หากอัตราการรู้หนังสือรวมถึงปริมาณหนังสือที่ผู้คนในสังคมอ่านเฉลี่ยในแต่ละปี จะเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีและมาตรวัดความจำเริญเติบโตทางสติปัญญาของสังคมนั้นๆ ได้บ้าง ความพยายามที่จะสร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านผ่านกิจกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 43 ในครั้งนี้ ก็คงเป็นภาพสะท้อนวิวัฒนาการของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนไม่น้อย
ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยตั้งแต่เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ทุกอาชีพเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์รู้เทคนิควิธีการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมและได้ผล
รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เห็นหนังสือจากนานาชาติ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นถึงการพัฒนาและเติบโตของโลกหนังสือของต่างประเทศ และในทางกลับกันเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เห็นหนังสือไทย และสร้างโอกาสให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ของไทยได้ขายลิขสิทธิ์สู่ต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวปรับปรุงพัฒนาการผลิตหนังสือให้มีคุณภาพ มีความหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ตลอดจนเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องนี้ ดูเหมือนกิจกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะเป็นประหนึ่งประตูบานใหญ่ที่เปิดออกไปสู่โลกกว้าง
หากแต่ในความเป็นจริงและความเป็นไปแห่งยุคสมัย ที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึง ดิจิตอล อีโคโนมี วันละหลายเวลา และช่องห่างความแตกต่างระหว่างการอ่านและการดู ตีบแคบจนหลายฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อน บางทีคุณค่าความหมายของสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ อาจเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่มีความแหลมคมอย่างยิ่ง
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดงานที่นอกจากจะมีข้อความรายละเอียดชื่องานและกำหนดเวลา สถานที่จัดงานแล้ว ยังปรากฏข้อความ “เด็กดี?” ให้ต้องไขปริศนา ที่ต้องเกิดจากการอ่านที่ไม่ใช่การดู ได้อย่างแยบคายและลงตัว
ขณะที่ในพื้นที่การจัดงานนอกจากจะประกอบด้วยนิทรรศการและเวทีเสวนาในหัวข้อที่หลากหลายแล้ว นิทรรศการภายใต้หัวข้อ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” เป็นประหนึ่งการยั่วแย้งและย้อนแยงให้ผู้เข้าชมงานต้องตระหนักถึงคุณค่าของการอ่านเพิ่มขึ้นอีก
“เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” เป็นนิทรรศการที่ได้รับการสนับสนุนการจัดจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นนิทรรศการที่นำเสนอตัวอย่างบางส่วนของหนังสือและถ้อยคำที่สะท้อนความจริงของวัยเด็ก ช่วยเปิดโลก กระตุ้นจินตนาการ ทลายกรงขัง และเป็นแรงขับให้เด็กจำนวนมากได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยหนทางแห่งปัญญามาแล้วหลายยุคสมัย โดยหวังว่าจะเป็นการเปิดหน้าต่างสู่โลกกว้างให้กับเด็กๆ ที่ได้เข้าชม และในขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่บางท่านที่อาจยังไม่รู้ตัวว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็ก
“การเรียนรู้ที่สำคัญในวัยเด็ก ถ้อยคำที่นำพาเด็กไปสู่การมีสติปัญญาอย่างเข้มแข็ง และสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความเจ็บปวดได้ อาจอยู่ในตัวหนังสือที่พวกเขาค้นพบเองในการอ่าน จากประสบการณ์ตรงที่ถูกถ่ายทอดด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์โดยนักเขียนบางท่าน เช่นที่มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยเคยสารภาพอย่างภาคภูมิว่าการอ่านหนังสือได้ช่วยชีวิตพวกเขาเอาไว้” ปราบดา หยุ่น อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในฐานะประธานจัดนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ระบุ
ภายใต้แนวคิด “เด็กดี?” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการไฮไลต์ของงานคือ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ซึ่งมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ร่วมดูแลเนื้อหาของนิทรรศการ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะกิดสังคมให้หันกลับมาสำรวจทัศนคติและวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จากจุดเริ่มต้นของการอ่านที่จะร่วมสร้างหรือหล่อหลอมลูกหลานซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่น้อย
แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญกระแสการอ่านหนังสือของคนไทย ซึ่งถูกประเมินอย่างดูแคลนมาตลอดว่า คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด ท่ามกลางการเติบโตขึ้นของเทคโนโลยียุคดิจิตอลที่ทำให้การรับรู้ผ่านการอ่านและการดู การฟัง มีบริบทที่เหลื่อมใกล้เข้ามา จนทำให้นิยามของการอ่านที่มีนัยของการอ่านและคิด อย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่องไป ถูกทำให้ง่ายและกำลังจะมลายสูญท่ามกลางปัจจัยว่าด้วยความรวดเร็วที่เข้ามาแทนที่
“พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เราดูมากขึ้นแต่อ่านน้อยลง จนกระทั่งอ่านกับดูใกล้กันขึ้นมา แมกกาซีนสร้างออกมาเพื่อการดูมากกว่าการอ่าน ทุกวันนี้เราดูหนังสือพิมพ์ ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ นิยามคำว่าการอ่านคือ อ่านไป คิดไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะสังคมทุกวันนี้เป็น Speed of time ยิ่งเป็นอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ก มันทำให้การอ่านกับการดูรวมเป็นเนื้อเดียวกัน” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส และเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา กล่าวในงานเสวนา “ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015” เมื่อไม่นานมานี้
ขณะที่ ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน ให้ข้อมูลเสริมว่า ในงานสัปดาห์หนังสืออาจพบว่ามีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากจริง แต่แนวโน้มของยอดขายลดลงทุกสำนักพิมพ์ ตลาดหนังสือไม่ค่อยดี ยอดขายลดลง 20-30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งน่าตกใจที่ลดมากขนาดนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ 4-5 ปีก็จะนิ่งๆ หรือเพิ่มขึ้นมานิดหน่อยก็ไม่คิดว่ามันจะตกถึงขนาด 20% อาจเป็นเพราะในเรื่องของเศรษฐกิจ คนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย เท่าที่สังเกต คนที่เป็นนักอ่านก็เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อไปเยอะอย่างเห็นได้ชัด คือซื้อเฉพาะเล่มที่จะอ่าน จบแล้วค่อยไปซื้อใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะซื้อทีละหลายเล่มเก็บไว้
แต่ประเด็นที่แหลมคมบนเวทีเสวนาอีกส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ทัศนะของ โตมร ศุขปรีชา ที่ประเมินว่า การอ่านของไทยเป็นวิธีการอ่านแบบที่จะใช้คำว่าดูก็ได้ หรือบริโภคโดยผ่านการเล่า ก็คือเล่าให้ฟัง ผ่านการแสดง ผ่านลำตัด เราถ่ายทอดความจริงผ่านปากต่อปาก เป็นการเล่าให้ฟังหรือการแสดง เพราะฉะนั้นคนไทยเวลาที่บริโภคสื่อ จะคุ้นเคยกับการที่ตนเองนั่งเฉยๆ และมีคนมาป้อนข้อมูลให้ แต่วิธีการอ่านหนังสือแบบโลกตะวันตกจะต้องเปิดหนังสือมาอ่านและทำความเข้าใจ
ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุให้รายการประเภทเล่าข่าวเกิดขึ้นราวเห็ดในฤดูฝน และได้รับความนิยมแผ่กว้างยิ่งกว่าเชื้อราบนแผ่นขนมปัง
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า หนังสือแนว Know How และ How To กลายเป็นหนังสือกระแสหลักที่สามารถจำหน่ายได้เรื่อยๆ จากผลของการที่สังคมไทยต้องการทางลัดและร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หนังสือวรรณกรรมถูกละเลยและจมหายไปในกระแสธารของเทคโนโลยีไปโดยปริยาย
กระแสธารว่าด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีในมิติที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้สังคมไทยเคยได้คิดอ่านเพื่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการก้าวสู่สังคมองค์ความรู้มาก่อนแล้ว หากแต่สังคมไทยเป็นสังคม “บอกเล่า” ที่ยังไม่พ้นจากกรอบของยุค analog ซึ่งยังไม่สามารถคิดประเมินจากฐานข้อมูลที่รอบด้านเพื่อสกัดมาเป็นองค์ความรู้ได้ดีพอ
ความหนักหน่วงของปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะยิ่งถูกทำให้ทรุดหนัก เมื่อรัฐบาลในยุคสมัยปัจจุบัน พยายามที่จะหยิบยื่นดิจิตอล อีโคโนมี ขึ้นประหนึ่งเป็นธงนำในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาจนำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ติดตามมาพร้อมกับการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ 1. Hard Infrastructure 2. Soft Infrastructure 3. Service Infrastructure 4. Digital Economy Promotion และ 5. Digital Society and Knowledge
ประเด็นที่น่าพิจารณาจากกรณีที่ว่านี้ก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะสนใจกับการประมูล 4G มากกว่าการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ หากแต่เน้นกระทำซ้ำด้วยการท่องจำ และการดำเนินตามสูตรสำเร็จประเภท ค่านิยมหลากหลายประการดังที่เห็นอยู่
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากเราจะตระหนักได้ว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ยังไม่ได้สลัดพ้นจากกรอบโครงยุคสมัยของการบอกเล่าความเป็นไปในบ้านเมือง ผ่านลำตัด ลิเก และการแสดงอื่นๆ มาสู่การแสวงหาข้อเท็จจริงที่พึงจะกระทำ
สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “เด็กดี?” และนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนภาพความเป็นไปที่ขัดกันแห่งยุคสมัย เพราะในขณะที่เทคโนโลยีจำเริญก้าวหน้าขึ้น การอ่านและความคิดคำนึงเพื่อทำความเข้าใจต่อสังคม กลับลดน้อยถอยลง และดูเหมือนว่า ผู้คนในสังคมนี้ พึงใจที่จะเพียง หยุด-ดู ให้เวลาที่ขลาดเขลานี้ผ่านไปอย่างเจ็บปวดเท่านั้น