมีการเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับธุรกิจ e-Commerce มากขึ้น โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องเสียภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มให้ง่ายยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังเพิ่มศักยภาพศูนย์ไปรษณีย์ชายแดน เพื่อเจาะตลาดขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการในการจัดส่งสินค้าข้ามแดนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยมีการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย อยู่เป็นประจำ แต่ในปี 2564 มีแผนที่จะยกระดับศักยภาพการให้บริการระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างคลังเก็บและจัดการสินค้าเพื่อรองรับสินค้าที่นำเข้าและส่งออกด้วยระบบออโตเมชัน โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีสินค้าเข้ามาจำนวนมาก
การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ เผชิญกับภาวะชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา หากแต่การปรับเปลี่ยนประพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce กำลังเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และติดตามมาด้วยการแข่งขันของผู้ประกอบการหลากหลายท่ามกลางโอกาสที่เปิดกว้างอยู่นี้