วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > เตรียมพร้อมรับมือโลกหลังวิกฤติโรคระบาดด้วยเทคโนโลยี

เตรียมพร้อมรับมือโลกหลังวิกฤติโรคระบาดด้วยเทคโนโลยี

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับโรคระบาดโดยไม่มีใครคาดคิด เทคโนโลยีถูกนำมาช่วยแก้ไขวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการแพทย์ การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป และคาดการณ์ว่าเทคโนโลยียังจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญของโลกหลังภาวะการโรคระบาดอีกด้วย ภายในงานสัมมนาหัวข้อ “Beyond the Pandemic: A Decade of Challenges from 2021” นายไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล หัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงแนวทางการปรับวิธีดำเนินธุรกิจในโลกหลังโควิด-19 ว่า “สิ่งที่ภาคธุรกิจควรคำนึงถึงคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรและการดำเนินธุรกิจจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด” โดยเทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนเครื่องมือผลักดันสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G เป็นลำดับที่ 3 – 4 ของโลก หากในปี พ.ศ. 2564 มีการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบดิจิทัล จะนำมาซึ่งประโยชน์มากมายที่ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และการสาธารณสุข”

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยให้ข้อมูลว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่าน QR Payment หรือธุรกิจ Food Delivery นอกจากนี้ หลายองค์กรเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการทำงานทางไกลและการประชุมออนไลน์ ซึ่งเร่งให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะและเทคโนโลยีคลาวด์ที่สนับสนุนการทำงานทางไกลที่ต้องอาศัยความเร็วและความหน่วงต่ำ เป็นตัวอย่างของการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connection) ที่จะทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับด้านการสาธารณสุข ในหลายประเทศก็เริ่มมีการผ่าตัดจากระยะไกลด้วยโครงข่ายเทคโนโลยีที่มีแบนด์วิดท์สูงขึ้นเพื่อเพิ่มความคมชัด รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่สามารถประมวลผลและตัดสินใจได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กับทั้งชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจึงจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภูมิภาครวมถึงยุคเทคโนโลยีอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบ

นอกจากภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว การวางรากฐานด้านโครงสร้างต่าง ๆ ของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศเช่นกัน ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งต้องมีเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกลไกหลักของการขับเคลื่อน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สังคมไทยในทุกภาคส่วนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ได้เป็นอย่างดี และในอนาคตการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี (Transfer of Technology) จะไม่จำกัดแต่เพียงการหยิบยืมหรือซื้อขายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะยังคงทรงตัว แต่กลับกลายเป็นโอกาสในการให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทั้งในภาคสาธารณสุข ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับสภาวการณ์ใหม่ของ โลกในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต

ใส่ความเห็น