ผู้ประกอบการสุดปลื้มหลัง ส.ส.และเจ้าหน้าที่รัฐสภาชื่นชมผลิตภัณฑ์กระเป๋าและหน้ากากผ้าไหมแท้ร่วมโชว์ที่รัฐสภา โดย สกสว. ได้เชื่อมโยงพลังการพัฒนานวัตกรรมจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำกับหน่วยงานนโยบายด้านพาณิชย์ พร้อมนำ ‘คีแตม’ สารสกัดจากเมล็ดมะขามเหลือทิ้งและไคโตซานจากเปลือกกุ้งมาเคลือบผ้าไหมให้คงรูป แข็งแรงทนทานและไม่เป็นขุย
หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชุมชนภายใต้แบรนด์ “ไผท” ในงานนิทรรศการ “ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์” ซึ่งจัดโดยภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เกียกกาย น.ส.ชลีทิพย์ ทิพเนตร กรรมการผู้จัดการบริษัท บรรจงศิลป์ไทย จำกัด และบริษัทเกรซ ออฟฟีเชี่ยล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้าไหมแท้ทอมือสีธรรมชาติและกระเป๋าถือดีไซน์ต่าง ๆ ได้รับความสนใจและชื่นชมจากสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสีสันและการออกแบบที่สวยงามทันสมัย โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สอบถามถึงการช่วยเหลือชุมชนและการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข ชื่นชมที่มีการผลักดันและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน รวมถึง ส.ส.นครศรีธรรมราชที่จะร่วมสนับสนุนด้านการพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ น.ส.ชลีทิพย์เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการการศึกษาและการเชื่อมโยงงานวิจัยภับภาคนโยบายพาณิชย์ ของสำนักประสานงานโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกสว. โดยเป็นต้นแบบโครงการประสานความร่วมมือยกระดับสินค้าชุมชนด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง สกสว. ได้ทำงานประสานและเชื่อมโยงพลังการพัฒนานวัตกรรมจากผู้มีส่วนร่วม 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้น (2) สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการตลาดและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ (3) นักวิจัย ที่นำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาเพิ่มคุณภาพแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ก่อนหน้านี้ น.ส.ชลีทิพย์ได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกภายใต้กิจกรรม “รูปแบบและกลไกการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี” เพื่อพัฒนารูปแบบและกลไกการการยกระดับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมโดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สภาเกษตรกรแห่งชาติ) กลางน้ำ (หน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เช่น สกสว.) และปลายน้ำ (ผู้ที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการตลาดต่าง ๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์) ในการเป็นต้นแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ต่อไป
ในการดำเนินกิจกรรมนี้ สำนักประสานงานฯ สกสว. และหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันหารือและเลือกผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมไทยเป็นสินค้าเป้าหมาย โดยได้เชิญภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการตลาดมาร่วมจับคู่กับกลุ่มชุมชนผู้ผลิตผ้าไหม และผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 น.ส.ชลีทิพย์เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจจากโครงการประกวดแผนธุรกิจ DTN Business Plan Award 2019 ซึ่งจัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
“เราเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าและพัฒนาแผนการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเลือกผ้าไหมจากชุมชนต่าง ๆ มาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไหมทองสุรนารี โอทอป 5 ดาว ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหลายทุ่ง จ.น่าน มีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และฝึกฝนด้านการออกแบบลวดลายให้มีเอกลักษณ์ การผลิตเส้นใย การทอ รวมถึงการตัดเย็บเพื่อให้ได้กระเป๋าผ้าไหมที่มีคุณภาพและสวยงาม ซี่งพบว่าโดยทั่วไปกระเป๋าผ้าไหมมักจะไม่คงรูป เป็นขุย และอาจเกิดกลิ่นอับหรือเชื้อรา ทาง สกสว. จึงได้เชิญ รศ. ดร.วุฒิชัย นาครักษา และคณะนักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ ดร.มหรรณพ ฟักขาว และคณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว อันเป็นการต่อยอดงานวิจัยของ สกว. เดิม โดยนำนวัตกรรมการเคลือบผิวผ้าไหมด้วยคีแตม (Chitam) ซึ่งเป็นสารสกัดเมล็ดมะขาม และไคโตซานมาจากเปลือกกุ้ง ช่วยให้กระเป๋าผ้าไหมมีความแตกต่างจากกระเป๋าผ้าไหมทั่วไป ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าไหมต้นแบบที่ผ่านการเคลือบจะคงรูป มีความแข็งแรงทนต่อแรงดึงได้ดี เป็นขุยน้อยลงเมื่อผ่านการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนซัก และมีความสามารถในการต้านจุลินทรีย์ กันเชื้อรา ซึ่งจะทำให้กระเป๋าผ้าไหมใช้งานได้ยาวนานขึ้น ซึ่งจะนำออกสู่ตลาดผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไป”
น.ส.ชลีทิพย์ระบุว่า จากความสำเร็จในการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าไหมเคลือบคีแตมดังกล่าว นอกจากจะสามารถต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าไหมไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในภาคหัตถกรรมและสร้างรายได้ในระดับชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ ตนจะนำผลิตภัณฑ์มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับ สกสว. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ณ อาคารสมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา เกียกกาย ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2563 ต่อไป