วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ไร้สัญญาณบวก เศรษฐกิจไทยทรุดต่อเนื่อง

ไร้สัญญาณบวก เศรษฐกิจไทยทรุดต่อเนื่อง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยยังไร้สัญญาณบวก หลังจากที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างบาดแผลและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งปัญหาการปิดกิจการของธุรกิจและความเปราะบางในตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ก็คือในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาพบว่าอัตราว่างงานไทยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.95 ซึ่งนับเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 11 ปี และรายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำ ก็มีแนวโน้มหดตัวลงมาก จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลงร้อยละ 11.5 จากช่วงปกติ และงานโอทีที่หายไป ขณะที่มีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นบาดแผลที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา หากการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นและยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ แรงงานภาคบริการ ซึ่งสูญเสียตำแหน่งงาน หลังจากที่สถานประกอบการต้องปิดตัวลงหรือเลิกจ้างจากผลของการปิดเมือง และการจำกัดการเดินทาง ทำให้แรงงานกลุ่มนี้กลับไปสู่ภาคเกษตรสูงถึง 700,000 คน ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเดิม และยังมีความเสี่ยงภัยแล้ง ขณะที่ข้อเรียกร้องที่จะให้รัฐเข้าไปดูแล ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนกลุ่มนี้ ดูจะเป็นกรณีที่ยากจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

มาตรการผ่อนคลายหลังการปิดเมือง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยกำลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 (Bottomed out) หากแต่เมื่อกำลังจะสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 กลับมีข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง (stalling recovery) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ นโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย

นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง ผลกระทบเหล่านี้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Scarring effects) ซึ่งประกอบด้วยการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาวะเช่นว่านี้ทำให้ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ -7.3 เป็นหดตัวร้อยละ -7.8 โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ แม้ว่าหลายภาคส่วนมีการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลัง โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) นับเป็นอัตราหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วจากมาตรการปิดเมือง

แม้ว่าหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทได้ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และมูลค่าการส่งออก แต่ในส่วนของภาคท่องเที่ยว แม้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง เพราะการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่างมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศ

ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและประชาชนแล้ว แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมที่รัฐพยายามนำเสนอตลอดเวลาที่ผ่านมาผูกพันอยู่กับประเด็นว่าด้วยการท่องเที่ยวอย่างเป็นด้านหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในตลาดภายในประเทศผ่านโครงการหลากหลาย รวมถึงความพยายามที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาพำนักในประเทศไทยได้เกิน 90 วัน

แนวความคิดที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1. เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย 2. ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน (ALSQ) และ 3. มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก (AHQ) ภายในประเทศไทย

มาตรการที่จะฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ/IMF) ระบุว่า ไทยและกัมพูชาจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพากิจกรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก พร้อมกับคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ -6.7 เพราะก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้าลงอยู่แล้ว และเมื่อยิ่งมาเจอกับการแพร่ระบาดของโรคนี้ ก็ยิ่งเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนัก ขณะที่ในกรณีของกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน โดยจีดีพีอาจหดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ -1.5 จากที่ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรคคาดว่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ +7

ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคทำให้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหนักจะไม่เติบโตหรือเติบโตร้อยละ 0 เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีซึ่งแย่กว่าอัตราการเติบโตเมื่อครั้งที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินโลก หรือวิกฤตต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่การประเมินความเสี่ยงของฐานะการคลัง หากเศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการไว้ร้อยละ 1 จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลงตลอด 5 ปีข้างหน้า (2563-2567) เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้เดิมร้อยละ 1

ดังนั้นหากใช้ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ลดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า เฉลี่ยปีละประมาณ 3.2 แสนล้านบาท ลดลงจากสมมุติฐานของแผนการคลัง ระยะปานกลางร้อยละ 11.3

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล สำหรับเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่งในการชำระหนี้ รวมไปถึงจัดทำสวัสดิการและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ประเทศสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ และระยะยาวต้องมีแนวทางการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net)

รัฐบาลต้องบูรณาการระบบภาษีเข้ากับระบบสวัสดิการ เพื่อให้จัดทำสวัสดิการได้อย่างครอบคลุม ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อน ซึ่งการสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ให้กับประชาชนให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชน การให้ความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน (Financial Literacy) และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกองทุนด้านสวัสดิการและเงินออม

บทเรียนจากวิกฤตในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการมีฐานข้อมูล ที่บูรณาการข้อมูลรายได้ของประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันการส่งเสริมการออมภาคประชาชนให้ครอบคลุมและเพียงพอ ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประชาชนระดับฐานรากและกลุ่มรายได้ปานกลาง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐบาล เพื่อให้ภาคประชาชนมีความแข็งแกร่งทางการเงิน สามารถรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ในอนาคตได้ โดยไม่ต้องรอรับการพึ่งพาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางการคลังของประเทศไทยในอนาคตด้วย

ใส่ความเห็น