“จงอย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ แม้แต่คำพูดของเรา จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยปัญญาและเหตุผลแล้ว”
สิทธัตถะ น่าจะถูกเรียกได้ว่าเป็นนักปฏิวัติเปลี่ยนแปลงหัวก้าวหน้าคนแรกๆ ของโลก เพราะไม่เพียงตั้งคำถามกับบรรทัดฐานความเชื่อเดิมของสังคม ระบบวรรณะที่แบ่งคนตามลำดับชั้นพร้อมกับสิทธิติดตัวแต่กำเนิด ความสมเหตุสมผลของการบูชายัญเทพเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ของสถานภาพบุคคลบางจำพวกเท่านั้น แต่สิทธัตถะลงมือเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมใหม่ตามความเชื่อของตัวเอง เรียกว่า สังคมสังฆะ เน้นภราดรภาพ ความเท่าเทียมกันของทุกคน ไม่ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิด แต่ประเมินคุณค่าของบุคคลจากการกระทำ
สิทธัตถะย้ำในหลายโอกาสว่า แนวคิดของเขาเน้นการปฏิบัติ ศึกษาทดลองด้วยตนเอง จนเป็นความรู้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง) เพราะแต่ละคนมีเหตุปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ย่อมไม่มีความรู้ชุดมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคน (One size fits all)
หากกล่าวในมิติของสถานภาพ ตำแหน่ง เจ้าชาย (Prince) ของสิทธัตถะ ได้เปรียบบรรดานักคิดนักปรัชญาร่วมสมัย เพราะได้ร่ำเรียนวิชาวิทยาการครบทุกด้าน มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น อยู่อย่างสุขสบาย แต่นั่นกลับทำให้เขาตั้งคำถามกับชีวิตมากยิ่งขึ้น ชีวิตคืออะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ทำไมหลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างมีความทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตาย เราจะหลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้ได้อย่างไร
สิทธัตถะปฏิวัติตัวเองครั้งแรกด้วยการทิ้งทรัพย์สมบัติ สถานภาพไว้เบื้องหลัง ออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์มีชื่อ จนสำเร็จวิชาสูงสุด เพียงเพื่อจะพบว่า มันยังไม่สามารถตอบคำถามในใจ เขาจึงต้องออกเดินทางค้นหาสิ่งที่อาจเรียกว่า สัจธรรม หรือความจริงแท้อีกครั้งโดยลำพัง เคี่ยวเข็ญเข้มงวดกับร่างกายและจิตใจ ถึงขั้นทรมานตัวเองเพื่อจะบรรลุถึงความรู้แจ้ง ที่สุดแล้ว เขาสามารถประกาศต่อโลกถึงสิ่งที่ค้นพบว่าคือ ธรรมะ และเขายังกล่าวว่า ธรรมะ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอาจจะเป็นผู้ค้นพบคนแรก และคนอื่นก็สามารถค้นพบด้วยตัวเองได้เช่นกัน
ธรรมะของสิทธัตถะคืออะไร
นักวิชาการตะวันตกหลายคนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่สิทธัตถะค้นพบนั้น เรียกว่า Liberating Insight (ความหลุดพ้น, ความรู้แจ้ง) พุทธทาสภิกขุเคยกล่าวว่า บทสรุปที่สั้นที่สุดในการอธิบายธรรมะของสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาภายหลังถูกเรียกว่า พระพุทธเจ้า คือ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
พุทธทาสย้ำว่า ทุกคำกล่าวของสิทธัตถะเสนอวนเวียนอยู่กับเรื่องเรื่องเดียว นั่นคือ “ความว่าง” อันหมายถึง ความว่างอย่างยิ่ง เหนือสุขและทุกข์
สิทธัตถะถือได้ว่าเป็นนักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) สิทธัตถะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ชาตินี้ ชาติหน้า จักรวาล เขาให้ความสำคัญต่อความจำเป็นเร่งด่วนเบื้องหน้า มากกว่าการไปหาคำตอบในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ความรู้ที่เขาค้นพบจะมีมากมายเหมือนกับใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่เขาต้องการพูดมีแค่ใบไม้ในกำมือเดียว นั่นคือเรื่อง ทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เท่านั้น
สิทธัตถะออกเดินทางเผยแพร่แนวคิดของตนกับหมู่คนทุกชนชั้น ตั้งแต่ยาจก ไปจนถึงพระราชา ปรับเปลี่ยนเนื้อหาการสั่งสอนไปตามแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น บรมครู ไม่แต่งตำราหรือบันทึกคำสอนของตัวเอง หากเป็นบรรดาลูกศิษย์จดจำเหตุการณ์ บทสนทนาถามตอบ ในหลายโอกาส กว่าจะรวบรวมเป็นหมวดหมู่ก็หลังจากสิทธัตถะลาจากโลกไป มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเป็นร้อยปี ทำให้มีข้อสงสัยกันว่า ข้อความใดเป็นข้อความที่สิทธัตถะได้เคยกล่าวไว้จริง ยังไม่นับถึงว่าศาสนาพุทธแบ่งเป็นนิกายจำนวนมาก ซึ่งต่างก็อ้างความจริงแท้ของฝ่ายตนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หลักการที่น่าจะเห็นตรงกันหลายฝ่ายคือ
“สรรพสิ่งในโลกนี้ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติสามประการ คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (อนิจจัง) นำไปสู่ความขัดแย้งที่อยากจะคงสภาพไว้ (ทุกขัง-ความหมายรวมทั้งความทุกข์ ความสุข) และสุดท้ายจะพบว่ามันไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยตัวมันเอง (อนัตตา) ศาสนาพุทธเรียก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่า ไตรลักษณ์
ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่อยู่บนเส้นทางค้นหาความดี ความงาม และความจริง โดยต้องระวังตนเองไม่ให้ตกอยู่ในแนวทางสุดโต่งสองข้าง คือ ปล่อยตัวเพลิดเพลินกับความสุขทางเนื้อหนังและทางใจ หรือ บังคับ เคี่ยวเข็ญ ทรมานตนทั้งกายและใจ หนทางที่ถูกต้องคือ ทางสายกลาง (The Middle path) หากแต่มิได้หมายถึงทางที่อยู่ตรงกลางตามตัวอักษร
ทางสายกลางคือทางที่มุ่งตรงไปหาความจริงแท้ หรือเรียกว่า มรรคแปด (The Eightfold path) สามารถกล่าวแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ หลักทางจริยศาสตร์ (Ethical conduct) ว่าด้วยเรื่องการควบคุมตนเอง และการปฏิบัติตนในสังคม เรียกว่าศีล ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา (Love) และกรุณา (Compassion)
ส่วนที่สอง เป็นเรื่องการฝึกฝนตนเองทางด้านจิตวิญญาณ คือการตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน(Mindfulness) ฝึกให้มีสติ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกทุกประเภทโดยไม่ตัดสินหรือให้คุณค่าดีเลว จนจิตนิ่ง เรียกว่า สมาธิ (Mental discipline) และพิจารณาเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ปัญญา (Wisdom)
หากเราใช้ชีวิตถูกต้องบนเส้นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาหรือมรรคแปด มีสติ และใช้ปัญญา พิจารณาเรื่องราวในชีวิตโดยยึดหลักกฎธรรมชาติหรือไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) ความจริงแท้ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ บางคนเรียกสภาวะนั้นว่า นิพพาน (Nirvana) ที่แปลว่าเย็น ทำให้บุคคลดำเนินชีวิตโดยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู
ในยุคของสิทธัตถะไม่มีคำว่า ศาสนา ทุกอย่างเป็นเพียงลัทธิ ซึ่งมีอยู่เป็นร้อยสำนักให้เลือกศึกษาตามความพึงพอใจ คราวหนึ่งสิทธัตถะเดินทางมาถึงแคว้นโกศล ชาวเมืองที่เรียกตัวเองว่าชาวกาลามะถามว่า เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคำสอนของใครถูกต้อง เพราะทุกคนที่มาต่างก็อ้างความถูกต้องของลัทธิตัวเองทั้งสิ้น สิทธัตถะให้แนวทาง “อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะ…” ซึ่งแนวทางสิบประการนี้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า “กาลามสูตร” โดยหนึ่งในสิบข้อนั้นคือ
“อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะผู้พูดคือพระพุทธเจ้า (สิทธัตถะ)”
สิทธัตถะเชื่อเรื่องปัญญาเหนือศรัทธา และศรัทธาก็ไม่ได้หมายความว่าความเชื่อ หากแต่คือความเชื่อมั่นในหนทางการดับทุกข์ หนทางแห่งความดีต่างหาก ซึ่งศรัทธาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับปัญญาเท่านั้น
สิทธัตถะไม่ได้เป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย (Pessimistic) ตามที่หลายคนเข้าใจเพียงเพราะพูดถึงเรื่องทุกข์ (Suffering) และการดับทุกข์ สิทธัตถะพูดถึงเรื่องสุขอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสุขที่ละเอียด สุขที่ประณีต สุขที่ปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว เขาสนับสนุนการมองโลกตามความเป็นจริง (Realistic) มากกว่า เพราะทั้งสุขและทุกข์อยู่ในสภาวะที่แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่เป็นดังใจเราปรารถนา (เรียกว่าทุกขัง) เราควรจะฝึกตัวเองให้ก้าวข้ามทั้งความสุขและความทุกข์ด้วยปัญญา เป็นผู้อยู่เหนือโลก (โลกุตระ)
จิตวิญญาณของสิทธัตถะเริ่มจากความเป็นขบถ ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ปราศจากเหตุผล แสวงหา เรียนรู้ ถากถางหนทางด้วยตัวเอง เพื่อไปสู่อิสรภาพ เข้าถึง ความดี ความงาม ความจริง เช่นเดียวกับปราชญ์ร่วมสมัย นอกจากนั้น เขายังเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และเข้าถึงความจริงแท้เท่ากันทุกคน ไม่เลือกชนชั้น วรรณะ อายุ และเพศสภาพ หากแต่ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น
Lao Zhuang (เหล่าจวง): เขียน
Bank Bamsha: ภาพ