ความรู้สึกที่แตกต่าง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไม่น่าเชื่อ
อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของคุณ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิดเสียอีก
เมื่อรู้สึกโกรธ
ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเทสทอสเทอโรลมากขึ้น นอกจากนี้ อัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตก็สูงขึ้นด้วย
ภายในสองชั่วโมงหลังจากระเบิดความโกรธออกมา คุณเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายเกือบห้าเท่า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสามเท่า ความโกรธยังกระตุ้นให้เราแสวงหารางวัล ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องหันไปกินไวน์สักแก้ว
ให้ถามตัวเองดูว่ากำลังหิวหรือเปล่า ความหิวทำให้สมองหลั่งเซโรโทนินน้อยลง ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมความโกรธ ดังนั้น หากต้องการหลีกเลี่ยงอารมณ์เสีย จงอย่าอดอาหาร
เมื่อรู้สึกวิตกกังวล
หากกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือทำอะไรผิด สมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจจะทำงานหนักมาก ทำให้สมองส่วนอื่นๆ ทำงานหนักขึ้นด้วย
สมองของคุณจึงทำงานเกี่ยวกับงานในชีวิตประจำวันได้ไม่ดี และอ่อนล้าเร็วกว่าปกติ ยิ่งกว่านั้น ถ้าความกังวลทำให้คุณเครียดมากขึ้น คุณย่อมเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นด้วย
ให้นั่งลงเขียนสิ่งที่ทำให้คุณวิตกกังวล ซึ่งช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งและทำงานอื่นๆ ได้ อย่าพยายามเก็บงำความวิตกกังวลเอาไว้ เพราะจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกกระวนกระวายมากขึ้น
เมื่อรู้สึกอิจฉาริษยา
สมองส่วน anterior cingulated cortex จะถูกกระตุ้น และเมื่อคุณเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้เจ็บปวด เช่น ถูกเพื่อนๆ ตั้งแง่รังเกียจไม่ให้ร่วมวงด้วย สมองส่วนเดียวกันนี้จะถูกกระตุ้นด้วย จึงเป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมความรู้สึกอิจฉาริษยาจึงก่อให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และถ้าคุณเป็นเพศหญิงที่ต้องกินยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยแล้ว การตอบสนองจะยิ่งรุนแรงขึ้นได้
ความอิจฉาริษยาทำให้สมองของคุณถูกเบี่ยงเบนเพราะความคิดเชิงลบเหล่านั้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการทำงานที่ต้องใช้สมาธิและความตั้งใจ รวมทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น ระหว่างขับรถ
คุณหลุดพ้นจากอันตรายเหล่านี้ได้ ด้วยการเปลี่ยนความคิดมุ่งร้ายให้เบาบางลง ซึ่งการวิจัยของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า การเปลี่ยนความคิดช่วยได้มาก ที่สำคัญต้องเพลาหรือเลิกใช้โซเชียลมีเดียด้วย เพราะกว่าร้อยละ 30 ของผู้ใช้ยอมรับว่า รู้สึกหงุดหงิดเมื่อเข้าใช้เฟซบุ๊ก สาเหตุสำคัญที่สุดคือ อิจฉาสิ่งที่เพื่อนๆ โพสต์ลงไปนั่นเอง
เมื่อรู้สึกเครียด
ร่างกายของคุณหลั่งอะดรีนาลินและนอร์เอพิเนฟรินมากขึ้น จนทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น รวมทั้งหลั่งสารคอร์ติซอลที่ส่งผลให้อวัยวะที่ไม่สำคัญเกิดการทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ สมองส่วน prefrontal cortex ยังได้รับผลกระทบ ทำให้คุณเสียสมาธิและสมองตื้อ หากอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง ระบบฮอร์โมนในร่างกายจะเสียสมดุล
คุณจะตัดสินใจที่เสี่ยงมากขึ้น อาจมีปัญหาการนอนถึงขั้นนอนกัดฟัน ปวดศีรษะมากขึ้น และติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้น ความเครียดในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำที่สัมพันธ์กับอายุ การเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้าได้
แก้ไขด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งมีผลช่วยจัดระเบียบสมองให้มีความยืดหยุ่น ทนทานต่อความเครียด เพราะการออกกำลังกายเป็นการฝึกให้สมองส่วนที่ควบคุมความกระวนกระวาย ปิดการรับรู้โดยอัตโนมัติเมื่อต้องเผชิญกับความเครียดต่างๆ
เมื่อรู้สึกผิด
เป็นการกระตุ้นสมองส่วนอื่นๆ ที่รวมถึงส่วนของจิตใต้สำนึก ที่กระตุ้นให้คุณทำสิ่งดีๆ กับผู้ที่คุณทำผิดด้วย
นักวิจัยสหรัฐฯ กล่าวว่า ความรู้สึกผิดทำให้คุณรู้สึกหนักอึ้งในเชิงกายภาพ ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ทั้งยังทำให้คุณสนใจแต่รายละเอียดปลีกย่อยจนไม่มองในภาพรวม
ให้สารภาพหรือยอมรับในสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกผิด จะทำให้คุณโล่งใจ แต่ถ้าคุณพูดความจริงเพียงบางส่วน ความรู้สึกผิดจะยิ่งเกาะกินจิตใจให้คุณทุกข์ทรมานมากขึ้น
เมื่อรู้สึกเห็นอกเห็นใจ
สมองของคุณหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทในสมอง พร้อมๆ กับยับยั้งการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทที่คุณใช้ในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจทำให้คุณใจดีกับผู้อื่นมากขึ้นด้วย ซึ่งช่วยให้คุณมีสุขภาพดีขึ้นและอายุขัยยืนยาวขึ้น ทำให้คุณรู้สึกมีความสุขมากขึ้นด้วย
การอ่านหนังสือช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้
เมื่อรู้สึกรัก
ร่างกายของคุณหลั่งอะดรีนาลินและนอร์เอพิเนฟรินในช่วงแรกๆ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรง ส่วนโดปามีนทำให้คุณรู้สึกอิ่มเอิบ นอกจากนี้ ยังหลั่งออกซิโทซินและวาสโซเพรสซินที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและสุขสบายจากการสร้างสายสัมพันธ์ให้ยืนยาวต่อไป
คู่ที่รักกันใหม่ๆ มีความรู้สึกเจ็บปวดกับความรักมากกว่า เพราะความรู้สึกรักที่รุนแรงกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่ต้องใช้ยาระงับปวด แต่ในระยะยาว ความรักช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และปกป้องคุณให้พ้นจากความไม่พึงพอใจในชีวิตวัยกลางคนได้ รวมทั้งทำให้คุณหลั่งคอร์ติซอลออกมาน้อย แม้อยู่ในภาวะเครียดก็ตาม
เมื่อรู้สึกมีความหวัง
สมองส่วนที่ควบคุมความสามารถในการคิดเชิงบวกจะถูกกระตุ้น ทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ด้านภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย คุณยังรู้สึกว่า การเลือกอาหารเพื่อสุขภาพทำได้ง่ายขึ้น เพราะการมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคต ช่วยให้คุณควบคุมตนเองได้ดีขึ้นด้วย
เมื่อรู้สึกขอบคุณ
ร่างกายของคุณทำให้โครงสร้างสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับจิตสำนึกและความเห็นอกเห็นใจเชิงสังคมมีความแข็งแรงขึ้น รวมทั้งสมองส่วนที่ควบคุมด้านรางวัลตอบแทนด้วย
ความรู้สึกขอบคุณมีค่าเท่ากับความรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้เปล่งคำว่าขอบคุณออกมา จะยิ่งช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี และเพิ่มโอกาสให้คุณแปรเปลี่ยนความคุ้นเคยใหม่ๆ ให้กลายเป็นการมีเพื่อนใหม่ได้
ให้เขียนสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณสัก 5 อย่างในแต่ละสัปดาห์ หลังจากนั้น 10 สัปดาห์ คุณจะรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การอดนอนมีส่วนสัมพันธ์กับการที่คุณมีแนวโน้มจะรู้สึกไม่ขอบคุณได้ง่าย ๆ
เมื่อรู้สึกมีความสุข
สมองของคุณหลั่งสารสื่อประสาทหลายชนิดออกมา รวมทั้งโดปามีน เซโรโทนิน และเอนดอร์ฟินส์ นอกจากนี้ ฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลยังมีระดับลดลงด้วย
คุณจึงมีสุขภาพดีขึ้นและมีอายุยืนขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนมีความสุขกับคนไม่มีความสุข คนไม่มีความสุขมีแนวโน้มประสบปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับอายุสูงกว่าถึงร้อยละ 80
คุณเพิ่มสุขได้ด้วยการเล่นดนตรีและตัดสินใจอย่างมีสติสัมปชัญญะ หรือไม่ก็สังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุขได้
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว