วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เตรียมพร้อมสู่จุดต่ำสุดใหม่? เมื่อเศรษฐกิจไทยไร้เข็มทิศ

เตรียมพร้อมสู่จุดต่ำสุดใหม่? เมื่อเศรษฐกิจไทยไร้เข็มทิศ

ข่าวการลาออกของ ปรีดี ดาวฉาย จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 21 วัน กำลังเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐและเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะเปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่กลไกรัฐพยายามปิดซ่อนไว้ โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็มาถึงจุดที่ความเชื่อมั่นหดหายจนยากที่จะลากยาวต่อไป

ความไม่เชื่อมั่น ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการและหวังให้รัฐดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งแก้ไขปัญหาและนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เท่านั้นหากแต่การลาออกดังกล่าวได้นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยในศักยภาพของรัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ดูจะกลายเป็นประเด็นรองนอกเหนือจากการคงอำนาจทางการเมืองที่ดูจะเป็นประเด็นหลักในความคิดคำนึงของพวกเขาไปแล้ว

ภาพสะท้อนจากการลาออกดังกล่าวได้ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนวงกว้าง ขณะที่ประเด็นว่าด้วยผู้ที่จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมเศรษฐกิจจะมีทิศทางและนโยบายในการแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทรุดต่ำลงนี้อย่างไร

การลาออกอย่างเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมต่างคาดหมายไปในทิศทางที่เชื่อว่าเกิดจากปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของทีมเศรษฐกิจ และความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งเป็นกรณีที่น่าเป็นห่วง เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการระบาด COVID-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักหน่วงกว่าวิกฤตอื่นๆ ที่ได้เผชิญมา โดยเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะถดถอย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมเศรษฐกิจต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเร็วที่สุด

ก่อนหน้านี้ ปรีดี ดาวฉาย ซึ่งเคยทำงานอยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้รับเสียงตอบรับจากภาคเอกชนไม่น้อย เพราะต่างเชื่อว่าจะมีเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ และอาจเรียกว่ามีทัศนคิดไปในทิศทางเดียวกับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะสามารถนำเสนอมาตรการและผลักดันนโยบายให้สอดรับกับสถานการณ์ขณะนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการคัดสรรบุคคลมารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย โดยนอกจากประสบการณ์ด้านการเงินแล้ว ควรมองและประเมินภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างชัดเจน มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นผู้สร้างปัญหามากกว่าที่จะผู้แก้ปัญหาเศรษฐกิจไปในที่สุด

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ช่วงเวลาระหว่างการรอให้มีการแต่งตั้งบุคคลมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยอาจเกิดการชะลอการลงทุน เพราะเดิมนักลงทุนประเมินว่า ปรีดีจะมาเป็นตัวเชื่อมรอยต่อของทีมเศรษฐกิจชุดเดิมที่ปูรากฐานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้ หรือล่าสุดที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมา เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ อาจขาดการสานต่อไประยะหนึ่ง เพราะต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่มาขับเคลื่อน

ความคาดหวังที่กำลังจะเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ต้องดำเนินการอยู่ที่การเสนอมาตรการฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษของ COVID-19 เพราะนอกจากวิกฤตครั้งนี้จะยาวนานไม่ต่ำกว่า 2 ปีแล้ว ยังจะสร้างบาดแผลให้บอบช้ำต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและของไทยไปอีกนาน ซึ่งนอกจากจะต้องมีมาตรการฟื้นฟูผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะ 6 เดือนข้างหน้าแล้ว ยังต้องมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่าจะมีมาตรการอะไรบ้างออกมาเรียกความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและคนไทยได้บ้าง

มาตรการและความช่วยเหลือที่ภาคเอกชนพยายามเรียกร้องอยู่ในขณะนี้อยู่ที่แผนความช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องในกิจการในระดับต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อกิจการ ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และควรให้ความสำคัญกับ SMEs กลุ่มนี้ที่มีกว่า 1 ล้านกิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานหลายแสนคน หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินสนับสนุน ก็อาจต้องทยอยปิดกิจการซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระจำนวนคนตกงานอีกจำนวนมาก

ข้อเสนอที่น่าสนใจประการหนึ่งต่อการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย อยู่ที่การขอให้เพิ่มงบประมาณการฟื้นฟูให้มากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้โดยเร็ว เพราะการใช้จ่ายโดยภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากภาคท่องเที่ยวต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาเท่าเดิม ขณะที่การส่งออกก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว รัฐจึงควรใช้จ่ายให้มากขึ้น ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ควรใช้วิธีการระดมทุนด้วยตราสารทุน เช่น การออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะและไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

แม้ว่าการลาออก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายของรัฐอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมการเมืองไทย แต่สิ่งที่ผู้คนในสังคมคาดหวังจากปรากฏการณ์ล่าสุดนี้อยู่ที่การให้คำอธิบายถึงเหตุผลที่แท้จริงของการลาออกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีประเด็นว่าด้วยความขัดแย้งไร้เอกภาพในทีมเศรษฐกิจและการบริหารหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนความโปร่งใสในการบริหารงานและการสื่อสารของรัฐอย่างชัดเจน

จริงอยู่ที่ว่าในระยะยาว นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศหรือด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มากกว่าการได้มาซึ่งตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ว่าง หากแต่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจซึ่งเป็นประหนึ่งเข็มทิศที่บ่งบอกแนวทางการพัฒนาก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างใหม่หรือสานต่อนโยบายเดิมที่ทีมเศรษฐกิจชุดก่อนหน้าได้ดำเนินการไว้ ทั้งในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มจะล่าช้าออกไป

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะแม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างค่อนข้างช้า นั่นก็เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาตลาดโลกมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว และปัจจัยเสี่ยงจาก COVID-19 จะยังส่งผลกระทบต่อภาคส่วนนี้อีกระยะหนึ่ง การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ หรือใช้ของที่ผลิตในประเทศ จึงอาจเป็นทางเลือกทางรอดที่ช่วยการจ้างงานและสร้างรายได้ให้คนไทย

อย่างไรก็ดี การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในยุคหลัง COVID-19 ก็มีความจำเป็นไม่น้อย เพราะหากมุ่งเน้นภายในจนละเลยการเชื่อมโยงกับตลาดโลกแล้ว การฟื้นตัวของไทยจะช้ากว่าประเทศอื่น จึงต้องส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ พร้อมๆ กับการประคองตัวด้วยตลาดในประเทศ สิ่งที่ทำได้รวดเร็วในขณะปัจจุบันคือการสร้างความเชื่อมั่นให้คนมีรายได้ระดับกลางขึ้นไป ให้ช่วยใช้จ่าย ส่วนในระยะยาวต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อกระจายรายได้และสร้างโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปอย่างยั่งยืน

ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐนาวาที่กำลังล่องลอยอยู่อย่างไร้ทิศทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ จะต้องระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาก่อนที่จะอับปางลงไปสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ในที่สุด

ใส่ความเห็น