วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > COVID ระลอกใหม่พ่นพิษ ฉุดความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทย

COVID ระลอกใหม่พ่นพิษ ฉุดความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทย

ผลจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 นอกจากจะส่งผลกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินไปของสังคมไทยอย่างกว้างขวางหนักหน่วงแล้ว ล่าสุดพิษของการระบาดครั้งใหม่นี้ได้ฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2563 ทรุดต่ำลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2563 ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 85.8 ลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงนี้ เป็นการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัดอีกด้วย

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการลดลงโดยเฉพาะ SMEs อย่างไม่อาจเลี่ยง นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดยังมีความล่าช้าเนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐไปโดยปริยาย

ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่าอยู่ที่ระดับ 87.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.0 ในเดือนตุลาคม 2563 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการอธิบายว่าเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับประโยชน์ ขณะที่เงินช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนและการใช้จ่ายในประเทศ

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ยังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดต่างประเทศ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการป้องกันโรค และคำสั่งซื้อล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนังฯ สินค้าเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนช่วงเดือนธันวาคมที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล

แม้ว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การกระเตื้องขึ้นทางเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกและรายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทำให้มีภาระต้องจ่ายอัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น

การสำรวจผู้ประกอบการ 1,258 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 70.5 โดยในมุมมองของผู้ส่งออกมีความกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 46.1, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 41.0, และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 40.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง เป็นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 55.0

ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายประเมินสถานการณ์ในอนาคตด้วยสายตาที่มีความเชื่อมั่นและเชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวสูงขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ขณะที่การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

แม้ว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะมีความเชื่อมั่นจากปัจจัยบวกที่แวดล้อมหลากหลาย แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาได้กลายเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ทรุดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนไปโดยปริยาย ซึ่งบ่งชี้ถึงความเปราะบางในเชิงจิตวิทยาว่าด้วยความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างชัดเจน

ความเป็นไปของดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นจากเหตุของการระบาดระลอกใหม่ หากแต่สถานการณ์โดยรอบที่ดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อย การว่างงานและถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของแต่ละครัวเรือน ดูจะเป็นบาดแผลที่รอรับการเยียวยาในระยะยาวอย่างเร่งด่วน

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งทำให้สังคมไทยยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว อีกด้านหนึ่งของเหรียญอาจมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2564ว่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากปี 2563 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 4-5 หลังจากที่ในปี 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะที่คาดว่าจะหดตัวมากถึงร้อยละ 8

ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 4-5 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าหดตัวร้อยละ 7 โดยการคาดการณ์ปี 2564 ดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยน 29-32 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทัศนะที่พยายามกระตุ้นเร้าความเชื่อมั่นโดยกลไกของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งได้ประเมินว่าแม้วิกฤต COVID-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบจบลงโดยง่าย แต่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะสามารถต่อยอดโอกาสไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนได้ โดยแผนของปี 2564 จะเร่งขับเคลื่อน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมปี 2564 จะเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโรค โดยอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์จะได้รับอานิสงส์ จากสถานการณ์เช่นว่านี้

ความเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม หรือความเชื่อมั่นของหน่วยงานรัฐที่ว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าวนี้ อาจไม่ได้เป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นของสังคมไทยที่กำลังอยู่ในภาวะที่ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกรัฐอย่างหนักอยู่ในขณะนี้

ใส่ความเห็น