ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยซึ่งถือเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงันด้วยเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้อย่างอิสระ รวมถึงการปิดประเทศ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งร้างไร้ผู้คน จนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างขาดรายได้ไปโดยปริยาย
ภาพถนนข้าวสารที่เคยคึกคักและคลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก จนทำให้เป็นประหนึ่งถนนที่ไม่มีวันหลับ หากแต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งติดตามมาด้วยการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ถนนที่เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยต้องร้างไร้ไม่มีนักท่องเที่ยว และเป็นเหตุให้ร้านค้า ร้านอาหาร บริษัทให้บริการท่องเที่ยว และโรงแรมต่างปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก โดยมีการประเมินว่ารายได้ในส่วนนี้หดหายไปมากกว่าร้อยละ 70-80 อีกด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลไกที่เกี่ยวข้องพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพยุงภาคการท่องเที่ยวที่เคยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP และมีการจ้างงานรวมมากกว่า 8.3 ล้านตำแหน่งในปี 2562 ได้
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้มาตรการ “ไทยเที่ยวไทย” ไม่สามารถพยุงภาคการท่องเที่ยวโดยรวมได้มากนักเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่ารายได้ในลักษณะของ “ไทยเที่ยวไทย” โดยปกติมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวในบางจังหวัดและบางช่วงเวลา ยังไม่นับรวมประเด็นว่าด้วยผลของมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยยังเป็นไปอย่างจำกัด
ข้อเรียกร้องสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาว่าด้วยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทยจึงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นมาตรการจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพยุงธุรกิจท่องเที่ยวให้รอดพ้นจากความล่มสลายจากผลของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างเชื่อว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในห้วงเวลาจากนี้ ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่คุ้มกับความเสี่ยง โดยเริ่มจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคต่ำแต่ใช้จ่ายสูง (Low risk-High return) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขของภาครัฐ และประชาชนสามารถมีส่วนร่วม เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดประเทศเดินเครื่องจักรภาคการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง
ประเด็นที่น่าสนใจในห้วงเวลาปัจจุบันซึ่งประเทศไทยยังคงมาตรการปิดประเทศ ความหวังของภาคท่องเที่ยวในขณะนี้จึงดำเนินไปท่ามกลางกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามดำเนินมาตรการกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ผ่านมาตรการหลากหลายของรัฐ รวมถึงโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจจากภาคเอกชน
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากมาตรการเหล่านี้ก็คือรายได้จากมาตรการไทยเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ เนื่องจากรายได้จากไทยเที่ยวไทยยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท/คน/วัน สูงกว่านักท่องเที่ยวไทยถึง 2 เท่า และมีจำนวนวันพักเฉลี่ยสูงกว่ามาก
นอกจากนี้ จังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ในแต่ละจังหวัดได้รับผลแตกต่างกัน เนื่องจากร้อยละ 50 ของครัวเรือนที่มีรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมขับรถท่องเที่ยวเองทำให้ภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ อย่างประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา และชลบุรี เริ่มปรับดีขึ้น ขณะที่บางจังหวัด อาทิ พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คืออัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) ทั้งประเทศในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 27 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนสิงหาคม 2562 หรือช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 63 อย่างมาก ซึ่งสะท้อนภาพความซบเซาในธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมเที่ยวเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดยาวเท่านั้น
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่ามาตรการ “เที่ยวปันสุข” ยังไม่สามารถกระตุ้นไทยเที่ยวไทยได้มากนัก โดยจำนวนผู้ใช้สิทธิที่พัก “เราเที่ยวด้วยกัน” มีเพียงร้อยละ 30-35 ของจำนวนสิทธิทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ และผู้ใช้สิทธิซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินมีเพียงร้อยละ 4 ของจำนวนสิทธิทั้งหมด 2 ล้านสิทธิเท่านั้น
สถานการณ์ที่ยืดเยื้อออกไปอย่างที่ไม่สามารถระบุจุดสิ้นสุดได้ดังกล่าวนี้ อาจกระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งทางรอดของภาคการท่องเที่ยวไทยนอกจากจะต้องปรับโฉมมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยให้ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงแล้ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงกลายเป็นทางเลือกเพื่อความอยู่รอดที่จำเป็นต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง
จริงอยู่ที่ว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่การประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการเปิดประเทศอาจมีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยง หากภาครัฐมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม และประชาชนร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับมือได้ นอกเหนือจากมายาคติที่กลไกรัฐได้สร้างขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านี้ พร้อมกับความย่อหย่อนในมาตรการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพจนเป็นเหตุพึงสงสัยในมาตรฐานการปฏิบัติงานของกลไกรัฐในเวลาต่อมา
มาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐ จึงจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ โดยเริ่มเปิดประเทศอย่างจำกัด เลือกเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคต่ำแต่ใช้จ่ายสูงก่อน ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายอาจเริ่มจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาตรวจสุขภาพหรือศัลยกรรมเสริมสวย ซึ่งค่าใช้จ่ายของกิจกรรมดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยต่อการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2562 สูงถึง 41,000 บาท หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว (Long stay) ที่จะทำให้มีการใช้จ่ายสูงอีกด้วย
ความเป็นไปของแนวทางการเปิดประเทศของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาตรวจสุขภาพหรือเสริมความงามตั้งแต่เดือนกรกฎาคม รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ที่เน้นนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ STV จะจำกัดจำนวนไม่เกินเดือนละ 1,200 คน แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายสูงจากทั้งค่าใช้จ่ายต่อวันที่คาดว่าจะสูงถึงกว่า 14,000 บาท และพำนักในไทยนานกว่ารวมถึงการสร้างกลไกที่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น บริการส่งอาหารหรือสินค้าท้องถิ่นถึงโรงแรมที่พัก
ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากในกรณีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกัน ผนวกกับการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับและรักษาผู้ป่วยที่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวว่า ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ซึ่งไม่เท่ากับศูนย์อีกต่อไปได้ เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบวงกว้างมากขึ้น
ขณะที่ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ โดยไม่ยึดติดกับมายาคติว่าด้วยการไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานกว่า 8-9 เดือน รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อต่อเนื่องเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยวจะทำให้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่อาจสูงกว่ามาก
หวังเพียงว่าเสียงร้องเรียกของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่หนักหน่วงและยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ จะได้รับการตอบสนองด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพและจริงจังเพื่อให้จักรกลสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยกลับมามีบทบาทและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกครั้ง