Column: Women in Wonderland
ผ้าอนามัย ของจำเป็นสำหรับสุขอนามัยของผู้หญิง แต่ละเดือนผู้หญิงจะมีประจำเดือนเฉลี่ย 6 วัน และใน 1 วันจะใช้ผ้าอนามัยประมาณ 6 แผ่น (เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมง) คือค่าใช้จ่ายสำหรับผู้หญิงในแต่ละเดือน
ผ้าอนามัยมีหลากหลายรูปแบบให้ผู้หญิงเลือกใช้ แน่นอนว่าราคาก็แตกต่างกันไป ดังนั้นหากผู้หญิงคนไหนต้องการใช้ผ้าอนามัยที่ซึมซับได้มากเป็นพิเศษ หรือบางเป็นพิเศษ หรือยาวกว่าปกติทั่วไป หรือมีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ช่วยให้รู้สึกสบายเวลามีประจำเดือน ราคาก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย
Period Poverty หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน การขาดการศึกษาเกี่ยวกับสุขอนามัยที่ดีระหว่างมีประจำเดือน การขาดแคลนห้องน้ำ อุปกรณ์ล้างมือ และการจัดการของเสีย ในปัจจุบันมีผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลกประมาณ 2.3 พันล้านคนที่เผชิญปัญหา Period Poverty เด็กหญิง 1 ใน 10 คนในทวีปแอฟริกาจะขาดเรียนทุกครั้งที่มีประจำเดือน เพราะโรงเรียนไม่มีห้องน้ำสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ 50% ของนักเรียนหญิงในประเทศเคนยา ไม่มีผ้าอนามัยใช้ และในประเทศอินเดีย ผู้หญิงประมาณ 12% ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัย องค์การ UNICEF ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่ต้องคิดถึงความแย่ที่ไม่มีผ้าอนามัยใช้ในเวลาที่มีประจำเดือน แค่ไม่มีอุปกรณ์ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำก็ทำให้ผู้หญิงขาดสุขอนามัยที่ดีแล้ว
Period Poverty เป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ที่โรงเรียนไม่มีห้องน้ำสำหรับนักเรียนหญิง ทำให้นักเรียนหญิงหลายคนเลือกขาดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือน และท้ายที่สุดอาจส่งผลให้เด็กหญิงเหล่านี้เลิกเรียนไปเลย แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือ เด็กหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร
อย่างในประเทศเคนยาที่เด็กหญิงส่วนใหญ่ไม่สามารถหาซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ พวกเธอจำเป็นที่จะต้องใช้เศษผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือถุงเท้ามาใช้แทน หากสิ่งของเหล่านี้ไม่สะอาดเพียงพอก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้ และถ้าผ่านการขริบอวัยวะเพศหญิงมาแล้วก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อติดเชื้อ
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ก็พบว่า มีเด็กหญิง 10% ที่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยมาใช้เช่นกัน ซึ่งทำให้หลายประเทศหันมาสนใจประเด็น Period Poverty กันอย่างจริงจัง
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ หลายประเทศมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีผ้าอนามัย เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขอนามัยที่ดีของผู้หญิง และจำเป็นต้องใช้ทุกเดือน ผ้าอนามัยจึงจัดเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้หญิงทุกคน
เมื่อสิ้นปี 2019 เยอรมนีปรับลดภาษีผ้าอนามัยครั้งใหญ่ โดยก่อนหน้านี้เก็บภาษีถึง 19% เพราะมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 รัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีใหม่ ให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นจัดเก็บภาษีเพียงแค่ 7% และได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป
ปัจจุบันประเทศที่จัดเก็บภาษีผ้าอนามัยสูงที่สุดในโลกคือ ฮังการี 27% ตามมาด้วยสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และโครเอเชีย 25% ฟินแลนด์ 24% ป อิตาลี 22% อาร์เจนตินา 21% เม็กซิโก 16% สเปนและสหรัฐอเมริกา 10% อิหร่าน 9% สวิตเซอร์แลนด์ 7.7% เยอรมนีและไทย 7% เนเธอร์แลนด์ 6% ฝรั่งเศส 5.5% และโคลอมเบียและสหราชอาณาจักร 5%
ขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่ไม่จัดเก็บภาษีเลย เพราะรัฐบาลมองว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ แคนาดา อินเดีย มาเลเซีย ไอร์แลนด์ เคนยา นิการากัว ยูกันดา แทนซาเนีย ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอินเดียและเคนยาจะไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย แต่ผู้หญิงและเด็กหญิงส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัยมาใช้
เมื่อการปรับลดภาษีหรือไม่เก็บภาษีผ้าอนามัยเลย ดูเหมือนจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา Period Poverty ที่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลบางประเทศหันมาใช้วิธีการแจกผ้าอนามัยให้กับนักเรียนและนักศึกษาได้ใช้ฟรี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เด็กหญิงส่วนใหญ่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยมาใช้ จึงขาดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือน
ในปี 2018 สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกที่รัฐบาลแจกผ้าอนามัยให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ เดือนมกราคม 2020 รัฐบาลอังกฤษให้งบประมาณแต่ละโรงเรียนจัดซื้อผ้าอนามัยมาไว้ตามห้องน้ำหญิงในโรงเรียน ต่อมาเดือนมิถุนายนปี 2020 รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ได้ให้เงินสนับสนุนโรงเรียนในการจัดซื้อผ้าอนามัยมาแจกเด็กหญิงที่ต้องการใช้ โดยเริ่มทดลองใน 15 โรงเรียนในเมือง Waikato และในปี 2021 จะแจกทุกโรงเรียนในนิวซีแลนด์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2020 สกอตแลนด์ก็เป็นประเทศแรกในโลกที่รัฐบาลจะทำให้ผ้าอนามัยเป็นของฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน โดยรัฐบาลสกอตแลนด์มีมติผ่านกฎหมายให้ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดเป็นของฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน และจะต้องมีเพียงพอต่อความต้องการ โดยรัฐบาลเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จจัดการปัญหา Period Poverty ได้
Monica Lennon นักกฎหมายที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมหลังจากกฎหมายนี้ผ่านสภาว่า Period Poverty ไม่ได้มีปัญหาใหญ่คือราคาผ้าอนามัยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างเช่นเรื่องเงินหรือรายได้ที่ไม่เพียงพอในการซื้อผ้าอนามัยมาใช้ หรือคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาจากบ้าน เป็นต้น
จะเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แม้รัฐบาลจะให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยแจกผ้าอนามัยให้เด็กหญิงทุกคนใช้ฟรี แต่เมื่อประกาศปิดเมือง ทำให้มีเด็กหญิงถึง 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถหาผ้าอนามัยมาใช้ได้ นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ กฎหมายประเทศสกอตแลนด์ยังระบุว่า รัฐบาลจะจัดหาผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นที่เหมาะสมสำหรับทุกคน โดยสามารถขอรับได้ฟรีจากหน่วยงานของรัฐ หรืออาจทำเรื่องร้องขอให้มีการจัดส่งผ้าอนามัยไปให้ยังหน่วยงานหรือองค์กที่ต้องการ แน่นอนว่า ผู้ที่ต้องการใช้ผ้าอนามัยที่มีคุณสมบัติพิเศษ จะต้องเสียเงินซื้อมาใช้เอง
สกอตแลนด์จึงเป็นประเทศแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน และปัญหา Period Poverty ก็จะหมดไปจากสกอตแลนด์ ผู้เขียนเชื่อว่า อีกไม่นานจะมีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทำตามสกอตแลนด์ เพื่อขจัดปัญหา Period Poverty ที่หลายประเทศตั้งเป้าความสำเร็จในการจัดการปัญหาภายในระยะเวลา 10 ปี
สกอตแลนด์จึงเป็นประเทศแรกในโลกที่รัฐบาลแจกผ้าอนามัยให้ผู้หญิงทุกคนได้ใช้ฟรี
Photo Credit: https://pixabay.com/photos/critical-days-red-days-monthly-4924460/