วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ปลดล็อก COVID-19 ดึงดัชนีเศรษฐกิจฟื้นตัว

ปลดล็อก COVID-19 ดึงดัชนีเศรษฐกิจฟื้นตัว

การประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่ได้สร้างความเสียหายและตื่นตระหนกในวงกว้างมาก่อนหน้า กำลังช่วยผลักดันให้ดัชนีทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวต่ำลงอย่างหนักจากผลของการหยุดชะงักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่การประกาศปิดเมืองในเดือนมีนาคม 2563 ก่อนที่จะนำมาสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ ที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้ผู้คนในสังคมและกลไกทางเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตและสภาพปกติท่ามกลางความเสียหายที่รอการเยียวยา ซึ่งตั้งอยู่บนความสำเร็จในการป้องกันโรคที่ทำให้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้

ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนผ่านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงก่อนหน้า ที่ทำให้เกิดความกังวลของครัวเรือนในประเด็นว่าด้วยเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งเมื่อรัฐดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มเริ่มคลายความกังวล และสามารถกลับเข้าไปทำงานหรือประกอบการทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่ในระดับปกติเหมือนที่เคยดำเนินมาก็ตาม

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยครัวเรือนประเมินว่า มาตรการผ่อนปรนที่รัฐบาลทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ใหม่รายวันที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาพที่พร้อมจะทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังมีความเปราะบางอยู่มาก ภายใต้สมมุติฐานที่ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำรอบ 2 จนนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการสร้างงานเพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนไทยที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของ COVID-19 หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยดูจะดำเนินไปควบคู่กับการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายประเมินว่าได้เคลื่อนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่เหลืออยู่นี้ โดยมีมาตรการทางการคลังและการเงินคอยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะข้างหน้า ต้องจับตามองหนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐที่อาจปรับสูงขึ้นเร็วด้วย

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีลักษณะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน (U-shaped and Uneven recovery) ทำให้ผู้บริโภคจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะถูกกดดันจากยอดขายที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนในระดับสูง

ขณะที่ผลของมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินในรูปแบบที่ไม่ปกติมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยนโยบายการคลังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ผ่านโครงการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ นโยบายที่สนับสนุนภาคครัวเรือน ด้วยการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ว่างงาน และนโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป

สำหรับนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional measures) ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน การสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์

ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการปิดเมือง ซึ่งทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเกิดภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญของโลกปรับลดลงมากที่สุดถึงประมาณร้อยละ 30-40 ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี หลังภาครัฐออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องขนาดใหญ่และเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ความเชื่อมั่นรวมถึง risk appetite ของนักลงทุนได้เริ่มกลับมา ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นในบางสินทรัพย์ เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มมีการไหลกลับเข้ามาบ้างในบางประเทศแล้ว

กระนั้นก็ดี ภาระหนี้ภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะข้างหน้า โอกาสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (default risks) ปรับสูงขึ้น เพราะการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหากยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งในมิติของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่อาจลดลง การดำเนินนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น และความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐอาจปรับแย่ลง

ดัชนีที่บ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีอีกส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ตัวเลขคนว่างงาน ซึ่งพบว่าตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index : PMI) ของโลกด้านการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ดัชนีบ่งชี้ในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกา ยังปรากฏมีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลงทั้งผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรก และผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือร้อยละ 13.3 จากที่ในเดือนเมษายนอยู่ในระดับร้อยละ 14.7

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายอุตสาหกรรมพบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นแบบไม่ทั่วถึงในแต่ละภาคส่วน (Uneven recovery) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของ COVID-19 และการปิดเมืองที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น การเปิดเมืองที่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับอนุญาต ให้กลับมาดำเนินการได้ ในขณะที่อีกหลายอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวในแต่ละภาคอุตสาหกรรมไปโดยปริยาย

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ โดยในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา ที่ในเดือนเมษายนปรับลดกำลังการผลิตเหลือ 0% แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการ กำลังการผลิตยานยนต์ในเดือนพฤษภาคมได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตทั้งหมด

ขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบันเทิง นอกจากได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคการผลิตแล้ว ภายหลังการทยอยเปิดเมืองก็ยังอยู่ในภาวะซบเซา เพราะผู้บริโภคบางส่วนยังคงกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ทำให้การฟื้นตัวจำเป็นต้องใช้เวลาในการเข้าสู่ภาวะปกติจนกว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการหาวิธีรักษา COVID-19 หรือมีวัคซีนป้องกันในอนาคต

ภายใต้สถานการณ์และรูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีลักษณะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน (U-shaped and Uneven recovery) ดังกล่าวนี้ การปรับตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานับจากนี้จึงขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรและการกำหนดมาตรการในเชิงนโยบายของทั้งกลไกรัฐและผู้ประกอบการไทย

สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองและให้ความสนใจพิจารณามากเป็นพิเศษอาจไม่ได้อยู่ที่ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด COVID-19 ระลอกที่สอง หากแต่อยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงของการสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่อาจส่งผลกระทบหนักหน่วงกว่าที่เคยประสบ และย่อมส่งผลต่อกลุ่มประชากรจำนวนมากซึ่งคงเทียบไม่ได้กับจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 และมูลค่าของทรัพยากรที่ต้องทุ่มเทลงไปด้วย

ใส่ความเห็น