เสถียรภาพของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกคงจะมีภาพลักษณ์ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา หลังรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งตรงกับวัน April Fool’s Day “วันโกหก” หรือที่ใครหลายคนอาจจะรู้จักกันในชื่อว่า “เมษาหน้าโง่”
ทั้งนี้ยังมีแรงหนุนจากรัฐบาลที่ผุดนโยบายต่างๆ ในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตถึงร้อยละ 4.1 แม้หลายๆ ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยจะสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศ แต่คงไม่ใช่ปีนี้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลงส่งผลให้ประเทศคู่ค้าลดปริมาณการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้า
อุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดูจะหนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยว ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกำลังพยายามผลักดันจนเกิดนโยบาย “ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558” (2015 Discover Thainess) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตอบสนองนโยบายนี้อย่างรวดเร็วเสมือนเครื่องจักรกลชั้นดี
เมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินแนวทางนโยบายใหม่โดยส่ง “ขบวนปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558” ให้มาโลดแล่นบนถนนสำคัญย่านธุรกิจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยหวังให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รู้จักประเพณี วัฒนธรรม และเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานภายในระยะเวลา 5 วัน
นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบาย “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” ออกมา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพากันจัดกิจกรรม โดยนโยบายตั้งกล่าวเป็นโจทย์หลักและกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการจัดงาน กระทั่งล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยเองได้ผุดโครงการ “เปิดกล้อง ส่องเลนส์ 12 เมืองต้องห้าม….พลาด”
กิจกรรมที่เปิดเส้นทางการท่องเที่ยววิถีไทย โดยนำเสนอผ่านภาพถ่ายจากฝีมือช่างภาพชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งบันทึกภาพบอกเล่าเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน โดย 12 เมืองต้องห้าม….พลาด คัดเลือกมาจาก 5 ภาคของไทย
1.ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.เพชรบูรณ์ จ.น่าน
2.ภาคอีสาน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ จ.เลย
3.ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม จ.ราชบุรี
4.ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ตราด จ.จันทบุรี
5.ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช
ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่ายังมีความพยายามที่จะปลุกปั้นกระแสการท่องเที่ยวอย่างหนักผ่านการจัด Event ที่มีขึ้นแบบรายวัน แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่คำถามก็คือกลยุทธ์ดังกล่าวนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด
การนำเอาวิถีไทยมาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวในปีนี้ แม้วัฒนธรรมทางสังคมของไทยจะมีเสน่ห์ที่เชิญชวนให้อาคันตุกะได้สัมผัสและเรียนรู้ แต่นั่นย่อมหมายถึงวิถีไทยดั้งเดิม ไม่ใช่เสน่ห์จากวิถีไทยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองกำลังปั้นแต่งขึ้นมาแม้จะอิงจากภาพจำในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมก็ตาม แต่หากเป็นเพียงแค่ Event ชั่วครู่ชั่วยาม เสน่ห์ดังกล่าวก็คงไม่มีความยั่งยืน
ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาล จากปีที่ผ่านมา (2557) ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวคือ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่ารายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่คำถามคือยุทธศาสตร์ดังกล่าวสร้างให้เกิดสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่าง Value for Money หรือ Economic Value Added
ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนักโดยหวังให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตัดสินใจเลือกที่จะมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น แต่ในทางกลับกันบริษัทสายการบินต่างๆ พากันกระหน่ำหั่นราคาค่าตั๋วเครื่องบินทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศลง ซึ่งนั่นทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศมากกว่าจะที่เที่ยวภายในประเทศตัวเอง
นอกเหนือไปจากราคาค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจะถูกลงจนทำให้นักท่องเที่ยวเบนเข็มทิศเดินทางไปยังต่างประเทศมากกว่า ไทยยังมีข้อจำกัดด้านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะข้อจำกัดในด้านอุปทานของไทย เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ หรือความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
แน่นอนว่าภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่การท่องเที่ยวจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างยั่งยืน ทั้งการมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพ ได้แก่
1.นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE
2.นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
3.นักท่องเที่ยววัฒนธรรม
แม้นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ที่มีระดับการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3-4 เท่า จะเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 8 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมาและยังถูกคาดการณ์ว่าปี 2558 จะสร้างรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท เมื่อสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นเมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก
อีกทั้งในระยะหลังนักท่องเที่ยวแบบ FIT (Foreign Individual Tourism) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวแบบอิสระมักวางแผนจัดการการเดินทางด้วยตัวเอง กำลังให้ความนิยมในประเทศไทยและเพิ่มจำนวนมาขึ้นทุกปี ยิ่งเป็นโจทย์ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีที่จะสร้างให้เกิดความประทับใจต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ปีการท่องเที่ยววิถีไทย จะเป็นแคมเปญที่ยั่งยืนเต็มไปด้วยคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม คงจะง่ายกว่าหากไม่เป็นเพียงแค่แคมเปญที่รอเวลาสิ้นสุด และเมื่อไทยยกเลิกกฎอัยการศึกที่น่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตานานาชาติได้
หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใส่ใจในรายละเอียดที่ลึกซึ้งมากกว่าความฉาบฉวยที่เหมือนแก้ปัญหาไปเพียงวันๆ ประเทศไทยอาจจะติดอันดับต้นๆ เมืองปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว หรืออันดับหนึ่ง Top City Destination ได้สักวัน
หรือทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผนวกรวมอยู่บน วิถีแบบไทยๆ ที่คุ้นเคยกันมานานแสนนานเสียแล้ว