วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > การผสานพลังจาก 5 เทคโนโลยีหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub แห่งอาเซียน

การผสานพลังจาก 5 เทคโนโลยีหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub แห่งอาเซียน

ภาวะการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญในขณะนี้ หนึ่งในกุญแจสำคัญที่อาจเป็นคำตอบสำหรับเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับประเทศได้คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)” ซึ่งนอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศ ยังเปิดโอกาสให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลหรือ Digital Hub ของภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับศักยภาพประเทศไทยให้ไปถึงขั้นนั้นได้จำเป็นต้องอาศัยการผสานพลังจาก 5 เทคโนโลยีหลัก ทั้งนี้ นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในไทยและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ให้แก่ประเทศมาตลอด 21 ปี ได้กล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ของการผสานพลังของ 5 เทคโนโลยีซึ่งประกอบด้วย Connectivity, Computing, Cloud, AI และ Applications เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ดังนี้

เทคโนโลยีแขนงแรกคือ การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connectivity) เน้นการเชื่อมต่อแบบอัจฉริยะและความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำไปใช้ในรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย ด้วยการเชื่อมต่อในความเร็วระดับมากกว่า 100 Mbps นี้ จะทำให้มีการใช้งาน AR/VR หรือ Cloud gaming ที่แพร่หลาย และการเชื่อมต่อแบบ Hyper-Automation จะเพิ่มประสิทธิภาพของการเชื่อมต่อให้กับอุปกรณ์หลายๆชิ้นให้ทำงานร่วมกันได้ เช่น การใช้งานรถไร้คนขับ (Unmanned Car) ที่ต้องอาศัยการสื่อสารระหว่างรถแต่ละคัน เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่บนถนนด้วยกันได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม ที่อุปกรณ์จำนวนมากต้องทำงานพร้อมกันด้วยการเชื่อมต่อแบบการควบคุมที่มีความหน่วงต่ำ (low latency) เพื่อให้การควบคุมการใช้งานทางไกลสำหรับDrone หรือ หุ่นยนต์ สามารถสั่งการได้อย่างทันทีทันใด เทคโนโลยีแขนงที่สองคือ การคิดคำนวนประมวลผล (Computing) ในอนาคต อุปกรณ์ต่างๆ จะมีความส่ามารถในการคิดคำนวณด้วยตัวเองได้มากขึ้นและมีขนาดเล็กลง การคิดคำนวณต่างๆจะไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่คอมพิวเตอร์เมนเฟรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งจะเริ่มมีความสามารถในการคิดคำนวณได้มากขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้นับเป็นแนวโน้มที่จะทำให้เกิดจำนวนของข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะใช้พลังงานน้อยลงเพื่อให้สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีแขนงที่สามคือ เทคโนโลยี Cloud ซึ่งปัจจุบันได้นำมาใช้เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจองค์กร (Enterprise) ต่างๆ กว่า 85% จะนำเทคโนโลยี Cloud มาใช้อย่างเต็มที่ถึง 100% เทคโนโลยีแขนงที่สี่คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถคิดประมวลผลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อนำไปต่อยอดด้านความชำนาญในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ โดย AI จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งตัวเครื่องจักร บุคลากร และภาคธุรกิจในภาพรวม ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการใช้เทคโนโลยี AI วินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็วในเวลาน้อยกว่า 1 นาทีสำหรับการวินิจฉัยโรคใหม่ หรือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์การจราจร เพื่อหาวิธีการที่ทำให้รถติดน้อยที่สุด เป็นต้น

เทคโนโลยีแขนงที่ห้าคือแอปพลิเคชันในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New S-Curve Industries) ทั้ง 12 อุตสาหกรรมของไทยให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้ เช่น การนำเทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีบรอดแบนด์ ประกอบเข้ากับเทคโนโลยี Cloud และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับศักยภาพการดำเนินงานของแต่ละภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การผสานพลังของเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่นับเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่การฟื้นฟูพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก การมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี 5G ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการช่วยเร่งเศรษฐกิจแบบดิจิทัลในไทยให้เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน ICT จะมีผลทำให้ระดับของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยทุกๆ 20% ของการลงทุนด้าน ICT จะส่งผลให้ค่า GDP สูงขึ้น 1% ถึงแม้ว่าจะเป็นปีแรกสำหรับประเทศไทยที่เริ่มมีเทคโนโลยี 5G, Cloud และ AI แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวแรกที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การผสานพลังหรือ Synergy ของเทคโนโลยี จึงกล่าวได้ว่า
การลงทุนด้านดิจิทัล จะไม่เป็นการลงทุนเพียงเพื่อการอำนวยความสะดวก แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างแท้จริง

นายวรกานยังกล่าวเสริมในตอนท้ายว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง ยังมีแนวทางสำคัญที่จะช่วยผลักดันอีก 6 แนวทาง ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การสร้างมาตรฐานและข้อปฏิบัติร่วมกัน การจัดตั้งพันธมิตรของกลุ่มพาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมนั้นๆ การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้าน ICT เพิ่มเติม การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และการจัดทำโครงการนำร่องในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โครงการสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart Healthcare) หรือโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) เป็นต้น ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมที่จะช่วยผลักดันทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลสู่
ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ

ใส่ความเห็น