เคทีซีต่อเวลามาตรการช่วยเหลือสมาชิกรับผลกระทบโควิด-19 ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ เปลี่ยนประเภทหนี้ ลดค่างวดและอัตราดอกเบี้ยฯ
เคทีซีขานรับธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายเวลามาตรการด้านสินเชื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ครอบคลุม 3 ธุรกิจหลัก บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยฯ เปลี่ยนประเภทหนี้ ลดค่างวดและอัตราดอกเบี้ยฯ
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งส่งผลกระทบกับธุรกิจน้อยใหญ่ ภาคประชาชนและสมาชิกของเคทีซีเอง และเพื่อร่วมสนับสนุนมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทฯ จึงขยายเวลามาตรการช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบต่อไปอีก ครอบคลุมทั้งสมาชิกบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ 3.4 ล้านบัญชีทั่วประเทศ ดังนี้ 1. ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจากเดิมร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 อัตราร้อยละ 8 ในปี 2565 และอัตราร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล “เคทีซี พราว” ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำร้อยละ 3 ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยที่สมาชิกไม่ต้องแจ้งความประสงค์เข้ามาที่บริษัท 2. เปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยหนี้บัตรเครดิตเปลี่ยนเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ยฯ 12% ต่อปี นาน 48 เดือน หนี้บัตรกดเงินสด ผ่อนผันการชำระเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ยฯ 22% ต่อปี นาน 48 เดือน โดยสมาชิกสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2564 – 30 มิถุนายน 2564 และ 3. ลดค่างวด 30% และอัตราดอกเบี้ยฯ ไม่เกิน 22% ต่อปี เป็นเวลา 6 รอบบัญชีหรือ 6 งวด สำหรับสมาชิกสินเชื่ออเนกประสงค์ “เคทีซี แคช” และสินเชื่อทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ที่มีสถานภาพบัญชีปกติ และไม่มียอดค้างชำระ โดยสมาชิกสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2564 – 30 มิถุนายน 2564”
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกลุ่มลูกหนี้สมัครเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างกับเคทีซีมียอดหนี้คงเหลือ 813 ล้านบาท (10,812 บัญชี)