ผลพวงจากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ส่งแรงกระทบกระเทือนไปในวงกว้างมากกว่าที่จะจำกัดอยู่เฉพาะประเด็นเรื่องสุขภาพพลานามัยของประชาชนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากพิษภัยของโรคระบาดนี้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็คือผลกระทบที่มีต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวลงนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย ในแต่ละลำดับ ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศแต่ละราย ต่างต้องปรับตัวด้วยการลดพนักงานให้สอดรับกับการผลิตที่ลดลง แต่จะปรับลดมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกว่าจะยืดเยื้อไปในทิศทางไหน โดยกลไกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าวนี้ มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบรวมไม่ต่ำกว่า 750,000 คน
ภาพสะท้อนความทรุดต่ำลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจพิจารณาได้จากยอดการจำหน่ายและผลิตในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งมียอดการผลิตรวมเพียง 24,711 คันลดลงร้อยละ 83.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งนับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี โดยตัวเลขการผลิตดังกล่าวนี้เป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 13,713 คัน ลดลงร้อยละ 81.76 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 10,988 คัน ลดลงร้อยละ 85.35 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 คิดเป็นร้อยละ 83.17 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ฉุดกำลังซื้อและการส่งออกให้ร่วงหนัก และเป็นเหตุให้โรงงานผลิตรถยนต์จำนวนไม่น้อยปิดทำการเป็นการชั่วคราว
ตัวเลขการผลิตยานยนต์ในเดือนเมษายนที่ระดับ 24,711 คันดังกล่าว ถูกนำมาประเมินถึงการผลิตรวมตลอดทั้งปีที่อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนคัน ซึ่งเป็นกำลังผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2533 ที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ 304,000 คัน และทำให้ทุกฝ่ายเฝ้ามองว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายไปอย่างไร ในขณะที่โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์หลายแห่งยังไม่เปิดดำเนินการเต็มที่
แม้ว่าก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตั้งเป้าที่จะผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 1.9 ล้านคันก่อนที่จะปรับลดเหลือเพียง 1.4 ล้านคัน แต่หาก COVID-19 ยังยืดเยื้อยาวนานต่อไปสู่ไตรมาสที่ 3 ของปี เป้าการผลิตก็จะเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้นหรือหายไปร้อยละ 50 โดยในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกมากถึงร้อยละ 55 ดังนั้นแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผลกระทบมากน้อยขึ้นอยู่ที่กับความยืดเยื้อของ COVID-19 ด้วย
กำลังการผลิตที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 ดังกล่าวนี้อีกนัยหนึ่งก็คือมูลค่าของธุรกิจที่สูญหายไปประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากมูลค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงผู้ผลิตรถยนต์แต่ละแบรนด์ในประเทศไทยเท่านั้น หากยังหมายถึงผลกระทบที่ขยายวงกว้างไปยังซัปพลายเชน และบริษัทน้อยใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายพันบริษัท ที่อาจติดตามมาด้วยปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีทั้งการปลดออกหรือการเลิกจ้างงานชั่วคราว จนกว่าภาคการผลิตจะกลับมาเป็นปกติ
ขณะที่ในส่วนของยอดการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 30,109 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 65.02 และลดลงจากเดือนมีนาคมร้อยละ 49.91 ซึ่งเกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการ Lockdown ที่ผลักให้ประชาชนอยู่บ้านและไม่อยากใช้เงินเพราะขาดความมั่นคงในรายได้และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ลดลง
ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 20,326 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.71 โดยการส่งออกยานยนต์ตกต่ำลงในทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวด้วยเช่นกัน
สถิติที่น่าสนใจในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 พบว่าการผลิตรถยนต์ระหว่างมกราคม-เมษายนมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 478,393 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.78 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้ทั้งสิ้น 90,609 คัน คิดเป็นร้อยละ 49.61 ของยอดผลิตรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.54 โดยมียอดขาย 4 เดือนแรก 230,173 คัน ลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 34.17 ขณะที่การส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้ 270,607 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.26 มีมูลค่าการส่งออก 141,237.58 ล้านบาท ลดลงช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.74
แม้ว่ากลไกรัฐจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นระยะและดูเหมือนสถานการณ์โดยรวมจะกระเตื้องขึ้นบ้างนับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา และอาจทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีฟื้นคืนกลับมาได้บ้าง แต่ในส่วนของกำลังการผลิตยานยนต์ในปีนี้ น่าที่จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะผู้ประกอบยานยนต์ทุกค่ายต่างมีรถยนต์เป็นสินค้าคงค้างอยู่ในสต๊อกรอการจำหน่ายอีกเป็นจำนวนมาก และยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้น่าที่จะอยู่ในระดับที่หดตัวในทุกค่ายผู้ผลิต
การแข่งขันและความพยายามที่จะกระตุ้นยอดการจำหน่ายของผู้ประกอบการรถยนต์แต่ละแบรนด์นอกจากจะสะท้อนออกมาเป็นแคมเปญส่งเสริมการขาย ที่รวมถึงการเพิ่มส่วนลดเพื่อหวังกระตุ้นแรงซื้อจากผู้บริโภค ขณะที่กิจกรรมที่เคยเป็นกลไกกระตุ้นยอดจำหน่ายยานยนต์อย่างงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ หรือ “Motor Show 2020” ก็โดนพิษ COVID-19 ให้ต้องเลื่อนการจัดงานเป็นคำรบที่ 3 หลังจากที่เลื่อนจากกำหนดเดิมมาสู่ 18-31 พฤษภาคม 2563 และล่าสุดเลื่อนเป็นวันที่ 13-26 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ได้มากน้อยอย่างไร ท่ามกลางกำลังซื้อของประชาชนในประเทศที่กำลังลดต่ำลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดหนักนี้
ความเป็นไปของ COVID-19 แม้จะเริ่มคลี่คลายและธุรกิจอุตสาหกรรมบางประเภทจะดำเนินเข้าสู่รูปการณ์วิถีใหม่ และความหวังที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ กันบ้างแล้ว แต่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์หลายฝ่ายยังประเมินว่าจะเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มท้ายๆ ที่จะฟื้นตัว เพราะเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ ที่ผู้บริโภคต้องประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก่อนตัดสินใจซื้อ
การปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลานับจากนี้ แม้ยังไม่ได้มีการผลิตรถยนต์ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งซื้อ แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายนอกจากจะปรับเปลี่ยนสายการผลิต และซ่อมบำรุงเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเสนอโครงการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนการลงทุนทั้งทางตรง และทางอ้อม
รวมทั้งนโยบาย “รถเก่าแลกใหม่” ที่เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ที่นำรถยนต์เก่าที่มีอายุงาน 15 ปีไปแล้วที่มีอยู่รวม 2.5 ล้านคัน มาแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ โดยรัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่งให้ผู้จำหน่ายรถยนต์แทนประชาชน ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นยอดขายในประเทศ แต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ PM2.5 เหมือนที่บางประเทศได้ใช้รูปแบบนี้ในการฟื้นฟูจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระเทือนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ภารกิจสำคัญของรัฐบาลไทยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในห้วงเวลานับจากนี้นอกจากจะอยู่ที่การฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กลับขึ้นมาลุกยืนได้อีกครั้งแล้ว ยังอยู่ที่การเปลี่ยนโฉมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่มีความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่นี้