สกสว.หนุนสตช.จัดทำคู่มือประชาชน ป้องกันภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติสกสว.หนุนรองผบ.ตร.และคณะ จัดทำ ‘คู่มือป้องกันภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติ: ฉบับประชาชน’ เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมข้ามชาติในยุคดิจิทัล พร้อมจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ และการบรรยายในหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารงานตำรวจ
พล.ต.อ. ดร.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจของไทยและการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลความปลอดภัยสาธารณะจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ” พร้อมด้วยคณะวิจัย และ ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมการเสวนาแถลงข่าวเปิดตัวคู่มือป้องกันภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติ สำหรับประชาชน ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมสาธิตการใช้เว็บไซต์และส่งมอบคู่มือเพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่แก่ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจภูธรภาค 1, 2 และ 7
ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ระบุว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่คนต่างชาติสามารถเดินทางเข้าและออกประเทศได้อย่างสะดวก มีค่าครองชีพไม่สูง การบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่เข้มงวดมากนัก สกสว.จึงสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกสถานภาพอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน วิเคราะห์ข้อเสนอแนะไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจของไทย ตลอดจนแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และสร้างตัวแบบเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียนหรือประเทศที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจัดทำข้อเสนอเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือ
ผลผลิตสำคัญจากโครงการวิจัยดังกล่าว คือ การจัดทำคู่มือฉบับประชาชนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง เรื่องสถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติในยุคดิจิทัล ภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญในประเทศไทยกับการป้องกันตนเองของประชาชน สวัสดิภาพความปลอดภัยในโลกวิถีชีวิตใหม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง และรู้จักวิธีการป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมข้ามชาติ
ด้าน พล.ต.อ.ดร.ปิยะ เผยว่า ได้ศึกษาแนวทางการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเป็นกรณีศึกษาแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ขององค์กรตำรวจ ความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา และการปฏิบัติด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สภาพปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศสมาชิกอาเซียนและต่างประเทศ การปฏิบัติงานควบคุมชายแดนในพื้นที่ภาคใต้ การปฏิบัติงานป้องกันปราบปราม ข้อเสนอแนะการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจ และการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ยังสำรวจสภาพอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน รูปแบบการกระทำผิดของอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและส่งผลต่อประชาชนโดยตรง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สารพัดกลอุบายหลอกลวง (scam) ทางออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แชร์ลูกโซ่ จดหมายรักลวงโลก (romance scam) การฉ้อโกงผ่านอินเทอร์เน็ต เงินกู้นอกระบบออนไลน์ 2. ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดน เช่น ค้ามนุษย์ โจรกรรมรถ ยาเสพติด 3. เครื่องมือของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การปลอมแปลงเอกสาร การฟอกเงิน ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจและการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศอาเซียน ได้แก่ ข้อเสนอด้านการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจ การยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรตำรวจประเทศสมาชิกอาเซียน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
สำหรับการบริหารจัดการงานตำรวจเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการงานตำรวจของไทย 2) ความร่วมมือระหว่างตำรวจต่างประเทศ 3) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับคดีอาชญากรรมข้ามชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานระหว่างประเทศ 4) ปัญหาข้อขัดข้องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแต่ละประเภท ทั้งนี้ ผลการวิจัยได้ถูกนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายด้านการป้องกันปราบปราม และการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติในความรับผิดชอบของหัวหน้าโครงการวิจัย นอกจากนี้ยังจัดทำเว็บไซต์ http://tcpguide.police.go.th/ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความตระหนักรู้ คำแนะนำสำหรับการป้องกันตนเอง และเผยแพร่ผลการวิจัยออกสู่สาธารณะ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการบรรยายในหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารงานตำรวจ หลักสูตรต่าง ๆ ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และหลักสูตรอื่นที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ