ข่าวการลักลอบกลับเข้าเมืองไทยอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติของแรงงานชาวไทยที่ไปทำงานอยู่ในเมียนมาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พร้อมกับข่าวการพบเชื้อ COVID-19 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้างจนมีสถานะที่เป็น super spreader ที่ยากจะควบคุมพื้นที่ในการสกัดและป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ กำลังเป็นภาพสะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการของกลไกภาครัฐว่าหย่อนยานและมีความบกพร่องอย่างไร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. พยายามเน้นย้ำในมาตรการป้องกัน ควบคู่กับการสร้างมายาภาพให้ COVID-19 เป็นประหนึ่งปิศาจร้ายที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมด้วยช่วยกันสกัดกั้นและควบคุมอย่างเข้มงวด จนนำไปสู่มาตรการปิดเมือง ระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางหลากหลายเป็นระยะเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดเหล่านั้นให้คลี่คลายเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ในสังคมไทยอย่างช้าๆ ท่ามกลางข้อเท็จจริงว่าด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจเบื้องต้นที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องสูญเสียอีกเป็นจำนวนเท่าใดในการฟื้นฟูกลไกเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดำเนินไปข้างหน้าอีกครั้ง
ท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวดเกินกว่าที่ควรหรือเกินความจำเป็นในช่วงก่อนหน้า ทำให้เสียงเรียกร้องในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มระดับความดังขึ้นเป็นระยะ ขณะที่กลไกรัฐไทยเริ่มตระหนักถึงความชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการควบคุมที่ห่มคลุมด้วยมายาภาพของปิศาจร้าย COVID-19 เริ่มออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายในทุกระดับและกระจายออกไปสู่ต่างจังหวัดไม่ว่าเป็นโครงการออกไปเที่ยว ไปเที่ยวด้วยกัน ด้วยหวังว่าโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในลักษณะเช่นนี้จะช่วยนำพาและกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สูญเสียรายได้อย่างหนักตลอดระยะเวลาที่รัฐห้ามการเดินทางและการปิดประเทศที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหดหายไปจากภูมิทัศน์การท่องเที่ยวของไทย
ความพยายามของรัฐไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจดำเนินไปไกลถึงขนาดที่ยอมผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเดินทางเข้าประเทศได้ด้วยช่องทางพิเศษหรือที่เรียกว่า special tourist visa ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องพำนักในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน หรือ long stay ตามมาตรการผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาลและฤดูการเดินทางท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการลักลอบกลับเข้าเมืองไทยอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติของแรงงานชาวไทย แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และอีกหลายจังหวัดดูจะกำลังได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนปรนและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐไม่น้อยจากข้อเท็จจริงที่ว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับช่วงฤดูหนาวหรือช่วงปลายปี และถือเป็นช่วงเวลา high season ที่พร้อมจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและหมุนเวียนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
หากแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าด้วยการแพร่ระบาดครั้งใหม่โดยกลุ่มคนที่หลบหนีเข้าเมืองเข้ามาในพื้นที่ ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะตื่นตัวและกลับมาคึกคักสะดุดชะงักลงเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลของทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว จนทำให้บางส่วนระงับหรือยกเลิกการเดินทางไปชั่วคราว
ความเปราะบางของสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้นในด้านหนึ่งสะท้อนภาพความตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้เห็นถึงผลพวงของมายาภาพว่าด้วย COVID-19 ที่ ศบค. ได้สร้างทิ้งไว้ จนเป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากต้องออกมาชี้แจงว่าการระบาดครั้งใหม่ไม่ได้รุนแรง พร้อมกับเรียกร้องให้สาธารณชนอย่าตื่นตระหนก และการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปได้
วาทกรรม “การ์ดอย่าตก” ที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ถูกตั้งคำถามว่าควรเป็นถ้อยความที่ย้ำสำนึกตระหนักของใคร หรือความรับผิดชอบของหน่วยงานประเภทใด เพราะการเรียกร้องให้ประชาชนมีสำนึกควรตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าหน่วยงานรัฐซึ่งมีบทบาทหน้าที่และบริหารจัดการกลไกควบคุมอยู่เต็มกำลังนั้น ได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทิศทางใด
การลักลอบกลับเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานไทยจนนำไปสู่การสืบทราบและสืบสวนโรค COVID-19 เกิดขึ้นเมื่อแรงงานไทยเหล่านี้แสดงอาการเจ็บป่วยและเข้าตรวจรักษาเบื้องต้นในสถานพยาบาลตามปกติก่อนที่จะพบว่าพวกเขาติดเชื้อ และมีโอกาสที่ตลอดระยะเวลาก่อนหน้านี้อาจมีการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงหรือกระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่นๆ ที่ร่วมใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแล้ว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแพร่ระบาดของโรคผ่านการลักลอบเข้าเมืองในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ในอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ช่องทางธรรมชาติที่แรงงานไทยกลุ่มนี้ใช้เป็นเส้นทางเข้าเมือง ถือเป็นเขตชุมชนที่ผู้คนทั้ง 2 ฝั่งประเทศติดต่อทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันมีภูมิประเทศส่วนหนึ่งเป็นป่าเขาโดยมีเทือกเขาดอยนางนอนเป็นเขตแดนฝั่งไทย และยังมีลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก เป็นเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางน้ำมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก 2 จุดคือตรงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 และจุดผ่อนปรนอีกหลายแห่ง สร้างมูลค่าการค้าระหว่างกันปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ไทยและเมียนมาปิดชายแดนระหว่างกันโดยเหลือเพียงสะพานแห่งที่ 2 เพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้น ทำให้แนวป่าเขา-ลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ที่ผู้คนเคยขับรถข้ามไปมาตามจุดผ่อนปรนค่อนข้างอิสรเสรีกลายเป็นจุดต้องห้าม ขณะเดียวกันก็กลายสภาพเป็นจุดที่มีการลักลอบข้ามไปมาของผู้ที่มีผลประโยชน์จากธุรกิจใต้ดินบริเวณชายแดน โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้า “ยาเสพติดและสินค้าหนีภาษี” โดยเฉพาะยาเสพติดนั้นมีความพยายามลักลอบนำเข้าสู่ประเทศไทยตลอดแนว ไม่ได้มีเพียงชายแดนด้านอำเภอแม่สายเท่านั้น แตกต่างจากสินค้าหนีภาษีที่มักลักลอบนำเข้าใกล้กับเส้นทางที่มีขนส่งสินค้าจำนวนมากๆ ซึ่งพื้นที่ลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ระหว่างอำเภอแม่สาย กับ จังหวัดท่าขี้เหล็กของเมียนมา
พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นขุมทองชั้นดีของกลุ่มขบวนการ เพราะภายใต้สภาพชุมชุนที่หนาแน่นทางต้นน้ำผ่านสะพานแห่งที่ 1 ไปจนสุดเขตเทศบาล ตำบลแม่สาย นั้นมีแต่บ้านเรือนและห้างร้านเต็มพื้นที่ สามารถมองรอดผ่านไปยังประเทศเมียนมาเสมือนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ความรับรู้ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นว่าด้วยการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานไทยพร้อมกับเชื้อ COVID-19 ในครั้งนี้ จึงเป็นเพียงประหนึ่งปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่แอบซ่อนความโสโครกต่ำทรามที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนที่มีหน่วยงานความมั่นคงคอยสอดส่องดูแลเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนความโสมมที่หมักตัวและสะสมอยู่ในกลไกรัฐไทยที่เกี่ยวข้องหลากหลายระดับ ที่พร้อมจะจ้องเอาผิดและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเข้าเมือง แต่มิได้พิจารณาว่ากลไกรัฐไทยบกพร่องในการกำกับดูแลบทบาทหน้าที่ที่แต่ละหน่วยพึงมี หรือถึงที่สุดแล้วกลไกรัฐไทยบางส่วนละเว้นที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเพื่อแลกกับอามิสสินจ้างที่ไม่พึงได้
นอกจากนี้ มาตรการของรัฐไทยภายใต้มายาภาพของการควบคุมและป้องกันโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมายังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น 2 มาตรฐาน หรือหากกล่าวให้ถึงที่สุดและถูกต้องตามข้อเท็จจริงควรระบุว่าไร้มาตรฐานและปราศจากตรรกะวิธีหรือคำอธิบายที่มีพื้นหลังของเหตุและผลมารองรับ นอกจากภาวะของความขลาดกลัวและลุแก่อำนาจเพื่อรักษาสถานภาพที่กลไกรัฐดำรงอยู่
การสั่งระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงก่อนหน้าภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลในการควบคุมโรคเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีดังกล่าว เพราะลำพังขอบเขตและการบังคับใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอื่น นอกเสียจากว่ากลไกรัฐไทยเผชิญกับความหวาดกลัวซึ่งทำให้รัฐไทยสูญเสียและเสื่อมถอยในความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นไปโดยปริยาย
ความเป็นไปของการแพร่ระบาด COVID-19 จะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่หรือไม่ อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อกลไกรัฐไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการสาธารณสุขของไทยต่างพยายามโหมประโคมและเน้นย้ำถึงศักยภาพและความสามารถจนทำให้ได้รับคำชื่นชมมากมายจากนานาชาติ ด้วยหวังว่าจะกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยคลายกังวลและมั่นใจในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งหากนี่คือข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้สังคมไทยก็ไม่น่าที่จะต้องพะวงหรือกังวลกับสิ่งเหล่านี้อีก
ปัญหาที่แท้จริงสำหรับสังคมไทยในห้วงเวลานับจากนี้ จึงอยู่ที่ว่าเราจะสามารถถอดหน้ากากแล้วเริ่มส่งเสียงนับหนึ่งเพื่อนำพาเศรษฐกิจสังคมไทยให้ขับเคลื่อนและก้าวเดินไปข้างหน้าครั้งใหม่ได้เมื่อใดและอย่างไร