วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > รัตนปุระ-เมืองอัญมณี

รัตนปุระ-เมืองอัญมณี

 
นอกเหนือจากการมีภูมิศาสตร์ว่าด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งมีนัยความหมายทางยุทธศาสตร์มาเนิ่นนานในฐานะจุดกึ่งกลางของการสัญจรจากตะวันตกสู่ตะวันออกข้ามมหาสมุทรอินเดียที่กว้างใหญ่แล้ว ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของศรีลังกา ก็ยิ่งทำให้ประเทศเกาะขนาดไม่ใหญ่ไม่โตกลางมหาสมุทรแห่งนี้ เป็นชุมทางของกิจการค้ามากมาย
 
การค้าอัญมณีบนแผ่นดินศรีลังกาก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีประวัติการณ์ ความเป็นมายาวนานและอุดมด้วยสีสันเจิดจรัสขึ้นหน้าขึ้นตา ถึงขนาดที่ผู้ค้าอัญมณีทั้งจากตะวันออกกลางและจากดินแดนแห่งอื่นๆ พากันเรียกขานศรีลังกาในกาลก่อนในฐานะที่เป็นรัตนทวีป (Ratna-Dweepa) กันเลยนะคะ
 
นักเดินทางอย่าง มาร์โค โปโล ระบุในเอกสารบันทึกการเดินทางว่า ศรีลังกามีแซฟไฟร์ บุษราคัม และอัญมณีมีค่าหลากหลายที่ล้วนแต่มีคุณภาพดีกว่าที่เคยพบในพื้นที่แห่งอื่น ขณะที่นักเดินเรือที่สัญจรผ่านน่านน้ำแห่งนี้ต่างนำอัญมณีแห่ง Serendib ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมที่ชาวเปอร์เซียเรียกขานดินแดนแห่งนี้กลับสู่มาตุภูมิด้วยเสมอ
 
ความมั่งคั่งใต้พื้นพิภพของศรีลังกาเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าดินแดนแห่งนี้มีอายุทางธรณีวิทยาเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นแหล่งรวมผลึกแก้วที่รอการขุดขึ้นมาสร้างสีสันความงดงามและมูลค่าในตลาดอัญมณี
 
ความเก่าแก่ของดินแดนแห่งนี้ ได้รับการกล่าวถึงอยู่ในบันทึกของนักปราชญ์และนักดาราศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง Claudius Ptolemy ซึ่งระบุไว้ว่าดินแดนศรีลังกาอุดมไปด้วยผลึกอัญมณี แม้ในสมัยนั้นเทคโนโลยีการสำรวจทางธรณีวิทยาจะไม่ได้ก้าวหน้าดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันก็ตาม
 
และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือการระบุว่าศรีลังกาคือแผ่นดินที่อุดมด้วยผลึกอัญมณีสีฟ้า ที่เรียกว่า Sapphire ซึ่งถือเป็นอัญมณีเลื่องชื่อของศรีลังกาในปัจจุบัน
 
แม้ Sapphire จะเป็นแร่รัตนชาติ หรือ คอรันดัม (Corundum) ประเภทอะลูมิเนียมออกไซด์ ที่มีลักษณะผลึกเป็นทรง 6 หน้า (hexagonal prism) ซึ่งต่างจากเพชรที่ประกอบขึ้นจากคาร์บอนบริสุทธิ์ ที่มีผลึกรูปทรงแปดหน้า (octahedron) และมีคุณสมบัติค่าความแข็งตาม Moh’s scale สูงกว่า 
 
แต่เพราะมลทิน (inpurity) ที่อยู่ภายใน ทั้งเหล็ก ไทเทเนียม โครเมียม ทองแดง หรือแมงกานีส นี้เองที่ทำให้รัตนชาติเหล่านี้มีสีสันต่างๆ ขึ้นมาและกลายเป็นเรื่องราวหลากหลายที่ผูกโยงเข้ากับความคิดความเชื่อต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน
 
ความนิยมใน Sapphire ซึ่งมีที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Sappheiros และอาจแปลตามตัวอักษรได้ว่า หินสีน้ำเงินนี้ แพร่หลายมาตั้งแต่บรรพกาลและมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งเท่านั้น หากยังขยายแพร่กว้างครอบคลุมอารยธรรมหลากหลายอีกด้วย
 
โดยชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์ คือ “หินที่มาจากฟ้า” เนื่องเพราะพวกเขาเชื่อว่าโลกตั้งอยู่บนฐาน Sapphire ขนาดมหึมา จึงทำให้สะท้อนแสงแดดออกไปสู่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงิน และก่อให้เกิดตำนานและความเชื่อที่ว่า Sapphire เป็นอัญมณีของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภัยอันตราย และทำให้ผู้ที่สวมใส่มีชีวิตที่สดใส และเปี่ยมพลังในการดำรงชีวิต
 
ขณะที่ในภาษาสันสกฤต มีคำเรียกแซฟไฟร์สีน้ำเงินว่า “อินฺทฺรนีล” หมายถึง “สีน้ำเงินเหมือนพระอินทร์” ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของผู้คนในอารยธรรมเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
 
ความโดดเด่นของหินสีน้ำเงิน หรือ Blue Sapphire ซึ่งมีมลทินของเหล็กและไทเทเนียม ที่พบและผลิตได้ในศรีลังกานี้ ถือว่าเป็นอัญมณีที่เชิดหน้าชูตาศรีลังกาไม่น้อย โดยผู้ค้าอัญมณีเรียกขานเป็นการเฉพาะในฐานะ Ceylon Sapphire เพื่อบ่งชี้คุณลักษณะให้เป็นที่ประจักษ์
 
เพราะ Ceylon Sapphire ถือว่ามีอัตลักษณ์ของสภาพสี ความสะอาดใส และประกายแสงแตกต่างจาก Sapphire ที่พบในแหล่งอื่นอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นอัญมณีที่มีสีสันตามธรรมชาติซึ่งไม่ผ่านกระบวนการความร้อนอย่างที่ปรากฏในกระบวนการผลิตของประเทศไทย
 
แต่ใช่ว่าศรีลังกาจะมีดีเฉพาะ Ceylon Sapphire เท่านั้น เพราะในสายแร่รัตนชาติของศรีลังกายังประกอบส่วนอัญมณีอีกหลายชนิด โดยแหล่งแร่รัตนชาติแหล่งใหญ่ของศรีลังกาอยู่ในเขตที่เรียกว่า รัตนปุระ (Ratnapura) หรือเมืองแห่งรัตนชาติ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และเป็นที่ตั้งของเหมืองพลอยจำนวนมากของศรีลังกา
 
แม้ศรีลังกาจะมีความหนาแน่นของสายแร่รัตนชาติในผืนแผ่นดินอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณพื้นที่โดยรวมของประเทศ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชนชาวศรีลังกาจะได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมการค้าอัญมณีจนร่ำรวยกันถ้วนทั่วหรอกนะคะ
 
เพราะในความเป็นจริงอุตสาหกรรมอัญมณีนี้ ได้รับการบุกเบิกมาจากกลุ่มชนชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขายในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7-8 เรื่อยมา และยังสืบทอดมรดกต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
 
กลุ่มชนชาวอาหรับกลุ่มแรกๆ ที่ขึ้นฝั่งศรีลังกาในครั้งนั้น ได้สร้างให้ Beruwala ที่มีความหมายในภาษาสิงหลว่า “สถานที่ของการลดใบเรือลง” ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งเล็กๆ ในกาลก่อน ให้กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี และเป็นชุมชนมุสลิม หรือ Sri Lankan Moors แหล่งใหญ่ของศรีลังกาอีกด้วย
 
การค้าอัญมณีของศรีลังกาในด้านหนึ่งจึงอยู่ในมือของกลุ่มชนชาวมุสลิมไปโดยปริยาย แต่ชาวมุสลิมเหล่านี้ก็ถือสัญชาติและเป็นพลเมืองของศรีลังกามาหลายชั่วอายุคนแล้ว ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีก็ได้รับการคุ้มครองไม่ให้นักธุรกิจต่างชาติหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ๆ เข้ามาแสวงประโยชน์หรือดูดซับสินในผืนดินด้วยการทำเหมืองขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
 
ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการและพิทักษ์ทรัพยากรของศรีลังกาเช่นนี้ ทำให้อัญมณีของศรีลังกาออกสู่ตลาดอย่างจำกัดและกลายเป็นของหายาก จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตอัญมณีโดยเฉพาะ Sapphire คุณภาพดีป้อนความต้องการของตลาดโลก 
 
แต่ผู้ประกอบการจากแหล่งอื่นๆ ก็พยายามรุกเข้าสร้างชื่อในตลาดอัญมณีนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีของ Tanzania ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Sapphire สีอื่นๆ มาอย่างยาวนานที่กำลังหันมาสนใจผลิต blue sapphire มากขึ้น รวมถึง Madagascar ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Sapphire ที่น่าติดตามอีกแห่งของโลก
 
ขณะเดียวกันกระแสธารของการพัฒนาที่กำลังถาโถมเข้าใส่ศรีลังกาในทุกๆ มิติ กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศพยายามแทรกตัวเข้ามามีส่วนและลงทุนเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้น
 
ความเป็นไปของอุตสาหกรรมอัญมณีของศรีลังกา ได้รับการสั่นคลอนครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ประกอบการเหมืองอัญมณีระดับนานาชาติประกาศจะเข้าร่วมลงทุนในศรีลังกา โดยมุ่งหวังที่จะแทรกตัวเข้ามารับสัมปทานเหมืองขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นรวมตัวกันคัดค้าน
 
ข้อกังวลใจของผู้ค้าอัญมณีศรีลังกา ไม่ได้ผูกพันเฉพาะความเสี่ยงต่อการสูญเสียแหล่งแร่รัตนชาติที่สั่งสมมานานนับพันๆ ปี ไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องถึงโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจทั้งในมิติของฝีมือช่าง ความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาจถูกผลักให้ต้องออกจากงาน ด้วยผลของการมาถึงของเครื่องจักรเหมืองแร่ขนาดใหญ่ รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบๆ เหมืองด้วย
 
และที่สำคัญก็คือ การมาถึงของผู้รับสัมปทานขนาดใหญ่ อาจทำให้ศรีลังกาเป็นเพียงแหล่งผลิตอัญมณีทั่วๆ ไป ที่ไม่สามารถคงความมีอัตลักษณ์ หรือแบรนด์สินค้า Ceylon Sapphire ในตลาดโลกอย่างที่เป็นอยู่ หากแต่ถูกกลืนโดยแบรนด์ของผู้รับสัมปทานจนหมดสิ้น
 
นี่อาจเป็นประหนึ่งบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งว่า Ceylon Sapphire เป็นอัญมณีที่สามารถป้องกันภัยอันตราย ทำให้ผู้ที่สวมใส่มีชีวิตที่สดใส และเปี่ยมพลังในการดำรงชีวิต ในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากภายนอกได้มากน้อยเพียงใดนะคะ