ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายต้องปิดลงหรือเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมนับตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคมก่อนที่จะมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคในแต่ละระยะและการกำหนดวิถีใหม่ในการจัดกิจกรรมด้วยขั้นตอนปฏิบัติในการป้องกันและคัดกรอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งดูเหมือนว่างานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะผ่านเกณฑ์และเก็บรับความสำเร็จภายใต้สถานการณ์ยากลำบากของสังคมไทยไปได้ด้วยดี
จำนวนยอดผู้เข้าชมงานรวมมากกว่า 1 ล้านคนในช่วงเวลาสองสัปดาห์ของการจัดงาน ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนภาพความสนใจของผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อยานพาหนะคันใหม่ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งบ่งชี้ว่าประชาชนซึ่งต้องห่างหายจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการตลาดจากผลของมาตรการควบคุมที่นำไปสู่การปิดเมือง มีความต้องการที่จะกลับไปใช้วิถีชีวิตที่เป็นปกติ แม้ว่าจะมีวิถีใหม่คอยกำกับก็ตาม
ประเด็นที่น่าสนใจจากงาน มอเตอร์โชว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของยอดจองรวมที่มีสูงถึง 22,791 คัน ซึ่งแบ่งเป็นยอดจองรถยนต์รวม 18,381 คัน และรถจักรยานยนต์รวม 4,410 คัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคภายในประเทศยังพอจะมีกำลังซื้อเหลืออยู่บ้างท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยและผลกระทบที่กระจายอยู่ทั่วโลก ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายก็ตาม
ข้อเท็จจริงในกรณีของประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนมากเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หากแต่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังของรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว เนื่องมาจากรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่สามารถส่งออกได้ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนต้องมีการปรับลดเป้าหมายการผลิตจากที่เคยกำหนดไว้ในระดับ 2 ล้านคันมาเป็น 1.4 ล้านคันในช่วงก่อนหน้านี้ และลดเหลือ 1 ล้านคันในเวลาต่อมา
ภายใต้บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในสภาวะไม่เอื้ออำนวยต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคเช่นนี้ แม้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่มาร่วมอยู่ในงานจะพยายามนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการขายที่ดีภายในงาน แต่ผู้บริโภคก็ยังคงชะลอการตัดสินใจในการซื้อรถออกไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภค ในการตัดสินใจใช้เงินในสภาวะดังกล่าวนี้
อย่างไรก็ดี หากดูจากตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้น อาจจะพอบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อรถยนต์เพื่อไปใช้งานจริง เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจและเลือกซื้อรถที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ซึ่งจากตัวเลขยอดจองรถภายในงาน ตลาดรถยนต์ในกลุ่มราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
ปริมาณยอดจองรถที่เกิดขึ้นภายในงานจำนวนรวม 22,791 คัน สามารถจำแนกตามแต่ละแบรนด์รถยนต์ที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงานยังคงเป็น โตโยต้า ที่ครองอันดับ 1 ด้วยจำนวนยอดจองรวม 3,745 คัน อันดับ 2 มาสด้า ยอดจองรวม 2,365 คัน อันดับ 3 ฮอนด้า ยอดจองรวม 2,001 คัน อันดับ 4 ซูซูกิ ยอดจองรวม 1,583 คัน อันดับ 5 อีซูซุ ยอดจองรวม 1,510 คัน อันดับ 6 เอ็มจี ยอดจองรวม 1,399 คัน อันดับ 7 มิตซูบิชิ ยอดจองรวม 1,227 คัน อันดับ 8 นิสสัน ยอดจองรวม 952 คัน อันดับ 9 บีเอ็มดับเบิลยู ยอดจองรวม 888 คัน และอันดับ 10 ฟอร์ด ยอดจองรวม 742 คัน
แบรนด์รถจักรยานยนต์ ที่ทำยอดจองสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 ฮอนด้า ยอดจองรวม 1,545 คัน อันดับ 2 ยามาฮ่า 1,387 คัน อันดับ 3 คาวาซากิ ยอดจองรวม 446 คัน อันดับ 4 รอยัล เอนฟิลด์ ยอดจองรวม 321 คัน และอันดับ 5 ซูซูกิ 203 คัน ซึ่งยอดจองจำนวนดังกล่าวเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเป้าที่แต่ละบริษัทได้คาดการณ์และประเมินสถานการณ์ไว้
ยอดการจองรถยนต์และจักรยานยนต์ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เชื่อว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าและอาจช่วยกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังนับจากนี้จะมีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นได้ โดยยอดการจองรถยนต์ภายในงานของค่ายรถยนต์บางแห่งมีจำนวนเกินกว่าที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ด้วย
กระนั้นก็ดี ศักยภาพและความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยย่อมไม่สามารถอาศัยยอดการจองผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่มีการส่งเสริมการขายมาเป็นดัชนีชี้วัดได้ในระยะยาว เพราะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) การผลิตและการส่งออกให้ได้ประจักษ์แล้ว
ขณะที่การย้ายฐานการผลิต และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุน รวมถึงการมาถึงของนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องตระหนัก และเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย
ความเป็นไปของยอดการจองรถยนต์ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ แม้จะได้รับการรายงานในเชิงบวกว่ามีมากกว่า 2 หมื่นคัน อาจนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ที่คลาดเคลื่อน เพราะก่อนหน้านี้งาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ในแต่ละปีมียอดการจองรถยนต์รวมมากถึง 35,000-50,000 คัน จำนวนยอดการจองรถยนต์ที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 นอกจากจะเป็นผลของการแพร่ระบาด COVID-19 แล้วในอีกด้านหนึ่งยังเป็นผลจากการกำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุม สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องยาวนาน
สิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเร่งพัฒนามากกว่าการเพิ่มปริมาณยอดการจองรถยนต์ อยู่ที่การพัฒนาทุนมนุษย์ และทรัพยากรบุคคล ที่พร้อมรองรับกับนวัตกรรมการผลิตและการออกแบบที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้