สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในยุคหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานกว่า 1 ปียังเป็นไปท่ามกลางความเปราะบางและไร้สัญญาณบวกที่จะพลิกฟื้นกลับมาโดยง่าย ขณะเดียวกันรายได้ครัวเรือนที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อนและได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ทำให้ต้องติดตามคุณภาพหนี้ในภาคครัวเรือนที่อาจด้อยลงในระยะต่อไป
ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลงและมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรค ขณะที่ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวน้อยลง และอาจทำให้ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่องมากขึ้น บางธุรกิจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้และต้องยุติกิจการไปโดยปริยาย
รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2563 ของไทยยังติดลบเพิ่มอีกร้อยละ 4.2 จากไตรมาส 3 ที่ติดลบในระดับร้อยละ 6.4 ส่งผลให้จีดีพีปี 2563 ติดลบร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนจีดีพีปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 2.5-3.5 หรือเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ประเมินไว้ในระดับ 3.5-4.5
ประเด็นดังกล่าวสะท้อนความชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ศักยภาพเต็มที่ และยังมีปัญหาความเสี่ยงอยู่มาก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปีนี้ด้วย ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับร้อยละ 2.5-3.5 ในปี 2564 เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวได้ร้อยละ 5.8 รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ กำลังซื้อในประเทศ และการปรับตัวตามฐานจีดีพีที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังดำเนินไปอย่างติดลบ เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งขยายตัวต่ำมากอยู่แล้วในระดับเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้น ก่อนที่จะเติบโตแบบติดลบถึงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 การคาดหมายว่าจีดีพีปี 2564 จะขยับขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 3 จึงยังเป็นการเติบโตที่ติดลบเมื่อเทียบกับระดับการเติบโตและพื้นฐานทางเศรษฐกิจปี 2563 และติดลบหนักขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นปัจจัยหลักทำให้กลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดำเนินไปอย่างยากลำบาก
ความถดถอยและชะงักงันของเศรษฐกิจไทยปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการเติบโตกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา เวียดนาม กลายเป็นประเทศเดียวที่ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้โดยมีจีดีพีขยายตัวในระดับร้อยละ 2.9 ขณะที่อินโดนีเซียมีจีดีพีติดลบที่ร้อยละ 2.1 มาเลเซียติดลบที่ร้อยละ 5.6 สิงคโปร์ติดลบร้อยละ 5.8 ประเทศไทยติดลบร้อยละ 6.1 และฟิลิปปินส์ติดลบร้อยละ 9.5
หากแต่ความเป็นไปในปี 2564 เศรษฐกิจของเพื่อนบ้านอาเซียนมีแนวโน้มที่จะพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ามาเลเซียจะขยายตัวร้อยละ 6.4 เวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.2 ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6.1 อินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6 โดยไทยคาดว่าจะขยายตัวในระดับร้อยละ 3 เท่านั้น
ความเชื่องช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินไปตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวในอัตราที่สูง ขณะที่ยังต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการกระจายวัคซีนในประชากรหมู่มากจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี 2564 ทำให้ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 อาจจะต้องใช้ระยะเวลาไปจนถึงปี 2565-2566 เลยทีเดียว
ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดในโลก ได้รับผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักจนทำให้จีดีพีปี 2563 หดตัวติดลบไปในระดับที่มากถึงร้อยละ 3.5 ทำให้มูลค่าจีดีพีสหรัฐอเมริกาหายไปกว่า 632,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะพลิกกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในรอบ 16 ปี และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 จากการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การใช้จ่ายในประเทศ และ ความคืบหน้าของการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันความเป็นไปของเศรษฐกิจ EURO Zone ในปี 2563 ก็ติดลบไปในระดับร้อยละ 6.8 แต่ในปี 2564 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.3 ส่วนเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ในปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.3 และในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.7 จากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
การฟื้นตัวของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและประเทศมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ดูจะสวนทางกับอนาคตและการเติบโตของประเทศไทยในยุคหลัง COVID-19 เพราะสำหรับประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ทั้งการอยู่ในภาวะหนี้สูง การลงทุนที่ลดลงต่ำความเสื่อมของมูลค่าของทุน การครอบครองกิจการแบบควบกิจการ และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น
การอยู่ในภาวะหนี้สูง ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หนี้รัฐบาล ที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤตที่รุนแรง ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องหากระแสเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่อง และทำให้มีการสั่งสมหนี้ ซึ่งหลังจากนี้แม้ธุรกิจจะอยู่รอด แต่เป็นการอยู่รอดที่เต็มไปด้วยหนี้ และจะส่งผลให้ความสามารถในการกู้เงินในอนาคตไม่ดีเท่าที่ควร การหาเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในอนาคตมีจำกัด ภาคครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปจากการว่างงาน จึงต้องลดการบริโภค ลดการออม กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินระยะยาว อาจต้องกู้เงินเพิ่มรวมถึงการกู้เงินนอกระบบอีกด้วย
การลงทุนที่ลดต่ำลง หลังจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ธุรกิจต่างๆ ลดการลงทุน สิ่งสำคัญคือ การลงทุนในครัวเรือน โดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) โดยที่ผ่านมานักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อเด็กไม่สามารถเรียนได้เต็มที่ และมีผลกระทบต่อทักษะความคิดในระยะยาว และส่งผลต่อรายได้ของเด็กและครอบครัวในระยะยาวเช่นกัน
ภาวะความเสื่อมของมูลค่าของทุน การที่ธุรกิจชะงักต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการ ทำให้ทุนต่างๆ ของธุรกิจเสื่อมค่าลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร สิ่งก่อสร้าง แต่เป็นการเสื่อมทางกายภาพ ไม่น่าห่วงเท่ากับการเสื่อมสภาพของทุนมนุษย์ โดยแรงงานต่างๆ ที่มีทักษะเฉพาะเจาะจงกับบริษัท การปิดกิจการทำให้ทักษะเหล่านั้นหายไป เมื่อกลับมาทำงานใหม่ต้องมีการ Re–Skill และ Up–Skill ขณะที่ทุนองค์กร (Organization Capital) ก็หายไปด้วย ทั้งในมิติของความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อทำธุรกิจ เมื่อปิดกิจการความสัมพันธ์เหล่านี้ก็หายไป ต้องสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
แผลเป็นว่าด้วยการครอบครองกิจการแบบควบกิจการ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้บางธุรกิจที่ในภาวะปกติมีผลประกอบการดี แต่ขาดสภาพคล่อง และจำเป็นต้องขายกิจการ ซึ่งมักโดนซื้อไปในราคาถูก ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวทางธุรกิจในอนาคต กรณีดังกล่าวเสี่ยงต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจที่ลดลง และกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
วิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนแต่ละแห่งอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตนี้ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งถือเป็นฐานรากของสังคมเศรษฐกิจไทย และเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคต
โจทย์เฉพาะหน้าของเศรษฐกิจไทยในห้วงปัจจุบันอยู่ที่การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินที่ไต่ระดับขึ้นจากปลายปี 2563 แม้ว่าตัวเลข NPL จะยังไม่สะท้อนออกมามากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ตาม
ท่ามกลางความเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทย ภาครัฐควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลังที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้พร้อมออกใช้ได้ทันทีหากจำเป็น เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้