วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ผลกระทบการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

ผลกระทบการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

Column: Women in wonderland

ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) มีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ โดยระบุว่า 25% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะจบการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้ง และในช่วงเวลาหนึ่งปีมีผู้หญิงประมาณ 25 ล้านคน ทำแท้งแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่เสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์

ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เสียชีวิตประมาณ 4.7%-13.2% สาเหตุก็มาจากการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย และที่น่าตกใจกว่าคือ มีเด็กผู้หญิงช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี ประมาณ 3 ล้านคนที่ทำแท้งแบบผิดกฎหมาย โดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่ตามมา

การทำแท้งถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ถกเถียงในสังคมมานาน โดยทั่วไปแล้วการทำแท้งถูกกฎหมายสามารถทำได้ในทุกประเทศในกรณีการตั้งครรภ์ที่อาจส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิต ถูกข่มขืน หรือมีการตรวจยืนยันว่าเด็กมีความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์

บางประเทศอนุญาตให้การทำแท้งถูกกฎหมาย โดยผู้หญิงสามารถทำแท้งได้หากระยะเวลาครรภ์อยู่ในช่วงที่กฎหมายกำหนดให้ทำแท้งได้ เพราะรัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ที่ทำแท้งแบบถูกกฎหมายนั้นน้อยกว่าหลายสิบเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่จะต้องมีในกรณีทำแท้งเถื่อนและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ นี่ยังไม่รวมเด็กที่คลอดแล้วพ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้ กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ การอนุญาตให้ทำแท้งจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการให้ทำแท้งถูกกฎหมายจะเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้วัยรุ่นไม่รู้จักการป้องกัน เพราะหากตั้งครรภ์ก็สามารถทำแท้งได้รวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาที่ทุกศาสนาสอนไม่ให้ฆ่าคนตาย และการทำแท้งก็ถือเป็นการฆ่าคนด้วยเช่นกัน ดังนั้นประเทศที่การทำแท้งไม่สามารถทำแบบถูกกฎหมายได้ ผู้หญิงหลายคนที่มีเหตุจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องทำแท้งผิดกฎหมาย ทั้งที่รู้ว่าเป็นอันตรายและอาจส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง แต่ไม่มีทางเลือก

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2019 เป็นต้นมารวมถึงการแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2020 ทำให้หลายประเทศต้องระดมกำลังแพทย์และพยาบาลไปทำงานป้องกันและรักษาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมไปถึงการประกาศลดหรือขอยกเว้นการรักษาที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบทำการรักษาหรือจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องก่อน เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือชุด PPE อาจมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสำรองอุปกรณ์จำเป็นเหล่านี้ไว้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ก่อน

แน่นอนว่าหลายประเทศมีความเห็นว่าการทำแท้งถือเป็นงานทางการแพทย์ที่ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาดูแลในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายในหลายประเทศจำเป็นต้องหยุดชั่วคราว และยังไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมาก

การคุมกำเนิดโดยวิธีกินยาคุม ในต่างประเทศนั้นผู้หญิงจะต้องพบแพทย์เพื่อพูดคุยและตรวจร่างกาย แพทย์จึงจะสั่งจ่ายยาคุมให้สามารถไปซื้อตามร้านขายยาได้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บริการทางการแพทย์ในส่วนนี้ถูกยกเลิกไปก่อนด้วยเช่นกัน ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถซื้อยาคุมมากินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ได้ มีเพียงยาคุมฉุกเฉิน (Morning after pill) เท่านั้นที่สามารถซื้อได้จากร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยาคุมฉุกเฉินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่างและไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100%

ยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศประกาศปิดเมืองหรือปิดประเทศ และการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ผู้หญิงและเด็กอาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น มีผู้หญิงถูกทำร้ายและถูกข่มขืนจากสามี นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ เพราะพวกเธอเหล่านี้ (1) ไม่สามารถไปซื้อยาคุมฉุกเฉินได้ และ (2) ยาคุมหมด และไม่สามารถไปซื้อเพิ่มได้ เนื่องจากแพทย์หยุดให้บริการ ในกรณีที่เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา การทำแท้งถูกกฎหมายก็อาจจะทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะหลายรัฐบาลมองว่าการทำแท้งไม่ใช่บริการทางการแพทย์ที่จำเป็นในเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ผู้หญิงคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ประเด็นการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ทำแท้งถูกกฎหมายในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 เริ่มถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เมื่อประเทศในยุโรปยกเลิกการทำแท้งแบบถูกกฎหมายเป็นเวลาชั่วคราว และในเวลาต่อมาก็มีรายงานว่า การทำแท้งถูกกฎหมายต้องยุติชั่วคราวนั้น มีผู้หญิงจำนวนมากไปใช้บริการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย เพราะไม่สามารถรอได้

ในสหรัฐอเมริกากฎหมายการทำแท้งนั้นแตกต่างกันในแต่ละรัฐ อย่างรัฐเทกซัส ก่อนมีการแพร่ระบาด COVID-19 รัฐอนุญาตให้มีการทำแท้งถูกกฎหมายได้ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาด ศาลตัดสินให้การทำแท้งเป็นบริการทางการแพทย์ที่ไม่มีความจำเป็น ทำให้การทำแท้งแบบถูกกฎหมายในรัฐเทกซัสถูกปิดชั่วคราว ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะหาก ต้องการทำแท้งจะต้องขับรถไปประมาณ 13 ชั่วโมง เพื่อไปที่รัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งเป็นรัฐที่ใกล้ที่สุดและอนุญาตให้มีการทำแท้งในช่วงการแพร่ระบาด แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็จะมีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงบางส่วนไม่สามารถที่จะจ่ายได้ จำเป็นต้องปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปหรืออาจทำแท้งผิดกฎหมายแทน

ไม่เพียงแต่การทำแท้งแบบถูกกฎหมายจะทำได้ยากขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายก็แพงขึ้นเช่นกัน ที่ออสเตรเลียก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 การทำแท้งแบบถูกกฎหมายจะเริ่มที่ 470 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 10,200 บาท) ขึ้นอยู่กับว่า ผู้หญิงคนนั้นอาศัยอยู่ที่ไหน หากอาศัยอยู่ในเมืองค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่ประมาณ 470-560 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่ถ้าอยู่ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกหลายเท่าตัว สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะโรงพยาบาลของรัฐแห่ง ยกเว้นรัฐ South Australia และ Northern Territory จะไม่มีบริการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย ต้องไปโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น

ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ผู้หญิงจำนวนมากต้องการทำแท้งแต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะคนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากค่าใช้จ่ายนั้นสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากชุด PPE ที่จำเป็นต้องใช้ในการผ่าตัดทำแท้งนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องสำรองไว้ใช้สำหรับการรักษาและป้องกัน COVID-19 ก่อน รวมไปถึงเครื่องบินที่ลดหรือหยุดให้บริการ ทำให้อุปกรณ์ที่จำเป็นขาดแคลนมากขึ้น

ความที่ไม่สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อขอใบสั่งยาไปซื้อยาคุมได้ การยุติการทำแท้งแบบถูกกฎหมายชั่วคราว และค่าใช้จ่ายในการทำแท้งมีราคาเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้สามารถพบแพทย์เพื่อวางแผนครอบครัว และทำแท้งแบบถูกกฎหมายผ่านโทรศัพท์ได้

ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของ COVID-19 ประเทศส่วนใหญ่ที่อนุญาตให้ทำแท้งถูกกฎหมายได้ จะมีกฎหมายห้ามการทำแท้งไม่สามารถทำได้ผ่านการปรึกษาทางโทรศัพท์ เนื่องจากในสถานการณ์ปกติผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งจะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายยืนยันว่าตั้งครรภ์จริง มีการตรวจสุขภาพ และพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อยืนยันว่าต้องการทำแท้งจริงๆ

แต่เมื่อการให้คำปรึกษาเรื่องวางแผนครอบครัวและการทำแท้งเข้าถึงได้ยาก และมีประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และประกาศให้สามารถพบแพทย์เพื่อขอใบสั่งซื้อยาคุมหรือทำแท้งทำได้ผ่านการพูดคุยและปรึกษาทางโทรศัพท์ ซึ่งจะอนุญาตให้ทำได้ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19

สหราชอาณาจักรใช้ชื่อโครงการว่า “At home abortion pills” โดยผู้ที่ต้องการทำแท้งต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ 6 วัน ต้องติดต่อที่คลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับทำแท้ง ไม่สามารถทำแท้งเองที่บ้านได้ สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์ให้ติดต่อคลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับทำแท้งและแจ้งว่าต้องการทำแท้งที่บ้าน แพทย์จะติดต่อกลับเพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ และจะส่งยาไปให้ที่บ้าน โดยยาทำแท้งจะมีอยู่ 2 ประเภท และมีช่วงเวลาในการรับประทานแตกต่างกัน โดยแพทย์จะอธิบายรายละเอียดและขั้นตอนผ่านโทรศัพท์ รวมถึงให้คำแนะนำสำหรับยาแก้ปวดที่สามารถรับประทานได้ และหากมีอาการแบบใดที่จำเป็นต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที

หลังจากที่สหราชอาณาจักรอนุญาตให้สามารถทำแท้งที่บ้านเองได้ มีประชาชนให้ความสนใจขอเข้ารับบริการจำนวนมาก รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็เริ่มที่จะศึกษาเรื่องนี้และอาจมีการประกาศเช่นเดียวกัน อย่างเช่นออสเตรเลีย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้วิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน คนทำงาน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการ การเข้ารับบริการทางการแพทย์ก็เช่นกัน หากไม่ใช่อาการป่วยสำคัญ หรือป่วยเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทุกครั้ง ก็จำเป็นต้องปรับเข้าสู่วิถีใหม่เพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น การพูดคุยปรึกษาแพทย์ผ่านโทรศัพท์หรือ Video Conference จึงน่าจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/life-7-to-12-weeks-1316897

ใส่ความเห็น